ผอ.โรงพยาบาลด่านมะขามเตี้ย ย้ำหมอไม่ขาด เผยตัวเลขเงินเดือนหมอจบใหม่“รัฐกับเอกชน” ต่างกันชัด เชื่อเงินช่วยให้หมออยู่ในระบบได้ ขณะที่ สธ.วางแผนเพิ่มแพทย์เฉพาะทางในโรงพยาบาลชุมชน
24 มิ.ย.2566 ที่องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย(Thai PBS) จัดวงเสวนา #ฟังเสียงประเทศไทย : อาชีพหมอ จุดเจ็บปวดของระบบสาธารณสุขไทย โดย นพ.ณัฐ ศิริรัตน์บุญขจร สมาชิกสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน สะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นหน้างานหมอทำงานเกิน 80 – 100 ชั่วโมง/สัปดาห์เป็นจุดเริ่มต้นของการรวมตัวกันเป็นสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน ห่วงผลกระทบในศักยภาพการรักษาคนไข้ที่อาจต้องมีความเสี่ยงเพราะพักผ่อนไม่เพียงพอ
นพ.ประวัติ กิจธรรมกูลนิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี ยอมรับว่าวิกฤตแพทย์ ถึงเวลาสุกงอม เหมือนฝีแตก ตัวเลขสัดส่วนแพทย์ สธ. ต่อประชากรภาพรวม 1:2,000 คนแต่ในบางอำเภอของ จ.กาญจนบุรีมีสัดส่วนแพทย์ต่อประชากร 1:10,000 คนซึ่งมากกว่าหลายเท่า ทั้งโรงพยาบาลมีหมอ 2 คน จะมีคนที่ทนอยู่ในระบบได้
ด้าน พญ.พิมพ์เพชร สุขุมาลไพบูลย์ ผอ.สำนักงานบริหารโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท กล่าวว่าในระบบสาธารณสุขไทย มีผู้ให้บริการมีผู้เล่นใหญ่คือโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข คณะแพทย์ และเอกชน ในส่วน สธ.มีความขาดแคลนอยู่ ในภาพใหญ่ เพราะเกิดจากการกระจายไม่เหมาะสมอย่าง 1 อำเภอมีหมอ 3 คนดูแลคน 10,000 คน หรือ จ.บึงกาฬสัดส่วนแพทย์ต่อประชากร 1:4,000 คน ขณะที่ จ.เชียงใหม่มีผู้เล่นหลายส่วน ก็ทำให้สัดส่วนแพทย์ได้ตามมาตรฐาน
แพทย์ intern มีปัญหากับวัฒนธรรมองค์กรแบบเก่า
นพ.ประวัติ บอกว่ากรณีเกิดปัญหาระหว่างอาจารย์แพทย์ หรือ staff กับ หมอใหม่ intern เกิดขึ้นจริง เอาเปรียบการทำงาน ทำให้เด็กรุ่นใหม่รับไม่ได้กับสิ่งนี้ถ้าหมอใหม่ออก คนที่เหลือก็ลำบาก การคงให้หมอจบใหม่ยังอยู่ในระบบก็ต้องปรับเรื่องการสอน การบูลลี่ กระทรวงสาธารณสุขเองก็เพิ่งตื่น หลังจากเกิดเป็นกระแสข่าว
นพ.ณัฐ บอกถึงประสบการณ์ของหมอจบใหม่บางส่วนว่าหากเจอเคสยากต้องโทรมาหาอาจารย์ แต่ก็โดนด่ากลับว่าเรียนจบมาได้อย่างไร ส่งผลให้เกิดภาวะกัดกร่อนจิตใจ ทั้งยังมีความไม่เป็นธรรม ชื่ออยู่เวรในโรงพยาบาล แต่ตัวอยู่คลินิก และบอกให้หมอจบใหม่เปิดยูทูปเอา
“ถ้าหมอเฉพาะทาง ไม่ให้คำแนะนำ หมอจบใหม่ เพราะเค้าโกรธ ก็จบ คนไข้ก็ตายต่อหน้า สะท้อนเรื่องของอำนาจฝังอยู่ ในระบบ เราต้องการอาจารย์เฉพาะทางคอยให้คำปรึกษา มันยากหากจะร้องเรียน อยากให้มีช่องการร้องเรียน และปกปิดผู้ร้องเรียนด้วย”
นพ.ณัฐ บอกอีกว่าในบริบทของหมอจบใหม่ต้องการใบเพิ่มพูนทักษะต้องทำงานให้ครบ 1 ปี จะได้ใบรับรองนี้ไปเรียนต่อเฉพาะทาง โดยมีอาจารย์ staff เป็นผู้ประเมินและให้การรับรอง หากมีคนลุกขึ้นไปร้องเรียน แล้วไม่มีคนปกป้อง เราก็อาจจะไม่ผ่านการประเมิน
ขณะที่ นพ.ประวัติ มองว่าปัญหานี้สามารถจัดการในองค์กรได้ ไม่ต้องไปถึงแพทยสภา ตามระเบียบราชการ ต้องมากี่โมงกลับกี่โมง ทำงานไม่เต็มเวลาก็หมายความว่าเอาเปรียบหมอจบใหม่ staff ต้องปรับตัว ไม่ขี้โกงกติกา
ด้าน พญ.พิมพ์เพชร บอกว่าในระดับเขตสุขภาพต้องคุยกัน และอาจจะต้องจัดการในระดับหน่วยงานนั้นๆ จะออกเป็นมาตการไปไม่ได้ เพราะแต่ละพื้นที่ต่างกัน และในอีกมุมหนึ่งก็มีหมอจบใหม่ที่ลาออกจากเหตุทนไม่ได้ ไม่คุนชินสภาพแวดล้อม ขณะที่สถาบันเพิ่มพูนทักษะ 116 แห่ง บางที่ก็อาจจะไม่พร้อมงานเยอะต้องสอนด้วย แต่บางที่ที่สอนอยู่แล้ว 30 กว่าที่ มีความเป็นครูแพทย์อยู่
“ต้องสื่อสารไปว่าทำให้สิ่งแวดล้อม เอื้อต่อการทำงาน รับรู้ความต่างกันของเจนเนอเรชัน ต้องเปิดใจพอสมควร ต้องมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เป็นพี่เลี้ยง คัดเลือก staff มาดูแลน้อง เพราะการเรียนในตำรา กับรักษาจริงต่างกัน รักษาคนไข้ไม่ได้ก็ทำให้หมอใหม่รู้สึกเฟล แล้วปรึกษาใครไม่ได้ สมัยนี้ต้องมีการโค้ชชิ่งที่ดี”
เพิ่มค่าตอบแทน กระจายแพทย์ พื้นที่ขาดแคลน
นพ.ประวัติ บอกว่าทุกวันนี้เราผลิตแพทย์ได้เฉลี่ยต่อปีเพิ่มมากขึ้นกว่าในอดีตที่ผลิตได้เพียง 800-1,000 คน ขณะที่ปัจจุบันผลิตได้ปีละ 3,000 คนแต่ทำไมโรงพยาบาลชุมชน เหลือหมอ 2 คน เพราะมีระบบโครงสร้างที่รวมศูนย์เกินไป หมอที่อยู่ รพ.อำเภอ อยู่ได้ไม่นาน ก็ต้องย้ายมาจังหวัดเพราะมีครอบครัวลูกต้องเรียนในเมือง ในอำเภอห่างไกลการคมนาคมไม่สะดวก คนที่อยู่ได้ คือคนที่แปลก ไม่ใช่คนปกติ
นพ.ณัฐ เห็นด้วยว่าปัญหาโครงสร้างพื้นฐานของเมืองมีส่วน ซึ่งเป็นสิ่งที่นอกเหนือระบบแพทย์ รัฐต้องกระจายและพัฒนาความเจริญทั้งประเทศ
นพ.ประวัติ เสริมว่าค่าตอบแทนเป็นสาเหตุใหญ่ เพราะค่าตอบแทนที่เหลื่อมล้ำระหว่างรัฐกับเอกชนอย่างเห็นได้ชัด หมอจบใหม่ใน รพ.เอกชน อัตราเงินเดือน 120,000 + 50,000 บาท หมอจบใหม่ใน รพ.รัฐ เงินเดือน 30,000 บาท จนมีคำกล่าวว่า “ไม่มีใครโง่อยู่”
พญ.พิมพ์เพชร บอกว่า กระทรวงพยายามมองหาจุดสมดุลของค่าตอบแทน กับภาระงานที่เหมาะสม โดยได้ขยายกรอบอัตรากำลังคนจากปี 2565 บรรจุแพทย์จำนวน 24,000 คน แต่ในปี 2569 จะขยายกรอบฯ เป็น 35,000 คนเพราะมองว่าปัญหาสุขภาพมีมากขึ้น ประกอบกับสังคมสูงวัย ขณะเดียวกันก็จะปรับสวัสดิการความเป็นอยู่ ความปลอดภัยในชีวิต ให้รู้สึกดีและอยู่กับระบบไปพร้อมกัน
นพ.ประวัติ ย้ำว่าเงินช่วยให้หมออยู่ในระบบได้ ยกตัวอย่างปี 2551 ยุค รมว.สธ.ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง คิดต่าง เพิ่มค่าตอบแทนตามระดับซีให้หมอนอกเมืองมากกว่า ตอนนั้นมีหมออยู่ใน รพ.ชุมชน จริง แล้ววันหนึ่งก็ ดรอป ลงกลับมาให้เงินเท่ากันกับหมอในเมือง
“ครั้งนั้นเป็นครั้งแรกที่เราแก้ปัญหาการกระจายตัวของหมอได้สำเร็จ ต้องจูงใจให้คนไปอยู่ให้ได้ เรื่องของอัตราประชาชนต่อหมอ หากงานเยอะ ต้องให้เงินเยอะ”
ขณะที่ นพ.ณัฐ บอกว่าค่าตอบแทนอยู่เวรห้องฉุกเฉิน ปี 2542 ได้ที่ 1,100 บาทข้ามมาปี 2566 ขึ้นค่าเวรมาเป็น 1,200 บาท หมายความว่า 14 ปีขึ้นมา 100 บาท คิดว่าค่าตอบแทนบุคลากรทางการแพทย์ทั้งหมด เป็นเรื่องที่ต้องคุยทั้งจุดเหมาะสมและจะหาเงินมาจากที่ไหนมาสนับสนุนเพิ่ม
กระจายอำนาจ สธ. ให้พื้นที่จัดการตัวเอง
พญ.พิมพเพชร บอกว่า แพทย์ที่จบจากโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท (CPIRD) พบว่ามีอัตราการคงอยู่ในระบบ 90% เนื่องจากเลือกจากคนในพื่้นที่ 3 ปีแรกเรียนใน กทม. 3 ปีหลัง ก็กลับไปเรียนในศูนย์แพทยศาสตร์ชั้นคลินิกที่อยู่ในพื้นที่ เขาได้อยู่กับครอบครัว หรือไม่ก็ห่าง 30-40 กิโล มีเครือญาติในละแวกนั้นก็ มี Comfort Zone ปรับตัวง่าย
พญ.พิมพ์เพชร บอกด้วยว่า สธ.ก็กำลังปรับระบบบริการ รพ.ชุมชน ที่มีความพร้อม เติมแพทย์เฉพาะทางลงไป ตามพื้นที่ที่มีอุบัติการเกิดโรคนั้นๆ เยอะ ซึ่งจะทยอยเห็นความเปลี่ยนแปลง รพ.ทั่วไป จะทำอะไรได้มากขึ้น รพ.ศูนย์ บางแห่งก็มีขีดความสามารถเทียบเท่าคณะแพทย์ได้
“คนไข้จะไม่ต้องเดินทางไปถึง รพ.จังหวัด เพราะมีหมอเฉพาะทางใน รพ.ชุมชนเราอาจจะมีโซน และ รพ.ชุมชน ในโซน ก็รักษาเฉพาะทางที่ต่างกันไป”
นพ.ประวัติ เห็นด้วยกับแนวทางของ สธ. ที่จะกระจายอำนาจ จากเดิมทุกอย่างอยู่ที่ รพ.จังหวัด แต่มันคงไม่เห็นผลในเร็ววัน ต้องยอมรับว่าภาระแพทย์เพิ่มเพราะนโยบาย 30 รักษาทุกโรค ก่อน 30 บาท เห็นคนล้มละลาย เพราะรักษาตัวแต่ข้อเสียคือเข้าถึงง่าย คนไทยเข้าถึงหมอง่ายกว่าประเทศอื่น สธ.ต้องใจถึงพอที่จะเติมเงินเข้าไป เป็นการแก้เร็วที่สุด ก่อนจะไปถึงเรื่องระบบโครงการ ถ้าเพิ่มเงินแก้ได้เลย
นพ.ณัฐ บอกว่า การกระจายอำนาจ คงใช้เวลานาน แต่ในระดับ รพ. ควรมีอำนาจจ้างคน ไม่ต้องอิงกับส่วนกลาง อยากให้ สธ. ลดข้อจำกัดในการบริหารงานภายใน รพ.
ขณะที่ พญ.พิมพ์เพชร บอกว่า ทางเลือกในการจ้างคนเข้าสู่ระบบ คงต้องใช้เวลาในการพูดคุยกับสำนักงบประมาณต่อไป