‘นิมิตร์ เทียนอุดม’ แนะ กทม. ให้ความสำคัญยกระดับ ‘ศูนย์บริการสาธารณสุข’ 69 แห่ง เทียบเท่าโรงพยาบาลชุมชน มีแพทย์ประจำ เตียง สร้างความเชื่อมั่นประชาชนด้วยการเพิ่มคุณภาพ ‘คลินิกอบอุ่น’ ถามหา นโยบายหาเสียง ‘เพื่อไทย’ เพิ่ม รพ.กทม. 50 เขต 50 รพ. อยู่ตรงไหน ?
นิมิตร์ เทียนอุดม คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สัดส่วนภาคประชาชน ให้สัมภาษณ์ The Active ถึงประเด็น 30 บาทรักษาทุกที่ กทม. ก่อนเริ่มวันแรก 26 ส.ค. นี้ โดยมองว่า “บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่” เป็นแนวคิดที่ดี แต่ กทม. ยังขาดเรื่องความพร้อมด้านศักยภาพและระบบการส่งต่อ และเท่าที่มีการพูดคุยกันในบอร์ด สปสช. พบว่า คน กทม. ที่จะเข้าไปใช้บริการต้องสังเกตสัญลักษณ์ 30 บาทที่ติดอยู่หน้าคลินิก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือเมื่อเข้าไปรับบริการแล้ว หน่วยบริการนั้นให้ไม่ปฏิเสธก็จริง แต่จะรักษาได้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่อีกเรื่อง จึงเกิดเป็นประเด็นที่ว่าการรักษาได้ทุกที่นั้นควรจะจบอย่างไร
“สมมติว่าผมป่วยเข้าไปรับบริการ ใน กทม. เป็นคลินิกอบอุ่น เป็นศูนย์บริการสาธารณสุข หรือ โรงพยาบาลที่เข้าร่วม ก็อาจจะได้รับบริการตามศักยภาพของคลินิก แต่ถ้าป่วยหนักต้องมีการส่งต่อ นี่เป็นภาระหน้าที่ของคลินิกต่อไป แต่ถ้าประชาชนคุ้นชินว่ารักษาได้ทุกที่ เดินไปที่ โรงพยาบาลจุฬาฯ ไปโรงพยาบาลรามาฯ หรือไปโรงพยาบาลใหญ่ เขาก็มีความกังวลว่าหากประชาชนเดินเข้าไปเยอ จะรับมือไม่ไหว จะเบิกค่าใช้จ่ายได้หรือเปล่า ก็เลยยังขอให้มีการส่งตัวอยู่ นี่เป็นข้อจำกัด ต้องรอดูว่า สปสช.จะมีแนวทางอย่างไร หากจะมีประกาศ อยากฝากว่า หากพูดว่ารักษาได้ทุกที่แต่ขอให้เริ่มที่ปฐมภูมิก่อน ก็ต้องพูดให้ชัดว่าปฐมภูมิคือที่ไหนบ้าง และถ้าประชาชนทำตามกติกาแล้ว แต่หน่วยปฐมภูมินั้นไม่สามารถรักษาได้ เพราะอาการป่วยเกินศักยภาพ ก็ต้องวางระบบการส่งต่อให้ประชาชนไม่เดือดร้อน ไม่ต้องถูกถามเรื่องใบส่งตัว”
นิมิตร์ เทียนอุดม
ประสิทธิภาพ อุปสรรคใหญ่ ‘รักษาทุกที่’
นิมิตร์ ระบุด้วยว่า คน กทม. มีปัญหาเรื่องการเข้าไปใช้บริการเนื่องจากจำนวนของหน่วยบริการปฐมภูมิ และรูปแบบหน่วยบริการปฐมภูมิมีปัญหามาโดยตลอด อย่าง ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. ก็มีคำถามว่า เขามีศักยภาพในการที่จะเป็นหน่วยปฐมภูมิได้มากน้อยแค่ไหน เมื่อเปรียบเทียบกับประชาชนที่อยู่ในต่างจังหวัด จะเห็นชัดว่า หน่วยบริการปฐมภูมิของต่างจังหวัดมีลักษณะเป็นเครือข่ายที่เริ่มต้นจาก รพ.สต. ที่เป็นเครือข่ายกับ โรงพยาบาลชุมชนหรือโรงพยาบาลอำเภอ ซึ่งหน่วยปฐมภูมิของต่างจังหวัดมีศักยภาพมากกว่าของ กทม. เนื่องจากโรงพยาบาลชุมชนในต่างจังหวัด มีทั้งการรับผู้ป่วยนอก มีผู้ป่วยใน มีแพทย์ประจำอย่างน้อย 2-3 คนขึ้นไป และศักยภาพเหล่านี้ยังสัมพันธ์กับจำนวนประชากรในพื้นที่ด้วย
เพราะเมื่อประชากรมีจำนวนมาก กระทรวงสาธารณสุขก็จะขยายโรงพยาบาลชุมชนให้ใหญ่ขึ้น จะเห็นว่ามีตั้งแต่โรงพยาบาลขนาด 60 เตียง 120 เตียง 180 เตียง เรียกได้ว่ามีเกือบทุกแผนกที่จำเป็นในการดูแลประชาชน มีห้องตรวจที่มากพอ มีวอร์ดฉุกเฉิน ที่รองรับความเจ็บป่วยฉุกเฉิน ผู้ป่วยในก็จะมีตั้งแต่ห้องคลอด ห้องผ่าตัด มีบริการให้คำปรึกษาด้านต่าง ๆ โรคเฉพาะทาง คลินิกเอชไอวี เรื่องเพศสัมพันธ์ เรื่องจิตเวช เรื่องเหล่านี้หน่วยบริการปฐมภูมิของหลายจังหวัดมี
“แต่พอย้อนกลับมาดูหน่วยปฐมภูมิใน กทม. เรามีศูนย์บริการสาธารณสุข ซึ่งมีข้อจำกัดตั้งแต่ บุคลากร ระยะ เวลาการให้บริการ และรับเฉพาะผู้ป่วยนอก ไม่มีห้องฉุกเฉิน ทำให้เมื่อคน กทม. ป่วย ไม่มีที่ไปในการรักษา พอมีนโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่ กทม. ไม่มีที่ให้ไป”
นิมิตร์ เทียนอุดม
นิมิตร์ ยังระบุถึงกรณีที่ผู้ว่าฯ กทม. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ บอกว่า จะเพิ่มงบประมาณ “ด้านสาธารณสุข” จะมีการพัฒนาหน่วยบริการปฐมภูมินั้น จะต้องตอบโจทย์เหล่านี้ให้ครบด้วยว่า จะทำอย่างไร และ ประเด็นใหญ่ของ กทม. ที่ไม่สามารถขยับไปไหนได้ คือการที่ไม่สามารถขยายหรือผลักดันให้ศูนย์บริการสาธารณสุขกลายเป็นโรงพยาบาลประจำเขต ด้วยข้ออ้างอัตรากำลังคน งบประมาณ อาจทำให้งบงบในการบริหารเยอะขึ้น แต่จริง ๆ แล้ว ภาครัฐมีหน้าที่ควรจะทำอย่างไรก็ได้ เพื่อแก้ปัญหาเรื่องการเข้าถึงหน่วยบริการปฐมภูมิใน กทม. เพราะปัญหานี้ไม่ไปไหนมาหลายสมัยแล้ว
“ส่วนวิธีแก้ปัญหาอีกอย่าง คือ การไปเชิญคลินิกมาเป็นคลินิกอบอุ่นมาเป็นหน่วยปฐมภูมิ ก็เจอปัญหาระบบการเงิน จะจ่ายแบบไหน แบ่งการจัดสรรกับศูนย์บริการสาธารณสุขอย่างไร จะใช้วิธีเหมาจ่ายได้หรือไม่ ไปที่คลินิกได้แค่แล้ว ถ้าคลินิกรักษาไม่ได้ต้องส่งต่อ ใครจะเป็นคนตามจ่ายค่ารักษาพยาบาลจากการส่งต่อ เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ยุ่งเหยิง และผลกรรมตกไปอยู่ที่ประชาชน กทม. ที่คลินิกต้องตามจ่าย ประชาชนมีปัญหาเรื่องใบส่งต่อ”
นิมิตร์ เทียนอุดม
สปสช. – กทม. – สธ. ต้องร่วมมือกัน ปลดล็อกกฎหมายเพื่อประชาชน
นิมิตร์ ยังเห็นว่า กระทรวงสาธารณสุข อ้างว่าไม่สามารถเข้ามาบริหารจัดการ กทม. ได้ เพราะ กทม. เป็นรูปแบบการปกครองพิเศษ จึงตั้งคำถามกลับไปว่า รูปแบบพิเศษแต่ทำให้ประชาชนได้รับบริการที่แย่กว่าต่างจังหวัดก็อาจจะต้องทบทวน เพราะฉะนั้นการแก้กฎหมายเรื่องแบบนี้ใน กทม. มีความจำเป็น
“สิ่งที่อยากฝากถึงผู้บริหาร กทม. คือ อยากเห็นความชัดเจนที่ว่าจะเพิ่มงบประมาณในการแก้ปัญหาปฐมภูมิคืออะไร จะทำให้ศูนย์บริการสาธารณสุขที่มีอยู่กลายเป็นโรงพยาบาลได้ไหม จะทำให้ศูนย์บริการสาธารณสุขขยายขีดความสามารถและให้บริการได้มากขึ้น ตรงไหนที่พร้อมจะยกระดับขึ้นเป็นโรงพยาบาลก็ให้ขึ้น และตรงไหนที่ยังยังไม่พร้อมจะทำอย่างไรให้มีความพร้อมที่จะให้บริการ และสร้างเครือข่ายร่วมกับคลินิกอบอุ่นที่อยู่ในเขต อยากเห็นการใช้งบประมาณเข้าไปสนับสนุนเรื่องนี้”
นิมิตร์ เทียนอุดม
ข้อเสนอร่วมจ่าย ‘เหลื่อมล้ำ’ ทำให้ไม่อยากรักษา
ส่วนการมีข้อเสนอให้ประชาชนร่วมจ่ายอันดับแรก นิมิตร์ มองว่า ประชาชนมีข้อจำกัดในการร่วมร่วมใจด้วยสภาพเศรษฐกิจตอนนี้ไม่ดี ตกงานเยอะคนที่เคยมีงานทำแล้วตกงาน หลังผ่านเวลา 6 เดือน ต้องกลับมาใช้สิทธิ์บัตรทอง และถ้าให้เขากลับไปร่วมจ่ายในภาวะแบบนี้ แม้ว่าจะมีงานทำก็คงจ่ายลำบาก เพราะไม่รู้ว่าต้องจ่ายเท่าไหร่ และยังทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ
“หากคุณบังคับให้มีการร่วมจ่ายจริง ถ้าเป็นผมป่วยแล้วประเมินตัวเองว่าผมไม่มีเงินร่วมจ่ายหรอก ผมก็อาจจะไม่ไปหาหมอ พอเป็นแบบนี้ หายก็ไม่หาย อาจจะป่วยหนักมากขึ้นเรื่อย ๆ อาจจะเสียชีวิตก็ได้ หรืออาจจะยิ่งป่วยหนักจนทนไม่ไหวจริงๆ ถึงจะไป การรักษาก็จะยากขึ้น ค่ารักษาก็อาจจะแพงขึ้นก็ได้ เพราะฉะนั้นเราไม่ควรจะผลักภาระส่วนนี้ไปให้กับประชาชน”
นิมิตร์ เทียนอุดม
นอกจากนี้ประชาชนยังมีภาระเรื่องค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เพื่อที่จะไปโรงพยาบาลใหญ่ ในการรักษาต่อเนื่อง โดยเฉพาะคนที่อยู่ในภาวะเจ็บป่วย การเดินทางลดสาธารณะ รถเมล์ หรือต้องเดินทางแต่เช้ามืดเพื่อไปเอาคิว ทำให้ต้นทุนของประชาชนในการไปรักษาพยาบาล ไม่ใช่แค่เรื่องเงินเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงเรื่องเวลาอีกด้วย หรือหากกรณีต้องมีคนพาไป ก็จะขาดรายได้ เพราะฉะนั้นต้นทุนในการเข้าถึงบริการ สูงมากอยู่แล้ว แต่การจะเพิ่มความเหลื่อมล้ำเหล่านี้ด้วยการเก็บส่วนต่างอีก อันนี้เป็นปัญหา
นิมิตร์ ทิ้งท้ายว่า การยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. อาจเป็นไปไม่ได้เพราะติดขัดข้อกฎหมายหลายอย่างรวมทั้งงบประมาณ แต่อยากสอบถามไปถึง นโยบายของรัฐบาลที่เคยประกาศนโยบาย 30 บาทพลัส ซึ่งเป็นนโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทย ที่ต้องการยกระดับใน 13 เรื่อง และหนึ่งในนั้นคือเพิ่มการเข้าถึงบริการในเขตเมือง ให้มีโรงพยาบาล กทม. 50 เขต 50 โรงพยาบาล ตอนนี้ ทำหรือยังและ ทำไปถึงไหนแล้ว