สส.ก้าวไกล อภิปราย งบฯ 67 ตั้งคำถามถึง งบฯ สุขภาพจิตน้อย บุคลากรขาดแคลน ด้านกลุ่มเพื่อนผู้ป่วยซึมเศร้า ชื่นชมและให้กำลังใจ ถือเป็นประวัติศาสตร์การพูดเรื่องโรคซึมเศร้าในสภาฯ เผยกังวลการสำรวจข้อมูลผู้ป่วยซึมเศร้าของกระทรวงสาธารณสุข ที่ไม่นับรวม “เด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 15 ปี” แนะ สำรวจข้อมูลให้ครอบคลุม
วันนี้ (6 ม.ค. 67) ฐิตินบ โกมลนิมิ ตัวแทนกลุ่มเพื่อนผู้ป่วยซึมเศร้า แสดงความเห็นผ่าน เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุถึงกรณี สิริลภัส กองตระการ สส.พรรคก้าวไกล ที่ได้อภิปราย ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ว่า แม้จะไม่ได้รู้จักเป็นการส่วนตัว แต่ขอชื่นชมในความกล้าหาญ ที่เปิดตัวว่าเป็นอดีตผู้ป่วยซึมเศร้า ลุกขึ้นมาใช้ประสบการณ์ตนเองในการอภิปรายงบฯ ด้านสุขภาพจิตเพื่อผู้ป่วยซึมเศร้า โรคจิตเวชและยาเสพติด ซึ่งน่าจะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่มีการพูดถึงกลุ่มคนเปราะบางนี้ในสภาผู้แทนราษฎรอย่างมีพลัง และเป็นการเปิดพื้นที่ทางสังคมให้ได้เรียนรู้และเข้าใจผู้ป่วยซึมเศร้ามากขึ้น
ฐิตินบ แสดงความเป็นห่วงว่า สิริลภัส หลังจากนี้อาจจะได้รับผลกระทบจากความเจ็บป่วย เพราะสังคมยังไม่เปิดกว้างทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้ และโครงสร้างทางความรู้สึกของสังคมก็ไม่มีพื้นที่ยืนให้กับกลุ่มผู้ป่วยจิตเวชเท่าใดนัก คนจึงมีมายาคติว่าผู้ป่วยซึมเศร้าสำออย แกล้งป่วย เพี้ยน ไม่น่าไว้วางใจ ฯลฯ ทำให้ไม่กล้าเปิดตัวต่อสังคมและหากยิ่งเปิดตัวก็จะไม่สามารถทำประกันสุขภาพเอกชนได้ เป็นสาเหตุใหญ่ที่ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งไม่เข้ารับการรักษา
พร้อมนำเสนอข้อมูลส่วนหนึ่งของการวิจัย “สุขภาพจิตไม่ใช่เรื่องส่วนตัว ข้อเสนอและนโยบายสาธารณะเพื่อผู้ป่วยซึมเศร้า” ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ว่า ตัวเลขผู้ป่วยซึมเศร้าของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขทุกปีมักระบุ คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า 1.5 ล้านคน ส่งผลให้คนไทยกว่า 70% เสียชีวิตก่อนวัยอันควร ส่วนใหญ่เริ่มมีอาการชัดเจนในช่วงอายุ 25 ปี มีข้อสังเกตว่า ตัวเลขดังกล่าว ‘ไม่ได้รวม’ เด็กและเยาวชนต่ำกว่า 15 ปีไว้ เพราะการออกแบบฐานข้อมูลทำโดยจิตเวชผู้ใหญ่ และการสำรวจนั้นเป็นการ “ฝากสำรวจ” ไปกับโรคอื่น ๆ ของสำนักงานสถิติแห่งชาติทุก ๆ 5 ปี หลายครั้งเราจึงคว้ามือเด็กและเยาวชนที่ฆ่าตัวตายไม่ทัน
“สาเหตุที่ผู้ป่วยไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้มีหลายปัจจัย เช่น ยากลำบากในการเข้าถึงบริการของรัฐเพราะขั้นตอนซับซ้อน ถูกส่งต่อไปสู่โรงพยาบาลเฉพาะทาง โรงพยาบาลรัฐบางแห่งขาดแคลนบุคลากรด้านจิตเวช การรอคิวพบจิตแพทย์นาน ค่ายาแพง การรักษาไม่ต่อเนื่อง จึงกลับมาเป็นซ้ำและกลายเป็นโรคเรื้อรัง ทั้งขาดการบำบัดทางจิต พฤติกรรม และสังคมร่วมด้วย เป็นต้น การขาดแคลนจิตแพทย์เป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุอย่างสำคัญ”
ฐิตินบ โกมลนิมิ
สำหรับประเด็นที่ สิริลภัส สส.พรรคก้าวไกล อภิปรายเมื่อวันที่ 5 ม.ค. ถึงงบประมาณในสัดส่วนกระทรวงสาธารณสุข ว่า นโยบายที่พรรคเพื่อไทยหาเสียง โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เสนอประเด็นสุขภาพจิตและยาเสพติดให้เป็นนโยบายสำคัญ 1 ใน 13 นโยบาย ยกระดับ 30 บาทพลัส แต่ในรายละเอียดงบประมาณได้ให้น้ำหนักไปที่อาการของผู้ป่วยจิตเวชจากยาเสพติด มากกว่าปัญหาสุขภาพจิตปกติ
สิริลภัส กล่าวเปรียบเทียบจำนวนผู้ป่วยสุขภาพจิตที่เกิดจากยาเสพติดกับผู้ป่วยสุขภาพจิตประเภทอื่นว่า ผู้ป่วยสุขภาพจิตที่เกิดจากยาเสพติดมีประมาณ 2 แสนคน ขณะที่ผู้ป่วยสุขภาพจิตประเภทอื่น มีประมาณ 1 ล้านกว่าคน แตกต่างกันกว่า 5 เท่า โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่มีถึง 3.6 แสนคน โดยย้ำว่าปัญหาผู้ป่วยจิตเวชอื่น ๆ อยู่ใกล้ตัวกว่าที่คิด เหตุการณ์ความรุนแรงที่ก่อความสูญเสียนับครั้งไม่ถ้วน สาเหตุเกิดมาจากผู้ป่วยจิตเวชมีอาการขาดยา อาจเพราะในครอบครัวไม่มีคนคอยกำชับ ดูแล กินยาให้ตรงตามกำหนดส่งผลให้อาการกำเริบและก่อความรุนแรงขึ้นได้
โดยอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จในประเทศไทยในปี 65 อยู่ที่ 7.97 คนต่อประชากร 1 แสนคน ในทุกวันจะมีคนฆ่าตัวตายสำเร็จ 14 คน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี กลุ่มที่น่ากังวลใจที่สุดคือกลุ่มอายุวัยรุ่น นักศึกษา วัยทำงาน ที่เขาจะเติบโตมาเป็นบุคลากรของประเทศ จากเอกสารของกรมสุขภาพจิต หัวข้อปัญหาการฆ่าตัวตาย ได้ให้ข้อมูลถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าตัวตายไว้ว่า ผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จประมาณ 9 ใน 10 มีอาการป่วยทางจิตเวช อย่างใดอย่างหนึ่ง ขณะทำการฆ่าตัวตายและสาเหตุสำคัญมาจากภาวะซึมเศร้าและการติดสุรา
อีกทั้งการเข้าถึงบริการสาธารณสุขนั้นยังค่อนข้างจำกัด ขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ ในบ้านเรา หากลองไปเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน พบว่ามีจิตแพทย์มากกว่าบ้านเรา นอกจากนี้ในต่างจังหวัดยังพบว่ามีจิตแพทย์ไม่ถึง 1 คนต่อประชากร 1 แสนคน นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องบุคลากรสุขภาพจิตในกลุ่มที่เป็นเด็กและวัยรุ่นที่มีเพียงแค่ 295 คนทั่วประเทศ มี 23 จังหวัด ไม่มีจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
“พยาบาลจิตเวชไม่อยากทำงานจิตเวชต่อไป เพราะปัญหาการทำงานที่หนัก รวมถึงสิทธิของพยาบาลที่ไม่ดีพอ พร้อมย้ำว่าการจัดสรรงบประมาณให้กรมสุขภาพจิต ซึ่งได้แค่ 1.8% จากงบของกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น โดนตัดออกไปถึง 69.4% นอกจากนี้ เงินอุดหนุนรายโครงการที่ดูแลสุขภาพจิตวัยรุ่นและวัยทำงานก็มีน้อย เทียบกับโครงการดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่มาจากยาเสพติดโครงการเดียว ได้งบประมาณถึง 1 ล้านบาท รัฐบาลต้องกลับไปทบทวนการจัดสรรความคุ้มค่า ค่าตอบแทนที่จะสร้างแรงจูงใจให้กับเจ้าหน้าที่จิตเวชได้ทำงานต่อไป ตอบโจทย์สิ่งที่เกิดขึ้นจริง เพิ่มบุคลากรด่านหน้า สร้างแรงจูงใจ เพิ่มสิทธิประโยชน์ในการรักษา และเพิ่มบัญชียาหลัก”
สิริลภัส กองตระการ
“ชลน่าน” ยัน ความสำคัญจิตเวช เตรียมขึ้นบัญชียาหลัก
ด้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข ได้ชี้แจง ถึงงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุข 3 แสนกว่าล้านบาท ว่า มี 16 หน่วยรับงบประมาณ มีเงินเพิ่มขึ้น 2 หมื่นกว่าล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นในส่วนของค่าป่วยการของ อสม.จากเดิมที่ได้เดือนละ 1 พันบาทเป็น 2 พันบาท ซึ่งการจัดสรรงบสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในมิติการดูแลสุขภาพ เพื่อสุขภาวะที่ดีของประชาชน งบฯ ที่เพิ่มขึ้นในปีงบประมาณ 67 สอดรับกับนโยบายใหม่ 13 ประเด็น 10 Quick Win ที่จัดสรรงบฯ รองรับ 6,200 กว่าล้านบาท และบางนโยบายสามารถใช้เงินไปพลางก่อนจากแผนงานเดิมของงบฯ ปี 66
นพ.ชลน่าน ชี้แจงว่า ยังมีโอกาสในวาระ 2 ที่จะช่วยกันเติมเต็มเพื่อประโยชน์ของประชาชน ยอมรับว่า กระทรวงสาธารณสุข “ได้เงินลดลงและลดลงทุกปี” ซึ่งสัดส่วนที่ลดลงก็กระทบกับการจัดการบริการดูแลประชาชนพอสมควร แต่กระทรวงสาธารณสุขยังสามารถใช้เงินนอกงบประมาณได้บางส่วน ส่วนเรื่องการแก้ไขยาเสพติดและจิตเวชนั้น ต้องขอบคุณที่ให้ข้อมูลซึ่งเป็นประโยชน์ยิ่ง เพราะเห็นว่าเป็นงานสำคัญระดับชาติ เป็นแนวโน้มใหม่ที่เยาวชนได้รับผลกระทบ อย่างเช่น จากเหตุการณ์กราดยิงในห้างสรรพสินค้า จึงถือเป็นนโยบายเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 100 วัน ส่วนเรื่องยาเสพติด นายกฯ ให้ความสำคัญเป็นวาระแห่งชาติ เร่งรัดให้ดำเนินการแก้ปัญหาให้เห็นผลภายใน 1 ปี
“ส่วนข้อกังวลเกี่ยวกับเรื่องยาของกลุ่มจิตเวชนั้นมีปัญหาจริง ๆ ผมยอมรับ ได้รับเรื่องและจะเริ่มดำเนินการให้ โดยยาที่จำเป็นเราจะผลักดันเข้าสู่กรรมการยาแห่งชาติ เพื่อให้กรรมการฯ พิจารณาเป็นยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อให้เป็นสิทธิประโยชน์ในการเบิกจ่าย แต่ช่วงที่ต้อรอ ผมได้กำชับให้ผู้เกี่ยวข้องใช้กลไกบริหารจัดการ แม้เข็มละ 5 พันบาทเราก็ยอมที่จะใช้กลไกการบริหารจัดการเพื่อให้ยากับผู้ที่ปฏิเสธกินยา เพื่อให้เขาไม่มีอาการที่เป็นอันตรายต่อสังคม ซึ่งเราให้ความสำคัญเช่นกัน”
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว