‘พญ.กัลยพัชร’ จี้ รัฐบาลเพื่อไทย จริงใจแก้วิกฤตบุคลากรสุขภาพ ชี้ ไม่ใช่แค่แพทย์ลาออก แต่คือปัญหาเชิงระบบ ‘สว.หมอ’ เตือนแรง! หากไม่รีบแก้ ปีหน้าลาออกกันหมด ฝั่ง ‘แพทยสภา’ ชี้ 3 ปัจจัยหลัก ทำหมออินเทิร์นไม่อยากอยู่ใช้ทุน เสนอ 4 แนวทาง แก้ด่วน
วันนี้ (17 เม.ย. 68) ที่รัฐสภา พญ.กัลยพัชร รจิตโรจน์ สส. พรรคประชาชน และกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร แถลงเรียกร้องให้รัฐบาล และกระทรวงสาธารณสุข หยุดเพิกเฉยต่อปัญหาวิกฤตกำลังคนในระบบสุขภาพภาครัฐ โดยระบุว่า สถานการณ์แพทย์และบุคลากรสาธารณสุขจำนวนมากทยอยลาออก ไม่ใช่เพียงปัญหาเฉพาะจุด แต่เป็น “ปัญหาเชิงโครงสร้าง” ที่กำลังสั่นคลอนความเป็นธรรมในการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชนทั่วประเทศ
จี้รัฐหยุดมองปัญหาด้วยเลนส์ ‘การผลิตเพิ่ม’
พญ.กัลยพัชร เรียกร้องให้รัฐบาล โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย แสดงจุดยืนที่ชัดเจนต่อ ร่าง พ.ร.บ.การบริหารกำลังคนด้านสาธารณสุข (พ.ร.บ.ก.สธ.) ซึ่งเคยถูกระบุเป็น “นโยบายหลัก” ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งปี 2566 และได้รับการผลักดันจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขทั้ง 2 คน ของพรรคเพื่อไทย แต่กลับชะลอความคืบหน้าอย่างชัดเจนในช่วงหลัง
“ดิฉันเห็นว่าการผลักดัน พ.ร.บ.ก.สธ. เริ่มแผ่วลง เมื่อเทียบกับความเร่งรีบในการผลักดัน พ.ร.บ.อสม. หรือแม้แต่ พ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจร ดิฉันจึงตั้งคำถามว่ารัฐบาลยังให้ความสำคัญกับโครงสร้างสุขภาพภาครัฐอยู่หรือไม่ หรือกำลังละเลยระบบรัฐ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้เศรษฐกิจสุขภาพภาคเอกชนจากนโยบาย medical hub และ medical tourism กันแน่”
พญ.กัลยพัชร รจิตโรจน์
พญ.กัลยพัชร ยังย้ำว่า การเพิ่มจำนวนแพทย์หรือบุคลากรใหม่ไม่ใช่คำตอบเดียวของปัญหา เพราะระบบไม่สามารถรักษาคนให้อยู่ได้ การลาออกไม่ได้จำกัดเฉพาะแพทย์ แต่รวมถึงสหวิชาชีพในทุกสาขา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าระบบไม่มีแรงจูงใจหรือโครงสร้างสนับสนุนที่เหมาะสม
เผยประชุม ‘คกก.ปฏิรูปกำลังคน’ ถมดำรายชื่อ ไร้ตัวแทนประชาชน-นักวิชาการ
พญ.กัลยพัชร ยังเปิดเผยด้วยว่า คณะกรรมการการปฏิรูปกำลังคนและภารกิจด้านสาธารณสุข ซึ่งจัดตั้งโดยคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 417/2567 มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน และประกอบด้วยผู้บริหารระดับสูงจากหลายกระทรวง เช่น ปลัดกระทรวงกลาโหม, กระทรวงการคลัง, กระทรวงมหาดไทย, กระทรวง อว. ฯลฯ รวมทั้งผู้แทนจากองค์กรวิชาชีพทางการแพทย์รวม 34 คน แต่ ไม่มีตัวแทนภาคประชาชน หรือนักวิชาการที่เชี่ยวชาญโครงสร้างสุขภาพเลยแม้แต่คนเดียว

ที่สำคัญการประชุมครั้งแรกของคณะกรรมการเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2568 นั้น มีการ ถมดำรายชื่อผู้เข้าร่วมประชุม ในเอกสารสรุปถึง 3 หน้าเต็ม ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าใครเข้าร่วมและใครตัดสินใจอย่างไร พร้อมตั้งคำถามว่า “ความโปร่งใสอยู่ที่ไหน ?”
“ที่ผ่านมาเราเห็นการถมดำจากกระทรวงกลาโหม แต่ในครั้งนี้ เป็นกระทรวงสาธารณสุขที่ถมดำรายชื่อผู้เข้าประชุม ดิฉันอ่านเอกสาร 11 หน้าเต็ม พบว่าเนื้อหาส่วนใหญ่กลับเน้น ‘เศรษฐกิจสุขภาพ’ มากกว่าการแก้ปัญหาหน้างานจริง เช่น หนึ่งในตัวชี้วัด ต้องมีผลตอบแทนการลงทุน หรือ Return of investment (ROI) อยู่ด้วย เช่น เวชศาสตร์ชะลอวัย ศัลยกรรมตกแต่ง มากกว่าการผลิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว หรือเวชศาสตร์ป้องกัน”
พญ.กัลยพัชร รจิตโรจน์
เสนอ 3 ทางออก :
ชัดเจนเรื่อง พ.ร.บ.ก.สธ. – ปรับโครงสร้าง คกก. – หนุน พ.ร.บ.สหภาพแรงงานสุขภาพ
พญ.กัลยพัชร ยังได้เสนอแนวทางเชิงระบบ 3 ข้อ เพื่อคลี่คลายวิกฤตกำลังคนในระบบสุขภาพ ได้แก่
- รัฐบาลต้องชัดเจนว่าจะเดินหน้าร่าง พ.ร.บ.ก.สธ. ต่อหรือไม่ หากไม่สามารถทำได้ด้วยข้อจำกัดงบประมาณ ต้องกล้ายอมรับ และหาทางออกอื่น เช่น การเพิ่มสัดส่วนบุคลากรสุขภาพใน อ.ก.พ. เพื่อให้มีอำนาจร่วมกำหนดค่าตอบแทนและระบบจูงใจที่เป็นธรรม
- ปรับองค์ประกอบคณะกรรมการการปฏิรูปฯ ให้สะท้อนหน้างานจริง เพิ่มตัวแทนบุคลากรปฏิบัติงานและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากระบบ พร้อมกำหนดวาระการประชุมที่สอดคล้องกับปัญหาหน้างานจริง และสื่อสารความคืบหน้าอย่างโปร่งใส
- สนับสนุนร่าง พ.ร.บ.สหภาพแรงงานสุขภาพ เพื่อให้บุคลากรสาธารณสุขมีสิทธิจัดตั้งสหภาพแรงงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และสามารถต่อรองกับฝ่ายบริหารได้บนหลักการแรงงาน เช่นเดียวกับภาคอื่น
พญ.กัลยพัชร เย้นย้ำชัดเจนว่า รัฐบาลไม่ควรผลักภาระให้กับบุคลากรปฏิบัติงานเพียงฝ่ายเดียว ขณะที่ตัวเองไม่กล้าตัดสินใจเรื่องยาก ๆ เช่น การจัดสรรงบประมาณให้โครงสร้างพื้นฐานด้านสุขภาพ
“เราต้องกล้ายอมรับว่า การแก้ปัญหาที่ผ่านมายังล้มเหลว เราไม่สามารถฝากชีวิตคนไทยทั้งประเทศไว้กับ ROI หรือ ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจได้”
พญ.กัลยพัชร รจิตโรจน์
พร้อมประกาศว่า จะผลักดันตั้ง “อนุกรรมาธิการกำลังคนสุขภาพ” ภายใต้คณะกรรมาธิการสาธารณสุขในเร็ว ๆ นี้ เพื่อศึกษาระบบกำลังคนเชิงลึก หลังจากอนุ กมธ.สุขภาพจิต เสร็จสิ้นภารกิจ

ส.ว.หมอเตือนแรง! หากไม่รีบแก้ ปีหน้า ‘หมอลาออก’ หมด
สอดคล้องกับ นพ.วีระพันธ์ สุวรรณนามัย สมาชิกวุฒิสภา อดีตแพทย์ประจำโรงพยาบาลชุมชน ออกมาแสดงความเป็นห่วงต่อสถานการณ์กำลังคนในระบบสาธารณสุขไทย ผ่านโพสต์เตือนว่าหากรัฐยังไม่เร่งแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ปีหน้าอาจได้เห็น “หมอลาออก” กันเป็นจำนวนมาก
โดยระบุว่า ปัจจุบันบุคลากรสาธารณสุขทุกระดับ ตั้งแต่แพทย์ พยาบาล เภสัชกร เจ้าหน้าที่เวรเปล ไปจนถึงเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ล้วนเผชิญกับภาระงานที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่แรงสนับสนุนจากระบบกลับลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะแพทย์ ซึ่งมักถูกมองว่า “ดูแลตัวเองได้” แต่ในความเป็นจริง กลับเป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่กำลังเหนื่อย ท้อ และกำลังตัดสินใจลาออก
“หมอลาออก ไม่ใช่แค่เพราะเงิน แต่เพราะรู้สึกว่าทั้งระบบไม่เห็นหัวคนทำงาน”
นพ.วีระพันธ์ สุวรรณนามัย
นพ.วีระพันธ์ ยังได้แจกแจงถึงปัญหาสำคัญ 6 ข้อ ที่ทำให้แพทย์หลายคนตัดสินใจออกจากระบบ ประกอบด้วย
- ค่าตอบแทนล่าช้า-ระบบซับซ้อน : ค่าตอบแทนที่ควรได้รับ เช่น เบี้ยกันดาร หรือ พตส. (ค่าตอบแทนสำหรับแพทย์เฉพาะทาง) มีการค้างจ่ายนานถึง 3–6 เดือน อีกทั้งยังต้องจัดทำเอกสารจำนวนมากและรอการอนุมัติจากกรมและจังหวัด ขณะที่แพทย์ในภาคเอกชนได้รับเงินตรงเวลาทุกเดือน
- แพทย์รุ่นใหม่รับภาระเกินกำลัง : แพทย์เฉพาะทางบางคนเลือกเคส ไม่รับผู้ป่วยหนัก ส่งผลให้แพทย์ใช้ทุนหรือแพทย์ฝึกหัด (Intern) ต้องแบกรับงานหนักโดยไม่มีระบบพี่เลี้ยงหรือผู้ดูแลอย่างจริงจัง อีกทั้งยังขาดการดูแลจากผู้บริหารในโรงพยาบาลหรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด
- นโยบายไม่ฟังเสียงจากหน้างาน : มีการกำหนดจำนวนแพทย์ที่ต้องประจำโรงพยาบาล 30 เตียงอย่างไม่ยืดหยุ่น เช่น บังคับให้มีแพทย์ถึง 5 คนโดยไม่ดูภาระงานจริง อีกทั้งในช่วงเทศกาลสำคัญ แพทย์บางแห่งต้องขึ้นเวรต่อเนื่อง 72 ชั่วโมงโดยไม่มีคนเสริม
- แบกภาระผู้ป่วยข้ามแดนโดยไร้การสนับสนุน : โรงพยาบาลชายแดนต้องรับภาระการรักษาผู้ป่วยต่างด้าว แต่รัฐกลับไม่มีงบประมาณหรือระบบประกันสุขภาพมารองรับอย่างเหมาะสม
- งานเอกสารล้นมือ : แพทย์หลายคนต้องใช้เวลาจำนวนมากไปกับการกรอกข้อมูล HA ตัวชี้วัด หรือระบบ “paperless” ที่กลับกลายเป็นภาระ จนแทบไม่มีเวลารักษาผู้ป่วยอย่างเต็มที่
- ไม่มีสิทธิเลือกที่ทำงาน : แพทย์ข้าราชการจำนวนมากถูกกระจายไปตามพื้นที่โดยไม่มีสิทธิเลือก ส่งผลให้อยู่ห่างบ้านนานหลายปี ขาดแรงจูงใจ และหมดไฟในการทำงาน
นพ.วีระพันธ์ ยังเสนอแนวทางแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ การจ่ายค่าตอบแทนตรงเวลาและโปร่งใสผ่านระบบโอนอัตโนมัติ, การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เคารพกันระหว่างแพทย์รุ่นพี่และรุ่นน้อง, การออกนโยบายจากข้อมูลภาคสนามจริง, การจัดระบบผู้ป่วยข้ามแดนให้มีการเจรจาหรือระบบประกันร่วม, การลดงานเอกสารที่ไม่จำเป็น และการเพิ่มสิทธิเลือกพื้นที่ทำงานพร้อมแรงจูงใจในเขตกันดาร
“บุคลากรสาธารณสุขกำลังทุ่มเทสุดแรง แต่ระบบที่เขาอยู่กลับผลักให้พวกเขาถอยออกมาเงียบ ๆ”
นพ.วีระพันธ์ สุวรรณนามัย
พร้อมประกาศจุดยืนว่าในฐานะแพทย์ และสมาชิกวุฒิสภา จะทำหน้าที่เต็มที่เพื่อผลักดันให้ระบบกลับมาดูแล “คนรักษาคน” ได้อย่างยั่งยืน

แพทยสภา ชี้ 3 ปัจจัย ทำ ‘หมออินเทิร์น’ ไม่อยากอยู่ใช้ทุน
ก่อนหน้านี้ แพทยสภาได้จัดทำแบบสำรวจความคิดเห็นแพทย์จบใหม่ ปี 2564 โดย นพ.ภาสกร วันชัยจิระบุญ กรรมการแพทยสภา พบข้อมูลน่ากังวลว่า ร้อยละ 3.5 ของผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 2,431 คน มีแผนจะลาออกจากระบบตั้งแต่ก่อนเริ่มปฏิบัติงานจริง
ผลสำรวจพบว่า “สภาพแวดล้อมการทำงาน” เป็นปัจจัยหลักที่ผลักแพทย์ออกจากระบบ (ร้อยละ 61.4) โดยเฉพาะวัฒนธรรมที่มีการกลั่นแกล้ง หรือการเอาเปรียบจากผู้ร่วมงานและผู้บังคับบัญชา
ตามมาด้วย “ภาระงานหนักเกินไป” (ร้อยละ 51.7) และ “ค่าตอบแทนต่ำเกินไป” (ร้อยละ 42.9) ซึ่งไม่สมดุลกับความรับผิดชอบและค่าครองชีพ โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเรื่องระยะเวลารอทุนศึกษาต่อ ซึ่งส่งผลต่อการตัดสินใจอยู่หรือไปของแพทย์จำนวนไม่น้อย
เพื่อแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม แพทยสภาเสนอ 4 แนวทางเชิงนโยบาย ได้แก่
- ปรับสภาพแวดล้อมการทำงาน ให้เกิดวัฒนธรรมองค์กรที่ดี ลดการกลั่นแกล้ง และสนับสนุนทีมเวิร์ก
- กระจายภาระงานอย่างเหมาะสม กำหนดชั่วโมงการทำงานไม่ให้หนักเกินไป โดยเฉพาะสำหรับแพทย์จบใหม่
- ปรับค่าตอบแทนให้สะท้อนภาระงานจริง สร้างแรงจูงใจทางการเงินที่ชัดเจน
- ปรับปรุงระบบทุนแพทย์ประจำบ้าน ลดระยะเวลารอทุน และเปิดโอกาสเลือกพื้นที่ศึกษาต่อได้มากขึ้น
นอกจากนี้ แพทยสภายังได้สำรวจความคิดเห็นของแพทย์ที่เพิ่งจบการเพิ่มพูนทักษะในปี 2566 จำนวน 2,473 คน พบว่า ร้อยละ 89.5 เห็นว่า โครงการอินเทิร์นยังจำเป็น เพราะช่วยเพิ่มทักษะที่ไม่สามารถได้จากการเรียนทฤษฎีเพียงอย่างเดียว
ขณะที่ ศ.ทพ.ธนภูมิ โอสถานนท์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการฯ คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ โพสต์ให้ความเห็นว่า ปัญหาการลาออกของบุคลากรสาธารณสุข ไม่ใช่เฉพาะแพทย์ แต่ครอบคลุมถึงวิชาชีพอื่น ๆ โดยเฉพาะในชนบท ที่แม้มีโครงการผลิตทันตแพทย์ใช้ทุนต่อเนื่องกว่า 30 ปี ก็ยังไม่สามารถรักษาอัตราการคงอยู่ในระบบได้
งานวิจัยจากทีมจุฬาฯ (Arunratanothai et al, 2022–2023) ชี้ว่า ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการอยู่หรือออกจากระบบคือ สถานที่ทำงาน ความใกล้บ้าน ความสัมพันธ์ในที่ทำงาน และโอกาสทางวิชาชีพ แต่ถึงแม้จะได้กลับไปทำงานใกล้บ้านเกิด หากระบบราชการไม่มีคุณภาพ หรือไม่เอื้อต่อชีวิตการทำงานอย่างแท้จริง บุคลากรก็ยากจะอยู่ยาวในระบบได้
งานวิจัยจากทีมจุฬาฯ ยังสะท้อนด้วยว่า โครงการผลิตบุคลากรจากพื้นที่ เช่น “โครงการจุฬาฯ ชนบท” และ “สืบสานปณิธานสมเด็จย่า” มีอัตราการคงอยู่ของทันตแพทย์สูงกว่าการรับแบบสอบคัดเลือกทั่วไปอย่างมีนัยสำคัญ