คกก.อำนวยการขับเคลื่อนนโยบายสุขภาพดีวิถีใหม่ฯ เตรียมเสนอหลัก“3ส.3อ.1น.” ช่วยลดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ผลักดันสู่นโยบายชาติ หลังผลการใช้ในผู้ป่วยเบาหวาน 45 คน พบลดยาได้ 66% หยุดยาได้ 33 %
วันนี้ (23 เม.ย. 2566) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนนโยบายสุขภาพดีวิถีใหม่ วิถีธรรม วิถีไทย วิถีเศรษฐกิจพอเพียง เห็นตรงกันว่าโรคไม่ติดต่อเรื้องรัง (NCDs) เป็นปัญหาสำคัญของระบบสาธารณสุขและเป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ ของการเสียชีวิตของคนไทย
ข้อมูลจากกองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค ปี 2564 มีผู้เสียชีวิตจากโรคเบาหวาน 16,008 ราย และจากโรคความดันโลหิตสูง 9,444 ราย ซึ่งกลุ่มโรคนี้ส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมการดำเนินชีวิต ที่ประชุมฯ จึงมีมติให้ใช้หลัก “3ส.3อ.1น.” คือ 3 ส. : สวดมนต์, สมาธิ, สนทนาธรรม 3อ. : อาหาร, ออกกำลังกาย, อารมณ์ และ 1 น. : นาฬิกาชีวิต ซึ่งเป็นการนำหลักทำงานของอวัยวะภายในร่างกาย บูรณาการร่วมกับหลักศาสนา หลักการแพทย์แผนปัจจุบัน หลักการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ภูมิปัญญาและวิถีความเป็นไทย ในการปรับแก้พฤติกรรมสุขภาพ ส่งผลต่อการป้องกันและควบคุมโรค NCDs
โดยตั้งเป้าลดจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ ลดภาวะแทรกซ้อน ผู้ป่วยมีความสุขในการดำเนินชีวิต ลดความแออัดของโรงพยาบาล และลดค่าใช้จ่ายในการรักษาทั้งระดับบุคคล ชุมชน และประเทศ โดยจะผลักดันเข้าสู่แผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) ของกระทรวง ในสาขาระบบบริการปฐมภูมิและสุขภาพอำเภอ และนโยบายชาติเพื่อให้มีการขยายผลการปฏิบัติให้ครอบคลุม
นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาแอปพลิเคชัน “ไทยสุข” เพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับให้คำแนะนำการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ลดป่วยลดเสี่ยง NCDs ผ่านการบันทึกกิจวัตรประจำวันตามนาฬิกาชีวิต เช่น การดื่มน้ำ การรับประทานอาหาร การนอนหลับ การออกกำลังกายและค่าการตรวจคัดกรองสุขภาพต่าง ๆ รวมถึงการประเมินและติดตามผลซึ่งจะช่วยเพิ่มการเข้าถึงการดูแลสุขภาพในทุกกลุ่มวัยมากขึ้น
ทั้งนี้ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชกระนวน จังหวัดขอนแก่น ได้นำหลัก 3ส. 3อ. 1น. มาอบรมและฝึกปฏิบัติในผู้ป่วยเบาหวาน 45 คน มีการติดตามและให้คำแนะนำทางไลน์เป็นระยะโดยมีพี่เลี้ยง ได้แก่ อสม. และเจ้าหน้าที่ ร่วมกับการเฝ้าระวังระดับน้ำตาล สัปดาห์ละ 2 ครั้ง ใช้เวลา 3 – 6 เดือน พบว่าผู้ป่วยทุกคนน้ำหนักตัวและรอบเอวลดลง (มากที่สุด 27 กิโลกรัม น้อยที่สุด 3 กิโลกรัม) ลดยาเบาหวานได้ 30 คน คิดเป็น 66.6% เข้าสู่ภาวะเบาหวานสงบ (DM Remission) หยุดยาได้ 15 คน คิดเป็น 33.3%