นักจิตวิทยา มองศาสนาไม่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ ขณะที่คนรู้สึกไม่ปลอดภัยต้องการหาที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ด้าน “หมอประเวศ” ชี้ สังคมไทยยึดติดวัตถุ สุขตื้นเขิน แนะ 15 เส้นทางเข้าถึงแก่น
เมื่อวันที่ (17 ส.ค. 2566) ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการจัดประชุมวิชาการระดับชาติ เครือข่ายความรู้สุขภาวะทางปัญญา ครั้งที่ 1 “สุขภาวะทางปัญญา : สุขภาพ จิตวิญญาณ และสังคม” มีการกล่าวถึง และวิพากย์วิจารณ์ปรากฎการณ์ประชาชนแห่บูชาครูกายแก้ว ที่กำลังเป็นกระแสสังคมอยู่เวลานี้
รศ.รัตติกรณ์ จงวิศาล คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า เมื่อศาสนาไม่ตอบโจทย์บางอย่าง (Disfunction) ทำให้คนรุ่นใหม่เลือกไม่นับถือศาสนา แต่จริง ๆ ธรรมชาติของมนุษย์จะต้องแสวงหาคุณค่าบางอย่าง แต่พอไม่พบ สายมูเลยได้เปรียบ อย่างส่วนที่เป็นนักท่องเที่ยว ประชากรจีนรุ่นใหม่ เริ่มไม่มีศาสนา ลัทธิขงจื้อ ความกตัญญู ถูกทำลายไปหมด แต่มนุษย์เรามีธรรมชาติว่า วัตถุไม่สามารถเติมเต็มความต้องการ จึงขาดคุณค่าที่แท้จริง และพยายามค้นหาคุณค่าที่แท้จริง
ด้าน สมบุญ จารุเกษมทวี คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า คำจำกัดความของคำว่า “สุขภาวะทางปัญญา” ยกตัวอย่างเช่นถ้าสมมุติว่า คนนับถือขวดน้ำขวดนี้แล้ว แต่จิตใจสงบ จิตใจยอมรับความแตกต่างหลากหลาย จิตใจมีความเมตตาต่อผู้อื่น สามารถเชื่อมโยงกับธรรมชาติ เห็นในคุณค่าของตัวเอง รู้ถึงความหมายในชีวิตอันนี้ถือเป็น concept ของสุขภาวะทางปัญญา
เช่นเดียวกับ การบูชาครูกายแก้ว ถ้าบูชาแล้วเกิดความเมตตาต่อผู้อื่นไม่ได้ไปบูชายัญ ฆ่าหมา ฆ่าแมว อันนี้ถือว่าสร้างให้เกิดสุขภาวะทางปัญญาตามคำจำกัดความทางวิชาการ แต่ถ้าสมมุติว่าบูชาแล้วมีความต้องการไปทางที่ผิด ใช้เงินไปกับการบูชา เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง ไม่ได้ลดความเป็นตัวตน อันนี้ถือว่าไม่ใช่การสร้างสุขภาวะทางปัญญา
“ผมก็พูดอยู่เสมอว่า ถ้าสมมุติผมนึกนับถือสิ่งใดสิ่งหนึ่งขึ้นมา แล้วยังเป็นคนดี มันก็ยังถือว่าเป็นการสร้างสุขภาวะทางปัญญา”
สมบุญ กล่าว
ขณะที่ สรยุทธ รัตนพจนารถ จากธนาคารจิตอาสา บอกว่า ปรากฏการณ์ครูกายแก้วเป็นภาพสะท้อนของการที่สังคมขาดพร่องทางจิตวิญญาณ คนมักจะเข้าใจว่าจิตวิญญาณคือผีสางนางไม้ แล้วไปเชื่ออะไรที่เป็นสิ่งเหนือธรรมชาติ อันนี้มันบอกชัดเจนว่ามนุษย์เรากำลังขาดสุขภาวะทางปัญญา
ถ้าคนที่มีความเชื่อในครูกายแก้ว มาทำ แบบวัดสุขภาวะทางปัญญา คิดว่าน่าจะได้คะแนนน้อย เพราะเขาอาจไม่มีความสุขสงบภายใน เพราะต้องไปพึ่งพิงความสุขจากภายนอก อย่างการบูชาครูกายแก้ว ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้เกิดความยึดเหนี่ยวจากภายนอกมัน เชื่อมโยงกับสภาพปัญหาสังคมภายนอก
ด้าน นายแพทย์ ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต บอกว่า บอกว่า โดยปกติคนเรามักต้องการความรู้สึกปลอดภัย พอรู้สึกไม่ปลอดภัย ก็จะหาทางจัดการ ซึ่งมีทั้งการจัดการ แบบใช้วุฒิภาวะ (Mature) และแบบไม่ใช้วุฒิภาวะ แบบไม่ใช้วุฒิภาวะ ก็อย่างเช่น เชื่อไสยศาสตร์ โทษคนอื่น ตำหนิตัวเอง แต่แบบมีวุฒิภาวะ เช่น การคิดเชิงบวก หาทางคลายเครียด ขณะที่แบบจิตวิทยาขั้นสูงปัจจุบันคือการตั้งสมาธิ มีสติ ปล่อยวาง เมตตา ให้อภัย เพราะฉะนั้น ปรากฎการณ์ครูกายแก้วไม่ใช่เรื่อง “สุขภาวะทางปัญญา” แน่เป็นเรื่องความรู้สึกไม่ปลอดภัย ที่มาจาก “จิตพื้นฐาน” ที่มีปัญหา
“หมอประเวศ”ชี้ สังคมไทยป่วย แนะ 15 เส้นทางเข้าถึงแก่นสุขภาวะทางปัญญา
ศ.เกียรติคุณ นายแพทย์ประเวศ วะสี ประธานที่ปรึกษาการจัดประชุมฯ บอกว่า ผลสืบเนื่องจากอารยธรรมตะวันตก 500 ปีทำให้โลกปั่นป่วน จากการมีสุขภาวะทางวัตถุ ซึ่งเป็นความสุขที่ตื้นเขิน ทำให้เกิดความขัดแย้ง และความโกลาหล ขณะที่สุขภาวะทางปัญญา เป็นความสุขที่ลึกซึ้ง เป็นความดีและความงาม
คำจำกัดความเรื่องสุขภาพขององค์การอนามัยโลก คือ Health is complete well-being ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม ปัญญา ไม่เพียงแค่การไม่มีโรคเท่านั้นแต่เป็นการบูรณาการอยู่ในการพัฒนามนุษย์และสังคมทั้งหมด
นายแพทย์ประเวศ บอกอีกว่า สุขภาวะทางปัญญามีลักษณะ 3 ประการ
- มีความสุขยิ่งกว่าความสุขทางวัตถุใดๆ
- ประสบความงามจากการเข้าถึงความจริง
- เกิดไมตรีจิตต่อเพื่อนมนุษย์และสรรพสิ่ง มีความรักที่บริสุทธิ์ไม่หวังผลตอบแทน
ซึ่งสามารถเข้าถึงสุขภาวะทางปัญญาได้จาก 15 เส้นทาง 1. ระลึกบรมสัจจะ 2. สัมผัสธรรมชาติ 3. ตถตา 4. เมตตา 5. กรุณา 6. ภาวนา 7. ทำจิตให้บันเทิง-มองในแง่ดี 8. สัมมาวาจา-สื่อสร้างสรรค์ 9. ไม่เบียดเบียน 10. ศิลปะ 11. เคลื่อนไหวร่างกายอย่างมีสติ 12. ทำงานด้วยจิตรู้ 13. ปฏิวัติสัมพันธภาพ รวมตัวความเป็นชุมชน 14. ชีวันตาภิบาล-การตายดี 15. การเรียนรู้ที่ดี
สำหรับการจัดงานประชุมฯ ครั้งนี้ เป็นการระดมความคิดเห็นระดับชาติเรื่องสุขภาวะทางปัญญาครั้งแรกของโลก มุ่งเป้าพัฒนาระบบ โครงสร้างสุขภาพนวัตกรรม เครื่องมือขับเคลื่อนสุขภาวะทางปัญญาของประเทศให้มีความชัดเจนและเกิดผลเชิงประจักษ์