จับตา รมว.สธ. คนใหม่ ทำให้บริการยุติการตั้งครรภ์เกิดขึ้นจริง

เครือข่ายผู้หญิงท้องไม่พร้อม สะท้อนปัญหาผ่านงานวิจัย 2 ปีหลังไทยแก้กฎหมาย มีสถานพยาบาลไม่ถึง 1 ใน 10 สวนทางความต้องการ จี้ รัฐเร่งลดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงบริการทำแท้งปลอดภัย-อนามัยเจริญพันธุ์

เมื่อวันที่ 28 ส.ค. 66 เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อม (Choices Network Thailand) และภาคีเครือข่าย แถลงผลการติดตามการพัฒนาระบบบริการยุติการตั้งตั้งครรภ์หลังการแก้ไขกฎหมายทำแท้งฉบับใหม่ ภายใต้หัวข้อ “ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการยุติการตั้งครรภ์หลังการแก้ไขกฎหมายทำแท้ง” พร้อมแสดงความคาดหวังและต้องการเห็นเจตจำนงค์ หลังกระแสข่าวโผการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ปรากฏชื่อ นพ.ชลน่าน​ ศรีแก้ว​ หัวหน้าพรรค​เพื่อไทย ที่จะมานั่งดูกระทรวงสาธารณสุข

รศ.กฤตยา อาชวนิจกุล สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล ในฐานะผู้ประสานงานเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม กล่าวถึงโครงการวิจัยฉบับนี้ว่า ได้ทำการศึกษา และเก็บข้อมูลจาก 3 กลุ่ม คือ ผู้กำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการยุติการตั้งครรภ์ 18 องค์กร เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในสถานบริการรวม 148 คน และผู้หญิงที่รับบริการยุติการตั้งครรภ์ 23 คน รวมทั้งสถิติตัวเลขที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการยุติการตั้งครรภ์จากสายด่วนท้องไม่พร้อม 1663 จากฐานข้อมูล e-Claim ของสปสช. ข้อมูลการซื้อยายุติการตั้งครรภ์จากกรมอนามัย และการให้บริการยุติการตั้งครรภ์ในสถานพยาบาลของรัฐ และเอกชน พ.ศ. 2561-2565 มีข้อค้นพบสำคัญ 5 ประเด็น ประกอบด้วย 

1. องค์ประกอบและบริบทของชีวิตที่แตกต่างกันของผู้หญิงที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์แต่ละคน ส่งผลต่อโอกาสในการเข้าถึงบริการได้ไม่เท่าเทียมกัน กลายเป็นความเหลื่อมล้ำที่ส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย ไม่ว่าเป็นเรื่องของเชื้อชาติ สถานะทางสังคม ฐานะทางเศรษฐกิจ ถิ่นที่อยู่ การนับถือศาสนาและความเชื่อ ความสามารถในการเข้าถึงข้อมูล และเทคโนโลยีสมัยใหม่ต่าง ๆ ความเหลื่อมล้ำทำให้การเข้าถึงบริการรยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยกลายเป็นความโชคดีของผู้หญิงจำนวนไม่น้อย

ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมทำให้โอกาสในการเข้าถึงข้อมูลของแต่ละคนไม่เท่ากัน ความเหลื่อมล้ำทางสังคมอาจทำให้ผู้หญิงเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่จำเป็นเกี่ยวกับบริการยุติการตั้งครรภ์ได้ยากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดีมักเข้าไม่ถึงข้อมูล และไม่มีความรู้เรื่องสิทธิในการเข้าถึงบริการ หรือไม่สามารถใช้สิทธิดังกล่าวได้ ผู้หญิงที่อาศัยอยู่ในชนบทที่ไม่มีสมาร์ทโฟน อาจไม่มีโอกาสค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับบริการยุติการตั้งครรภ์จากอินเทอร์เน็ต หรือสื่อโซเชียลแพลตฟอร์มต่าง ๆ และแม้กฎหมายจะอนุญาตให้สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้ตามเงื่อนไขที่กำหนด แต่การที่ภาครัฐไม่ประชาสัมพันธ์ว่ามีแหล่งบริการยุติการตั้งครรภ์ด้วยเงื่อนไขอย่างไรและกำหนดมาตรฐานแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนให้กับสถานพยาบาลทั่วประเทศก็ยิ่งเสริมเพิ่มความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นสำหรับผู้ที่ต้องการเข้าถึงบริการยุติการตั้งครรภ์มากขึ้น 

ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการยุติการตั้งครรภ์เกิดขึ้นตั้งแต่ก้าวแรกของการเข้าถึงข้อมูลเพื่อการตัดสินใจเมื่อท้องไม่พร้อม ดังที่พบว่าเมื่อภาครัฐไม่มีการประชาสัมพันธ์ ไม่มีการชี้แจงหรือกำหนดแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนให้กับสถานพยาบาลทั่วประเทศผู้หญิงจึงต้องหาข้อมูลเรื่องท้องไม่พร้อมและการยุติการตั้งครรภ์ด้วยตัวเอง ส่วนใหญ่ใช้โทรศัพท์ค้นหาข้อมูลทางอินเทอรเน็ตผ่านเว็บไซต์ต่าง ๆ และมีเพียง 1663 สายด่วนปรึกษาเอดส์ และท้องไม่พร้อมซึ่งดำเนินการโดยมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ที่เป็นช่องทางหลักช่องทางเดียวของการให้บริการข้อมูล และคำปรึกษาด้านท้องไม่พร้อม และการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยทั่วประเทศ ทั้งให้ข้อมูลให้คำปรึกษา ประสาน ส่งต่อบริการและติดตาม

จากข้อมูลผู้โทรปรึกษาสายด่วนท้องไม่พร้อม 1663 ในระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ. 2561-2565) ที่มีจํานวนรวม 141,575 คนนั้น กว่า 80% ต้องการยุติการตั้งครรภ์มากกว่าสองในสาม (ร้อยละ 78) อยู่ในวัย 20-39 ปี ไม่ใช่วัยรุ่นอย่างที่มักเข้าใจกัน และในจำนวนนี้ ประมาณสองในสามมีอายุครรภ์ ไม่เกิน 8 สัปดาห์ กล่าวได้ว่าส่วนใหญ่รู้ตัวเร็วเข้าถึงบริการได้ไม่ชักช้า อย่างไรก็ดี ช่องว่างสำคัญ คือช่องทางของผู้ที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์เกิน 20 สัปดาห์ (ร้อยละ8 )ซึ่งอยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะเข้าไม่ถึงบริการ เนื่องจากมีเงื่อนไขต่าง ๆ ในชีวิต โดยเฉพาะในทางเศรษฐกิจ และขาดระบบสนับสนุนในครอบครัว ทำให้ต้องการเวลามากขึ้นในการรวบรวมเงินให้เพียงพอกับค่าใช้จ่าย ขณะที่ยิ่งอายุครรภ์สูงก็ยิ่งมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น กลับต้องเดินทางไปยังสถานพยาบาลไกลบ้านเพื่อรับบริการ และมีโอกาสเสี่ยงที่จะเลือกวิธียุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย

การเข้าถึงสายด่วนท้องไม่พร้อม 1663 เป็นหนึ่งในโอกาสที่ผู้หญิงจะสามารถเข้าถึงบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยได้ แต่จากจำนวนกว่า 1.4 แสนคน ที่โทรปรึกษา 1663 ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมามีผู้หญิงที่เข้ารับบริการยุติการตั้งครรภ์ในสถานพยาบาลของรัฐที่เข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพเพียงร้อยละ 57.5 หรือ 81,411 คน เท่านั้น ยิ่งอายุน้อยยิ่งมีสัดส่วนของการโทรปรึกษาสายด่วน 1663 สูงกว่ากลุ่มที่อายุมากกว่า ขณะเดียวกันช่วงอายุของผู้รับบริการแสดงให้เห็นว่าส่วนใหญ่เป็นวัยทำางานที่น่าจะอยู่ในสิทธิประกันสังคม แต่ข้อมูลจากสำนักงานประกันสังคมระบุว่า มีการให้บริการยุติการตั้งครรภ์เพียงปีละประมาณ 500 รายเท่านั้นซึ่งสะท้อนว่าการยุติการตั้งครรภ์ยังเป็นช่องว่างของการใช้บริการตามสิทธิสุขภาพที่มีไม่ว่าจะเป็นสิทธิใดก็ตาม

ข้อมูลจากสายด่วน 1663 ช่วยให้เห็นภาพเงื่อนไขในชีวิตของผู้หญิงที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์ที่สังคมส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าเหตุผลส่วนใหญ่ของความต้องการยุติท้องไม่พร้อมเป็นประเด็นด้านเศรษฐกิจ แต่จากจำนวน 1.4 แสนคน ที่ปรึกษาสายด่วน 1663 ระบุว่า ปัญหาด้านเศรษฐกิจเป็นเหตุผลที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์เพียงหนึ่งในสามเท่านั้น เหตุผลที่สำคัญกว่าคือประเด็นขัดแย้งไม่ลงรอยในครอบครัว และความสัมพันธ์ระหว่างคู่ด้วยสัดส่วนร้อยละ 40.2 ทั้งในแง่ของการถูกปฏิเสธความรับผิดชอบจากคู่ อยู่ในความสัมพันธ์ที่เปราะบางรวมทั้งการที่ครอบครัวไม่สนับสนุนหรือยอมรับการตั้งครรภ์ครั้งนั้น

2. ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ สังคม และสิทธิส่งผลต่อการเข้าถึงบริการยุติฯ ไม่เท่าเทียมกัน

นั่นคือความแตกต่างในรายได้ และฐานะทางเศรษฐกิจทำให้คนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจ และรายได้ต่ำกว่ามีทางเลือกและโอกาสเข้าถึงได้น้อยกว่า และช้ากว่าการไม่มีสถานบริการที่ให้บริการยุติการตั้งครรภ์ในจังหวัดที่อาศัยหรือทำงานอยู่ เป็นความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่ทำให้ผู้หญิงต้องเดินทางไกลขึ้น มีค่าใช้จ่ายมากขึ้น ผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลอาจไม่มีแหล่งบริการยติการตั้งครรภ์อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง เมื่อผนวกกับความแตกต่างในด้านความเป็นอยู่หรือถิ่นที่อยู่รวมทั้งความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่ต้องแบกรับไว้ด้วยแล้ว ยิ่งต้องใช้เวลาในการรวบรวมเงินให้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายเพื่อการเดินทางที่ไกลขึ้น ผู้หญิงที่มีรายได้น้อยอาจไม่สามารถจ่ายค่าบริการยุติการตั้งครรภ์หรือค่าเดินทางไปยังคลินิกได้ ซึ่งนำไปสู่โอกาสเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะเลือกทางเลือกยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย

ปัจจุบันแม้จะมีสถานบริการลงทะเบียนเป็นหน่วยบริการยุติการตั้งครรภ์กับ สปสช.และรับยากรมอนามัยในจำนวนเพิ่มมากขึ้นแล้วก็ตาม แต่มีหน่วยบริการสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศอยู่เพียงไม่ถึงหนึ่งในสิบเท่านั้น ที่ให้บริการยุติการตั้งครรภ์ด้วยเกณฑ์ และเงื่อนไขที่แตกต่างกัน ทั้งยังเปลี่ยนแปลงไปมาตามบริบท และองค์ประกอบของแต่ละแห่งในแต่ละช่วงเวลา สถานการณ์ที่เกิดขึ้นก็คือผู้หญิงส่วนใหญ่ต้องเสาะหา และเดินทางไปรับบริการไกลบ้าน/ที่พัก นั่นหมายถึงระยะเวลาและค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น การจัดการเงื่อนไขในชีวิตต่าง ๆ ที่อำจทำให้ผู้หญิงจำนวนหนึ่งต้องเลือกทางออกที่ไม่ปลอดภัย เพราะการเข้าถึงบริการยุติการตั้งครรภ์ตามสิทธิสุขภาพของตัวเอง และปลอดภัยกว่านั้นมีต้นทุนและราคาแพงเกินกว่าความสามารถที่จะสามารถจ่ายได้

จากภาพรวมทั่วประเทศ แต่ละเขตพื้นที่สุขภาพมีอัตราการใช้บริการยุติการตั้งครรภ์แตกต่างกัน สูงที่สุดคือกรุงเทพฯ ทั้งในแง่ของการใช้บริการสายด่วน 1663 การเข้ารับบริการยุติกาตั้งครรภ์ ในสถานพยาบาล และเบิกค่าใช้จ่ายกับ สปสช. และจำนวนการเบิกยายุติการตั้งครรภ์จากกรมอนามัย ตัวเลขทั้งสามแสดงให้เห็นการกระจุกตัวของบริการยุติฯ ที่อยู่ในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ ขณะที่ข้อเท็จจริงอีกด้านหนึ่งพบว่ากว่าร้อยละ 77 เป็นการให้บริการของคลินิกเอกชน และองค์กรสาธารณประโยชน์ ไม่ใช่สถานพยาบาลของรัฐแต่อย่างใด

อัตราการใช้บริการในแต่ละเขตพื้นที่สุขภาพยังแสดงให้เห็นถึงภาระงานจัดบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่เท่าเทียมกัน หลายเขตพื้นที่สุขภาพไม่สามารถจัดบริการยุติการตั้งครรภ์ให้ประชากรในพื้นที่ได้ตามความต้องการ และแม้บางพื้นที่จะเป็นเขตพื้นที่อุตสาหกรรมหรือเป็นเขตพื้นที่เศรษฐกิจที่มีหนุ่มสาววัยแรงงานอยู่ในสัดส่วนที่สูงกว่าพื้นที่อื่น ๆ แต่ทว่ามีอัตราการให้บริการยุติการตั้งครรภ์ต่ำกว่าอัตราเฉลี่ย นั่นแสดงว่าแม้การยุติการตั้งครรภ์จะถือเป็นหนึ่งบริการสุขภาพพื้นฐาน และปัจจุบันนี้มีเทคโนโลยีในการให้บริการที่สะดวกและปลอดภัยกับทั้งผู้ให้และผู้รับบริการ แต่ภาครัฐยังไม่สามารถจัดบริการยุติการตั้งครรภ์ให้เกิดขึ้นอย่างถ้วนหน้า และรองรับความต้องการได้ทั่วประเทศ การเดินทางเพื่อรับบริการยุติการตั้งครรภ์ จึงเป็นช่องทางที่ไม่มีทางเลือกของผู้หญิงจำนวนไม่น้อย

3. ท่ามกลางความไม่เท่าเทียมกันของโอกาสในการเข้าถึงบริการยุติการตั้งครรภ์ข้างต้น ภายใต้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ส่งผลให้ความเสี่ยงด้านสุขภาพเป็นปัจจัยอีกประการหนึ่งในการเข้าไม่ถึงบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย แม้กฎหมายจะอนุญาตให้ทำแท้งได้ตามเงื่อนไขที่กำหนด แต่กฎหมายก็ไม่สามารถบังคับให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบด้านสุขภาพจัดบริการยุติการตั้งครรภ์ให้กับผู้ที่ต้องการได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม นอกจากความเหลื่อมล้ำจะทำให้ผู้หญิงเข้าไม่ถึงบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย เสี่ยงเลือกทางเลือกที่อันตรายหรืออาจเกิดผลกระทบด้านสุขภาพแล้ว ภายใต้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ที่ผู้ให้บริการสุขภาพมีเหนือผู้รับบริการ การประเมินความเสี่ยงทางสุขภาพเป็นอำนาจของแพทย์ผู้ให้บริการ ผู้หญิงที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์ไม่อยู่ในสถานะที่สามารถต่อรองความต้องการได้ แม้การยุติการตั้งครรภ์นั้น จะเป็นไปเพื่อลดความเสี่ยงด้านสุขภาพของตัวเอง หรือการตั้งครรภ์นั้นอาจก่อให้เกิดภาระเรื้อรังด้านสุขภาพของลูกในอนาคตก็ตาม

4. แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงกฎหมายอาญาที่เกี่ยวข้องกับการทำแท้งจะกล่าวถึงและให้ความสำคัญกับมุมมองด้านสุขภาพ และเสรีภาพของผู้หญิง แต่มุมมองเชิงศีลธรรมยังคงดำรงอยู่เป็นส่วนหนึ่งในการถกเถียงเรื่องกำรทำแท้งในสังคมไทยเสมอ และเป็นอุปสรรคสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ผู้หญิงเข้าไม่ถึงบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย นอกจากผู้หญิงที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์จะต้องจัดการกับความเชื่อและศาสนาที่นับถือของตัวเองแล้ว ยังต้องเผชิญกับเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการที่ใช้ความเชื่อและศาสนาที่นับถือของตัวเองเป็นเงื่อนไขปฏิเสธบริการ แม้จะเป็นหน้าที่รับผิดชอบในฐานะผู้ให้บริการสุขภาพ

5. ท่ามกลางบริบทและสถานการณ์การยุติการตั้งครรภ์ในสังคมไทย ท่ามกลางการถกเถียงระหว่างทัศนคติ วิธีคิดต่าง ๆ ที่ส่งผลให้ระบบบริการยุติการตั้งครรภ์มีรูปแบบแนวทางที่แตกต่างกันในสถานพยาบาลแต่ละแห่ง แนวคิดเรื่องความเป็นธรรมทางอนามัยเจริญพันธุ์เป็นพลังสำคัญในการผลักดันเรื่องการเข้าถึงบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยให้เกิดขึ้นในสังคมไทยได้โดยเฉพาะในกลุ่ม เจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการสุขภาพในสถานพยาบาลต่าง ๆ และภาคประชาสังคม ที่ทำงานเป็นเครือข่ายเพื่อขับเคลื่อนเรื่องนี้ ดังกรณีที่โรงพยาบาลอำเภอชายแดนแห่งหนึ่งมีการจัดระบบส่งต่อบริการยุติการตั้งครรภ์ไว้แล้ว แต่ต้องยกเลิกไปเพราะสูติแพทย์ที่มาใหม่ ไม่ให้บริการและไม่ส่งต่อ มีเพียงพยาบาลจิตเวชคนเดียวที่เห็นว่าเป็นสิทธิของคนไข้ที่ต้องเข้าถึงบริการ และต้องหาช่องทางต่าง ๆ เพื่อให้ผู้หญิงชาติพันธุ์สามารถเดินทางข้ามด่านเข้าไปรับบริการในตัวจังหวัดได้

ข้อเสนอเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย

ความเหลื่อมล้ำทางโครงสร้างสังคมรูปแบบต่าง ๆ เป็นอุปสรรคสำคัญที่ส่งผลกระทบให้ผู้หญิงท้องไม่พร้อม ไม่สามารถเข้าถึงบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยได้อย่างเท่าเทียมกัน รัฐบาลและองค์กรภาคประชาสังคมต้องทำงานร่วมกัน เพื่อลดผลกระทบของความเหลื่อมสังคมดังกล่ำว และสนับสนุนให้ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยได้อย่างเท่าเทียมถ้วนหน้า ไม่ว่าจะมีสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจแตกต่างกันเพียงใดก็ตาม

1. การลดความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้างที่ตรงเป้าที่สุด คือ การเพิ่มจำนวนสถานบริการให้มากขึ้นและครอบคลุมทุกจังหวัด ปัจจุบันสถานบริการของภาครัฐในระดับอำเภอและจังหวัดจำนวนกว่า 900 แห่ง จัดบริการยุติการตั้งครรภ์ไม่ถึง 1 ใน 10 เท่านั้น กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบต้องเร่งชี้แจงกำหนดนโยบายและแนวทางปฏิบัติในการพัฒนาระบบบริการ และการส่งต่อบริการยุติการตั้งครรภ์ตามที่กฎหมายกำหนดให้ชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษรแก่สถานพยาบาลของรัฐทั่วประเทศเพื่อความชัดเจนในการพัฒนาระบบบริการยุติการตั้งครรภ์ให้เกิดขึ้นได้จริง โดยเฉพาะการบริการตามมาตรา 305(5) เพื่อลดช่องว่างในกลุ่มผู้หญิงที่อายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์ให้มีทางเลือกในการเข้าถึงบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยโดยเร็วที่สุด 

2. การลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับบริการยุติการตั้งครรภ์ โดยภาครัฐต้องประชาสัมพันธ์ข้อมูลที่ครอบคลุมรอบด้านหลากหลายช่องทาง โดยเฉพาะสถานที่ให้บริการที่เป็นปัจจุบัน เพื่อเปิดกว้างให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้เท่าเทียมกัน มีโอกาสในการเลือกและได้รับบริการที่ดีที่สุด ละเอียดอ่อนกับคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดี รายได้น้อย เพื่อลดผลกระทบของความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงบริการยุติการตั้งครรภ์ให้มากที่สุด

3. การลดผลกระทบของความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากความสัมพันธ์เชิงอำนาจและทัศนคติความเชื่อส่วนบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการปฏิเสธให้บริการเพราะความเชื่อ การให้บริการที่มีเงื่อนไขตามบุคลากรทางการแพทย์แ ละการให้บริการที่ขึ้นกับทัศนคติส่วนตัว หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการผลิตบุคลากร และการจัดบริการด้านสุขภาพ และสวัสดิการสังคมทั้งหลาย ควรให้ความสำคัญกับทักษะการทำงานตามจรรยาบรรณวิชาชีพ เหนือทัศนคติความเชื่อส่วนตัว ตามแนวทางขององค์การอนามัยโลก ที่ว่า “Safe abortion is health care, it saves lives” หรือ “การยุติการตั้งครรภ์คือบริการสุขภาพที่ช่วยชีวิตคน”

4. การลดความเหลื่อมล้ำด้วยการทำงานเป็นเครือข่ายบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย โดยสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม เป็นเครือข่ายการทำงานที่สนับสนุนการเข้าถึงบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยอย่างครบวงจร  ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน

รศ.กฤตยา กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาถือว่ากระทรวงสาธารณสุขเพิกเฉยต่อการบังคับใช้กฎหมายที่อนุญาตให้ผู้หญิงยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย มีผู้หญิงจำนวนมากที่ถูกปฏิเสธหรือไม่ส่งต่อ จนเป็นอันตรายที่เสี่ยงถึงชีวิต ภายหลังการเลือกตั้งภาคประชาชนจึงคาดหวังนโยบายสั่งการที่มีความชัดเจน เช่น สถานพยาบาลที่ต้องให้บริการยุติการตั้งครรภ์ถ้าเกิดไม่สามารถให้บริการด้วยเหตุผลไม่มีแพทย์เฉพาะทาง ควรมีกระบวนการส่งต่อที่มีประสิทธิภาพที่จะดูแลผู้ป่วยให้ไปถึงโรงพยาบาลปลายทางอย่างปลอดภัย มีความชัดเจนตามข้อกฎหมายซึ่งมีอนุมาตราต่าง ๆ กับโรงพยาบาล สถานพยาบาลทางเลือกที่จะให้บริการยุติการตั้งครรภ์ เพราะการไม่ส่งต่อถือเป็นความผิดตามกฎหมาย ละเมิดจรรยาบรรณ จริยธรรมทางการแพทย์ ซึ่งคิดว่าเป็นหมุดหมายจะเคลื่อนไหวต่อไปหลังการจัดตั้งรัฐบาล 

“สิ่งแรกที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขควรจะทำในเรื่องนี้ คือการแสดงจุดยืนที่ชัดเจน ว่าบุคคลากรภายใต้สังกัดจะต้องทำตามกฎหมายเสียที ชี้แจงเรื่องหลักปฏิบัติ สิทธิสวัสดิการที่ผู้หญิงท้องไม่พร้อมควรจะได้รับ เลิกพูดเรื่องศีลธรรมแล้วเอากฎหมายเป็นตัวตั้ง สังคมถึงจะเดินหน้าไปได้”

บรรยากาศภายในการแถลงผลการวิจัย ยังได้รับความสนใจจากหน่วยงานด้านสาธารณสุข นักวิชาการ นักกฎหมาย และพรรคการเมือง โดยเห็นตรงกันว่าหลังพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่ 28 ที่แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 301- 305 ซึ่งเป็นมาตราว่าด้วยการทำแท้ง พ.ศ.2564 มีผลบังคับใช้ แต่ผ่านมาแล้ว 2 ปี สิ่งที่ไม่ขยับคือนโยบาย และเบื้องหลังไม่มีความมุ่งมั่นในทางการเมืองให้การดำเนินการตามกฎหมายเกิดขึ้นได้ รวมถึงทัศคติของสังคม หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ผู้ให้บริการ ที่เอาความคิดของตัวเองมาติดสิน ปิดกั้นให้ผู้หญิงจำนวนมากเข้าไม่ถึงสิทธิตามกฎหมาย

ศ.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ทางเลือกยุติการตั้งครรภ์ เป็นทางเลือกที่คนไม่น้อย คิดถึง พิจารณา เลือก ในสถานการณ์ที่สำคัญของชีวิต ซึ่งนโบายสาธารณะของรัฐสมัยใหม่มีผลสำคัญว่าเธอเหล่านั้นจะตัดสินหรือไม่ เช่น การที่รัฐ สังคม ยังตีกรอบว่าเป็นอาชญากรรม ขณะที่รัฐสมัยใหม่จะว่าด้วยสิทธิที่พลเมืองสามารถที่จะเลือกได้ หรือมีตัวช่วยโดยมาตรการ นโยบาย

โดยกฎหมายตั้งแต่ปี 64 ได้ขยายเงื่อนไขให้พลเมืองยุติการตั้งครรภ์ทำได้ แต่การเข้าถึงบริการไม่ขยายตาม หรือเข้าไม่ถึงเช่นในอดีต ขณะที่มุมที่อยากจะให้พิจารณาคือปัจจัยที่ส่งผลต่อปรากฎการณ์ท้องไม่พร้อมในสังคมไทย ความเหลื่อมล้ำที่ทับซ้อนเศรษฐกิจและสังคม เช่น การมองเรื่องเพศสัมพันธ์และความสัมพันธ์ ความเชื่อเรื่องการเจริญพันธุ์ รวมถึงความสามารถในการจัดการร่างกายและการเจริญพันธุ์ของตัวเองที่ไม่เท่ากัน การที่รัฐไม่เพิ่มสถานบริการส่งผลต่อที่มีความสามารถในการเข้าถึงบริการยุติการตั้งครร์ที่ปลอดภัยของคนที่มีความยากจน 

ปัจจัยชุดที่ 2 คือ กฎหมายและนโยบายสาธารณะของรัฐ เช่น การให้การศึกษา ที่ทำให้คนไม่รู้ในเรื่องเพศ การเสริมสร้างความสามารถในการตัดสินใจเรื่องเพศของตัวเอง  การเรียนเพื่อไม่รู้ทำให้คนหลายกลุ่มทำราวกับการเจริญพันธุ์ของตัวเองจัดการไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องรื้อใหม่ทั้งระบบ ทั้งนโยบายสาธารณะและกฎหมาย รวมถึงการให้การศึกษาที่ยังทำให้คนมองโลกอย่างไม่ซับซ้อนยังส่งผลกระทบกับผู้ให้บริการด้านการแพทย์ให้มองโลกแค่ขาว ดำ ไม่เคยพยายามทำให้คนเห็นถึงสถานการณ์ซึ่งหน้า แล้วพอจะพิจารณาว่าเหตุผลในเรื่องความสัมพันธ์ การท้องไม่พร้อมเป็นเรื่องที่ซับซ้อน

“ที่ผ่านมานโยบายสาธารณะทำอยู่  2 อย่าง คือ การจัดสรรบริการสาธารณสุขให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้คน ทำให้ความเหลื่อมล้ำลดลง หรือ การลดตัวความเหลื่อมล้ำเอง ซึ่งที่ผ่านมาพบว่ารัฐไทยไม่เคยทำในทางเลือกที่ 2 เพราะฉะนั้น เราก็ควรทำให้พลเมืองเข้าถึงบริการได้มากที่สุด โดยเฉพาะเรื่องอคติ ตีตรา ต้องมีกระบวนการชวนคิด ชวนมองโลกที่ซัอน มองให้เห็นใจคน ไม่ควรทำให้เป็นเรื่องของการบังคับ” 

ด้าน นพ.พรเพชร ปัญจปิยะกุล ผู้เชี่ยวชาญพัฒนาระบบบริการสุขภาพ อดีตที่ปรึกษา สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุ ถึงการดำรงตำแหน่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธาณสุขที่ผ่านมา ไม่ว่าใครนั่งตำแหน่งนี้ต้องยอมรับว่าการจะแก้เรื่องนี้ค่อนข้างเป็นไปได้ยาก เพราะเป็นนโยบายที่มีผลกระทบต่อเก้าอี้พอสมควร ประกอบกับตัวกฎหมายหลัก พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ยังไม่ปรับตาม และปัจจุบันการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญายังไม่มีเจ้าภาพหลัก ที่น่าจะต้องลงรายละเอียดไปว่าหน่วยบริการทางการแพทย์ ต้องระบุไปถึงระบบกรม เพราะการระบุแค่แพทย์ พยาบาล ไม่พอต้องบอกว่าสังกัดไหนด้วย รวมถึงการปฎิบัติตามมาด้วยเงินสรุปใครต้องจ่าย ซึ่งตามธรรมชาติมี 2 กลไกคือ 1.สั่งผ่านเจ้าของสถานบริการ 2. สั่งผ่านเงิน ใครคือผู้จ่ายเงิน 

พร้อมเสนอว่า การออกอนุบัญญัติควรจะออกมาภายใน 1 ปี หลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ แต่เวลานี้ 2 ปีก็ยังไม่ออก การจัดการระบบจึงยังไม่ออก กระทรวงไหน กรมใดรับผิดชอบวางแผนติดตามยังไม่ปรากฎ เช่น กระทรวงสาธารณสุขจะสามารถกำกับ บริหาร จัดการ ของสถานบริการนอกสังกัดได้หรือไม่ และถ้าจะสนับสนุนให้ตั้งครรภ์การให้คำปรึกษาคนจะตั้งครรภ์ต่อจะมีกลไกอะไรอีก เช่น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน ที่จะกระทบต่อสังคมสูงวัยด้วย 

ขณะที่ก้าวต่อไปในการทวงคืนสิทธิยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยของภาคประชาสังคม มีข้อเสนอในเรื่องของระบบบริการ เช่น สปสช.จัดบริการส่งยาทางไปรษณีย์ในอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ หากมากกว่า 12 สัปดาห์ สปสช.จ่ายค่าเดินทาง เช่นเดียวกับกลุ่มโรคหายากไปที่หน่วยพยาบาลที่มีความพร้อม ขณะที่ความเคลื่อนไหวทางภาคการเมือง จะมีการจับตาการแถลงนโยบายของรัฐบาลในวาระแรก ว่าจะหยิบประเด็นเหล่านี้ขึ้นวิพากษ์วิจารณ์หรือไม่ โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข บทบาทของ ส.ส.ในการตั้งกระทู้ถาม ในสภาฯ เพื่อให้การขับเคลื่อนของภาคประชาสังคมได้รับความสนใจ และถูกแก้ไขเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active