‘สมศักดิ์’ เล็งประกาศพื้นที่พิเศษ ‘แม่ฮ่องสอน-บึงกาฬ-ตาก’ เพิ่มค่าตอบแทน สวัสดิการ ลดระยะเวลาใช้ทุน เดินหน้ารับแพทย์จากสถาบันเอกชน และต่างประเทศ พร้อมผลักดัน พ.ร.บ.แยก สธ.จาก ก.พ. หวังสร้างอิสระการบรรจุกำลังคน แต่ไม่รับปากสำเร็จในรัฐบาลนี้ ไร้แผนสำรอง
วันนี้ (18 เม.ย. 68) สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แถลงแนวทางการแก้ไขปัญหาขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ โดยเตรียมจะกำหนดพื้นที่พิเศษเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแพทย์ ที่จะเพิ่มสิทธิสวัสดิการ ค่าตอบแทนให้กับบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้อยู่ในระบบ
ปัจจุบันนอกจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว คณะกรรมการฯ ได้อนุมัติแล้วในหลักการเตรียมจะประกาศ “พื้นที่พิเศษ” อีก 3 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน, บึงกาฬ และ ตาก ซึ่งจะมีการประชุมและประกาศอย่างเป็นทางการในเร็ว ๆ นี้

และอีกหนึ่งในข้อเสนอสำคัญที่อยู่ระหว่างหารือคือการผลักดัน พระราชบัญญัติการบริหารราชการกระทรวงสาธารณสุข (พ.ร.บ.กสธ.) เพื่อให้กระทรวงสามารถบรรจุ แต่งตั้ง จัดการค่าตอบแทน และสวัสดิการของบุคลากรได้อย่างมีอิสระมากขึ้น ไม่ต้องพึ่งกระบวนการร่วมกับหน่วยงานอื่น
สมศักดิ์ ยังระบุว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้หารือร่วมกับแพทยสภาอย่างต่อเนื่อง โดยมีทั้งปลัดกระทรวง และรองปลัดฯ ร่วมพูดคุยถึงแนวทางออกจากวิกฤต พร้อมยอมรับว่าหนึ่งในสาเหตุของการขาดแคลนแพทย์ในระบบสาธารณสุขคือการย้ายของแพทย์ไปอยู่ในโรงพยาบาลใหม่ในเขตกรุงเทพฯ ทำให้บางจังหวัดโดยเฉพาะที่อยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ขาดแพทย์มากขึ้น
สำหรับแนวทางการแก้ไขที่กระทรวงสาธารณสุขจะดำเนินการเร่งด่วนในพื้นที่เฉพาะ ที่ขาดแคลนแพทย์ มีทั้งหมด 7 ข้อ ได้แก่
- กำหนดพื้นที่พิเศษ เพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับบุคลากร เช่น ลดระยะเวลาการใช้ทุนกรณีศึกษาต่อในระบบ
- เพิ่มจำนวนแพทย์เพิ่มพูนทักษะ ทั้งแบบฝึกภายในและร่วมฝึก เพื่อให้มีอัตราส่วนแพทย์ต่อประชากรในระดับที่เหมาะสมตามมาตรฐาน
- ขอสนับสนุนแพทย์เฉพาะทางจากจังหวัดใกล้เคียง เพื่อเสริมกำลังในพื้นที่ที่ขาดแคลน
- พัฒนาระบบบริการสุขภาพด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Health) และ Telemedicine พร้อมขอความร่วมมือจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้สนับสนุนระบบเหล่านี้มากขึ้นอย่างรวดเร็ว
- กำหนดตำแหน่งข้าราชการรองรับแพทย์จากสถาบันเอกชนและต่างประเทศ เพื่อเสริมกำลังในกรณีที่จำนวนแพทย์ในระบบไม่เพียงพอ
- พิจารณาเพิ่มค่าตอบแทนนอกเวลาราชการหรือ โอที อาจอยู่ในอัตรา 1.5 เท่า 2 เท่าหรือมากกว่านั้น ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม และ
- ส่งเสริมสวัสดิการ เช่น บ้านพัก แพ็กเกจค่าเดินทาง เพื่อจูงใจให้แพทย์อยู่ในระบบและกระจายตัวในพื้นที่ต่างๆ

นพ.ภูวเดช สุระโคตร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า เนื่องจากการจ่ายเงินพิเศษ รวมถึงโอที ในพื้นที่ขาดแคลน ซึ่งต้องใช้งานบำรุงของโรงพยาบาล จะเพียงพอหรือไม่นั้น ตอนนี้มีการจัดสรรงบประมาณผ่านกองทุนระดับจังหวัดและระดับเขต เพื่อช่วยบรรเทาภาระในส่วนนี้ และกระทรวงสาธารณสุขเองก็กำลังพยายามจัดหางบประมาณเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนในประเด็นนี้ด้วย หากทุกกองทุนสามารถจ่ายค่าตอบแทนได้โดยไม่กำหนดข้อจำกัดมากนัก ก็จะช่วยลดภาระลงได้พอสมควร
“ในพื้นที่ระดับจังหวัดจะมีการจัดตั้ง ‘กองกลาง’ เพื่อช่วยเหลือโรงพยาบาลที่มีปัญหาเงินไม่พอใช้ ซึ่งถ้ายังไม่พออีก ก็จะมีอีกกองในระดับเขตเข้ามาเสริมเพิ่มเติมอีกชั้น”
นพ.ภูวเดช สุระโคตร
ทั้งนี้ 7 แนวทางดังกล่าว ถือเป็นแนวทางตั้งต้น แต่การนำไปใช้นั้นจะต้องพิจารณาจากความจำเป็นจริง ๆ ของพื้นที่ ถ้าขยายไปมากเกิน อาจเกิดปัญหาแพทย์ไหลออกจากพื้นที่อื่นได้ จึงต้องมีกรอบเกณฑ์กำกับไว้ อย่างที่เคยมีคือ หากจะเพิ่มค่าตอบแทนมากกว่า 1 เท่าแต่ไม่เกิน 2 เท่า จะต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการระดับจังหวัด และหากมากกว่า 2 เท่าแต่ไม่เกิน 3 เท่า ต้องผ่านคณะกรรมการระดับเขต โดยจะดูจากข้อมูลการขาดแคลนและจำนวนบุคลากรในแต่ละพื้นที่เป็นหลัก
เมื่อถามว่า ในอดีตมีปัญหาเรื่องเด็กในชนบทไม่ค่อยเรียนแพทย์ หรือไม่สามารถเข้าศึกษาได้ เพราะโครงการส่วนใหญ่ยังอยู่ภายใต้ กสพท. แล้วตอนนี้มีแนวนโยบายดึงเด็กจากพื้นที่ชนบทให้มาเรียนแพทย์มากขึ้นอย่างไรบ้าง ? รมว.สธ. ตอบว่า ไม่ใช่ว่าเด็กไม่เรียนหรือไม่อยากเรียน หลายคนเรียนไม่ไหว
“อย่าไปเชื่อคนที่บอกว่าไม่เรียนเพราะไม่อยากเรียน คนที่เรียนเก่งเขาไปเรียนกันหมดแล้ว”
สมศักดิ์ เทพสุทิน
เดินหน้าลดผู้ป่วยใน รพ.รัฐ ตั้งเป้า 30% ภายใน 2 ปี
สมศักดิ์ บอกอีกว่า มีเป้าหมายลดจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับบริการในโรงพยาบาลของรัฐลงให้ได้ 30% ภายในระยะเวลา 2 ปี โดยเน้นกลุ่มผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD) ซึ่งมีสัดส่วนมากกว่า 30% ของผู้ป่วยทั้งหมด คิดเป็นกว่า 100 ล้านครั้งจากจำนวนผู้เข้ารับบริการกว่า 304 ล้านครั้งต่อปี
แนวทางที่ใช้คือ การให้ อสม. ออกรณรงค์เชิงรุก และสนับสนุนการใช้บริการจาก “ตู้ห่วงใย” เพื่อกระจายการดูแลไปยังชุมชน ขณะนี้อยู่ระหว่างขอความเห็นจากสภาพัฒน์ฯ ในการขยายจุดติดตั้งอุปกรณ์ให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น เนื่องจากขณะนี้มีจุดบริการยังไม่เพียงพอ
ไม่รับปากดัน ‘พ.ร.บ.กระทรวงสาธารณสุข’ เสร็จในรัฐบาลนี้
เมื่อถามย้ำถึงกรณีการขับเคลื่อน พ.ร.บ.ก.สธ. ว่า ยังติดขัดอยู่ตรงไหน สมศักดิ์ ระบุว่า อยู่ที่คณะกรรมการกลั่นกรองที่มีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน หากผ่านขั้นตอนนี้แล้วจึงจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ส่วนการขอความคิดเห็นจากหน่วยงานต่างๆ ยังไม่มีการสอบถามกลับมา ส่วนจะสามารถผลักดันให้ทันในปี 2568 ได้หรือไม่นั้น ไม่สามารถตอบได้ เนื่องจากเป็นเรื่องที่อยู่นอกเหนือจากอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แต่ยืนยันว่าขั้นตอนการดำเนินการในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขนั้นถือว่าดำเนินการไปอย่างรวดเร็วแล้ว
“ผมอยู่ในตำแหน่งมานาน 9 เดือนแล้ว และ พ.ร.บ.อสม. ก็ส่งถึง ครม. แล้ว ซึ่ง พ.ร.บ.อสม. มี 3 หมวดเนื้อหาที่ค่อนข้างน้อย จึงสามารถผลักดันไปได้ทัน”
สมศักดิ์ เทพสุทิน
สมศักดิ์ ยอมรับด้วยว่า ยังไม่มีแผนสำรอง หากไม่สามารถผลักดัน พ.ร.บ. ก.สธ. ได้ มีแค่แผนเดียวคือจะได้หรือไม่ได้เท่านั้น ในส่วนของข้อเสนอที่จะไปเจรจากับ ก.พ. เพื่อขอเพิ่มสัดส่วนการบรรจุพร้อม ๆ กัน ก็ยอมรับว่า ยังไม่ได้คิด

แจงปัญหาแพทย์ขาดแคลน – เร่งกระจายแพทย์จากภาคเอกชน
รมว.สธ. บอกด้วยว่า ประเทศไทยไม่ได้ขาดแคลนแพทย์โดยรวม ขณะนี้มีแพทย์ทั้งภาครัฐและเอกชนรวมกว่า 70,000 คน หรืออัตราเฉลี่ย 1 ต่อ 922 คน แต่ปัญหาคือการกระจุกตัวไม่ทั่วถึง โดยเป้าหมายระยะยาวคือการปรับสัดส่วนเป็น 1 : 650 ภายใน 10 ปี
“วันนี้เราเริ่มดึงแพทย์จากมหาวิทยาลัยเอกชนเข้าไปช่วยในพื้นที่ขาดแคลน ถือเป็นแนวทางใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้น และแม้อาจมีเสียงสะท้อนจากข้าราชการบางกลุ่ม แต่เราต้องคำนึงถึงประชาชนเป็นหลัก”
สมศักดิ์ เทพสุทิน
แนวทางยกระดับพยาบาล-การแก้ปัญหาชั่วโมงแพทย์
สำหรับข้อเสนอการยกระดับ กองพยาบาล เป็น กรมพยาบาล เพื่อลดปัญหาการจัดการภายใน รมว.สธ. เห็นว่า เป็นแนวคิดที่ดี แต่ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะทำได้จริง เนื่องจากอยู่เหนืออำนาจของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง และขึ้นอยู่กับศักยภาพของประเทศ
สำหรับข้อเสนอจำกัดชั่วโมงการทำงานของแพทย์ให้เหลือไม่เกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์นั้น ยังต้องพิจารณาให้รอบด้าน เพราะแพทย์บางกลุ่มทำงานเวรยาว มีห้องพักในโรงพยาบาล และสามารถสลับเวรกันได้ ซึ่งแตกต่างจากพยาบาลที่มีข้อจำกัดมากกว่า
“หากนับชั่วโมงการทำงานจริง ๆ ที่บอกว่าบางคนอาจทำได้ถึง 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่ก็มีช่วงพักภายในโรงพยาบาล ซึ่งผมลงพื้นที่ไปดูมาแล้วด้วยตัวเอง”
สมศักดิ์ เทพสุทิน
สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้กระทรวงฯ ให้สิทธิ์แก่จังหวัดใกล้เคียงในการจัดสรรบุคลากร โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีจำนวนนักเรียนที่สอบติดแพทย์น้อย เช่น บางจังหวัดมีเด็กเก่งที่สอบติดแพทย์ได้ถึง 10 คน แต่มีเพียง 3 คนที่เลือกกลับมาทำงานในภูมิลำเนา ซึ่งกระทรวงฯ พยายามใช้กลไกนี้เพื่อส่งแพทย์ไปยังพื้นที่ที่มีบุคลากรน้อยหรือไม่ผ่านเกณฑ์มานานหลายปี
“เราจะประกาศพื้นที่พิเศษเพิ่มเติม หากพบว่าขาดแพทย์จริง และจะเปิดรับสมัครแพทย์ที่จบจากมหาวิทยาลัยเอกชน รวมถึงแพทย์ที่จบจากต่างประเทศเข้ามาทำงานได้ตามเกณฑ์”
สมศักดิ์ เทพสุทิน
ทั้งนี้ การจัดสรรโควตาและแนวทางการอบรมแพทย์ประจำบ้าน จะอยู่ภายใต้การพิจารณาของคณะกรรมการที่มีรองปลัดกระทรวงสาธารณสุขฝ่ายบริหารเป็นประธาน ซึ่งจะกำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนสำหรับการแก้ปัญหาขาดแคลนบุคลากร
สำหรับข้อกังวลเรื่องงบประมาณในการจ้างแพทย์จากภายนอกนั้น นายสมศักดิ์กล่าวว่า แม้จะยังไม่ทราบรายละเอียดเชิงลึกด้านการเงิน แต่ยืนยันว่าจะหาวิธีดำเนินการให้ได้ เช่น การใช้ตำแหน่งราชการว่าง หรือใช้งบกลางเพื่อรองรับ โดยเน้นว่าต้องแก้ปัญหาให้ได้ก่อน