“หมอซินเทีย” เดินหน้าขอสัญชาติไทย​ หวังลดอุปสรรคช่วยเหลือผู้อพยพ

เจ้าของรางวัลแมกไซไซผู้ก่อตั้งแม่ตาวคลินิก​ รองรับผู้อพยพลี้ภัยการสู้รบฝั่งเมียนมา มากกว่า​ 29​ ปี​  ระบุสถานการณ์​สู้รบ​ดันยอดผู้ป่วยบาดเจ็บ​สูงขึ้น​ งบฯ คลินิกเริ่มร่อยหรอต้องค้างจ่ายเงินเดือนหมอ​ ด้าน “ครูแดง”​ ชี้เป็นผู้​​ช่วยพยุงระบบสาธารณสุข​ชายแดน​ เร่งประสานหน่วยงานช่วยแปลงสัญชาติโดยเร็ว​ 

แพทย์หญิงซินเทียค่า ผู้ก่อตั้งแม่ตาวคลินิก อ.แม่สอด จ.ตาก

เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม​ 2565​ ที่ผ่านมา แพทย์หญิงซินเทีย​ค่า  หรือ หมอซินเทีย ผู้ก่อตั้งแม่ตาวคลินิก​ เปิดเผยกับ The Active ว่ามีความต้องการจะขอสัญชาติไทย​ หลังจากที่เปิดแม่ตาวคลินิกรับรักษาผู้อพยพลี้ภัยจากประเทศเมียนมาในประเทศไทย​ ที่ อ.แม่สอด​ จ.ตาก​ มาถึง 29 ปี โดยหากได้สัญชาติไทยก็จะทำให้การช่วยเหลือผู้ไม่มีสถานะและผู้อพยพสะดวกมากขึ้นเพราะปัจจุบันการเป็นคนไร้สัญชาติของเธอ ทำให้ติดกรอบการเดินทางออกนอกพื้นที่​ การประสานกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่อยู่ในต่างประเทศ​ ต้องทำหนังสือและมีขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อน​ นอกจากนี้เมื่อได้สัญชาติไทยก็อยากจะรับบุตรบุญธรรมเพิ่มอีก 2 คน

โดยเบื้องต้นในเอกสารจากกระทรวงมหาดไทยให้ ซินเทียค่า​ ดำเนินการ 3 ข้อคือ 1. ขอรับใบสำคัญถิ่นที่อยู่ที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองในพื้นที่ 2. ขอรับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวที่สถานีตำรวจในท้องที่​ และ 3. ติดต่อ สำนักทะเบียนที่มีภูมิลำเนาเพื่อดำเนินการแก้ไขรายการทะเบียนราษฎร

เตือนใจ ดีเทศน์ (ครูแดง) พบกับ แพทย์หญิงซินเทียค่า พูดคุยเพื่อเดินหน้าการขอแปลงสัญชาติไทย

 ด้าน​ เตือนใจ ดีเทศน์  กรรมการผู้ก่อตั้งมูลนิธิพัฒนา​ชุมชน​และเขตภูเขา​ (พชภ.) ยื่นมือเข้ามาช่วยขอสัญชาติให้กับ​ แพทย์หญิงซินเทียค่า​ บอกว่ากรณีนี้สามารถแปลงสัญชาติไทยในฐานะผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ ซึ่งจะเป็นขั้นตอนที่รวดเร็วกว่าการขอแปลงสัญชาติทั่วไป​ โดยเล็งเห็นว่าแพทย์หญิงซินเทียค่า นอกจากจะได้รับรางวัลแมกไซไซ​ ด้านผู้นำชุมชนดีเด่น จากการทำงานในการช่วยดูแลรักษาโรคแก่ผู้อพยพชนกลุ่มน้อยตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา​ เสมือนหนึ่งรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพของเอเชียแล้ว ปัจจุบันยังมีส่วนช่วยสำคัญในการพยุงระบบสาธารณสุขตามแนวชายแดนให้เดินต่อไปได้นอกจากโรงพยาบาลของรัฐในพื้นที่ ประกอบกับสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่ต้องรับผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก และมีเหตุการณ์สู้รบตามแนวชายแดน​ ซึ่งต้องเป็นสถานพยาบาลในการรองรับผู้เจ็บป่วยลี้ภัย​ หญิงตั้งครรภ์ที่เข้ามาอยู่ในสถานที่แห่งนี้ ซึ่งหากแพทย์หญิงซินเทียได้รับสัญชาติไทย​ ก็จะเป็นกลไกสำคัญในการทำงานร่วมกับภาครัฐด้านความมั่นคงตามแนวชายแดนในทุกมิติ โดยมูลนิธิ พชภ. ก็จะเข้ามาช่วยดำเนินการขอแปลงสัญชาติไทยโดยจะหาบุคคล​ที่มีความน่าเชื่อถือ​ที่ใกล้ชิด​ เขียนหนังสือรับรองการทำคุณประโยชน์​แก่ประเทศชาติ​ ซึ่งเบื้องต้นจะติดต่อ​ นพ.วิชัย​ โชควิวัฒน์​ หนึ่งในกรรมการมูลนิธิ​สุวรรณ​นิมิต​ ซึ่ง แพทย์ซินเทียค่า ก็ทำงานร่วมอยู่ในมูลนิธิดังกล่าวด้วย

อัปเดท​ สถานการณ์​ระบบสุขภาพตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา​

The​ Active​ ไม่พลาดที่จะถามถึง​ สถานการณ์​สุขภาพ​ตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา​ โดย​ แพทย์หญิงซินเทียค่า​ ยอมรับว่าสถานการณ์เลวร้ายลงหลังจากเกิดหลังรัฐประหารในเมียนมาจนเกิดการสู้รบ​ เฉลี่ยแต่ละเดือนจะมีผู้ที่อพยพเข้ามารับการรักษา 10-15 คนจำนวนนี้สัดส่วน 80% ได้รับบาดเจ็บและอีก 20% เป็นหญิงตั้งครรภ์กลุ่มที่น่าเป็นห่วงที่สุดที่ถูกส่งต่อมาก็คือกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ ที่ต้องเข้ามาคลอดในประเทศไทย​ เพราะในเมียนมาไม่ปลอดภัย

เธอบอกว่า ที่แม่ตาวคลินิกนั้น​ ทำคลอดเด็กเกิดใหม่จำนวน 1,500 คนต่อปี​ นอกจากนี้ต่อวันยังมีกลุ่มผู้ป่วยนอกเดินทางมารับรักษาเฉลี่ยวันละ 150 -​ 200 คนโดยพวกเขาต่างเป็นชาวเมียนมา​ที่ยากจนมารักษาที่นี่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย​ ส่วนใหญ่เป็นไข้มาลาเรีย​ ฝากครรภ์​ และโรคระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ​ 

ที่นี่มีเตียงผู้ป่วยใน 120 เตียงมีหมอ 8 คนและพยาบาลอีก 40 คน  โดยปัจจุบันตนทำงานด้านสาธารณสุขรับรักษาคนอย่างเดียวไม่พอ​ การรับผู้ลี้ภัยเข้ามาต้องทำงานหลายด้านรวมไปถึงด้านการศึกษาและคุณภาพชีวิต​ โดยพยายามฝึกบุคลากรที่เป็นผู้อพยพลี้ภัยให้มีองค์ความรู้ด้านสุขภาพเพื่อช่วยงานในคลินิก​ ขณะเดียวกันจำนวนของผู้ป่วยที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นก็ทำให้เงินทุนของแม่ตาวคลินิกร่อยหรอ แพทย์ที่จ้างเข้ามาต้องยอมเสียสละ บางเดือนได้เงินเดือนไม่ครบ 100% จ่ายให้ได้แค่​ 60-80%

แพทย์หญิงซินเทียค่า​ บอกอีกว่า​ ในสถานการณ์เช่นนี้ อยากเห็นระบบสุขภาพ​ปฐมภูมิแนวชายแดน​ มีการบูรณาการของหน่วยงานหลายภาคส่วนเพราะมันไม่ใช่เพียงแค่ปัญหาสุขภาพ แต่ยังมีเรื่องเด็กเกิดใหม่​ เรื่องการศึกษา เรื่องคุณภาพชีวิตของแม่และเด็กที่ตามมาอย่าง ซึ่งทุกเรื่องล้วนเชื่อมโยงถึงกัน ระบบสุขภาพไม่สามารถจะแยกส่วนจากการศึกษาและการพัฒนาคุณภาพชีวิตได้ ยอมรับว่าขณะนี้หากมีความช่วยเหลือจากช่องทางใดพร้อมรับเสมอ

ทีมข่าว The Active Thai PBS พร้อมกับครูแดง ถ่ายรูปกับแพทย์ซินเทียนค่า และเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิสุวรรณนิมิต เป็นที่ระลึก

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active