ดูแลพื้นที่ห่างไกลและกลุ่มเปราะบางทางสังคม เร่งขยายโรงพยาบาลในพื้นที่ กทม. 50 เขต ให้บริการมะเร็งแบบครบวงจร สร้างสถานชีวาภิบาล พัฒนาโรงพยาบาลชุมชนแม่ข่ายและชายแดน
วันนี้ (12 ก.ย. 2566) นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงนโยบายกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2567 โดยชูประเด็นการขับเคลื่อนด้านการบริการทางการแพทย์ให้ครอบคลุม พร้อมส่งเสริมงานสุขภาพจิตเพื่อลดช่องว่างการเข้าถึงบริการจิตเวชและยาเสพติดเชื่อมโยงการทํางานทุกภาคส่วน
สำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลยกระดับนโยบายบัตรทอง 30 บาท เพิ่มคุณภาพชีวิตประชาชน นโยบายที่สําคัญ คือ โครงการพระราชดําริฯ ตลอดจนโครงการเฉลิมพระเกียรติที่เกี่ยวเนื่องกับพระบรมวงศานุวงค์ และนโยบายกระทรวงสาธารณสุขอีก 11 เรื่อง โดยมีเป้าหมายเพื่อลดช่องว่างบริการสาธารณสุข 3 ประการ
- การแก้ปัญหาที่สําคัญ ได้แก่ การขยายโรงพยาบาลในพื้นที่ กทม. 50 เขต 50 โรงพยาบาลและปริมณฑล, การส่งเสริมและการพัฒนางานสุขภาพจิตและยาเสพติด, การดูแลผู้ป่วยและการพัฒนาระบบ การให้บริการมะเร็งแบบครบวงจร และการสร้างขวัญกําลังใจบุคลากร
- การวางรากฐาน อาทิ การพัฒนาการแพทย์ปฐมภูมิ, การสาธารณสุขชายแดนและพื้นที่เฉพาะ, สถานชีวาภิบาลและพัฒนาโรงพยาบาลชุมชนแม่ข่าย
- การสร้างเศรษฐกิจ ได้แก่ การพัฒนา ดิจิทัลสุขภาพ, การส่งเสริมการมีบุตร และเศรษฐกิจสุขภาพ
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า หลังการเพิ่มบริการหอผู้ป่วยจิตเวชในทุกโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป ตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2566 ในระยะเวลาเพียงไม่ถึงหนึ่งปีนี้ สามารถช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการจิตเวชในปี 2566 เพิ่มขึ้นได้ถึงประมาณ 15 % โดยเฉพาะการจัดวางกลไกสําคัญในการดูแลผู้ป่วยสารเสพติดและการรักษาผู้ป่วยจิตเวชฉุกเฉินเป็นการบําบัดผู้ป่วยอย่างเข้มข้นจนอาการทุเลาลงแล้วพิจารณาส่งต่ออย่างเหมาะสม ซึ่งขณะนี้ มีหอผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดใน โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปในสังกัดสํานักงานปลัดกระทรวงฯ ครบทุกจังหวัดและโรงพยาบาลในสังกัดกรมสุขภาพจิต ในทั้ง 12 เขตสุขภาพเป็นจํานวนถึง 7,844 เตียง
แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ขณะนี้ บริการหอผู้ป่วยจิตเวชในโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปในสังกัดสํานักงานปลัดกระทรวงฯ รองรับผู้ป่วยได้ถึง 34.3 % และ รพ.จิตเวช ในสังกัดกรมสุขภาพจิตรองรับผู้ป่วย 70.8 % และทุกหน่วยงานจะเร่งเพิ่มเติมการให้จัดบริการ Telepsychiatry ตามนโยบายรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข เพื่อรองรับบริการและเพิ่มพูนคุณภาพสําหรับทุกกลุ่มเป้าหมาย โดยขณะนี้ มีการเริ่มต้นใช้บริการ Telepsychiatry ทั้งสําหรับผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน และกลุ่มญาติหรือผู้ดูแลกว่าสามพันราย ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่มีการเข้ารับบริการในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขใน 5 อันดับคือ
1) ผู้ป่วยยาเสพติดที่มีปัญหาจิตเวช
2) โรคจิตเภท
3) โรคซึมเศร้า
4) โรคสมาธิสั้น
5) พยายามฆ่าตัวตาย
ปัจจุบันกรมสุขภาพจิตเพิ่ม ช่องทางการสํารวจสุขภาพใจตนเองผ่าน application on line คือ DMIND Application ทางไลน์หมอพร้อม และคิวอาร์โค้ด Mental Health Check In (MHCI) เพื่อให้ประชาชนรู้เท่าทันสัญญาณความเสี่ยงภาวะสุขภาพจิตได้ พร้อมคําแนะนําการสื่อสารและการบริการ ปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมงอีกด้วย
กรมสุขภาพจิตพร้อมสนันสนุนการขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพกายและใจแข็งแรง ครอบคลุม ทั่วถึง เท่าเทียม เป็นกําลังสําคัญแก่ประเทศชาติในการสร้างสังคมเศษฐกิจมูลค่าสูง กระทรวงสาธารณสุขพร้อมยกระดับนโยบายบัตรทอง 30 บาทเพิ่มคุณภาพชีวิตประชาชน