ชู Quick Win “บัตรประชาชนรักษาทุกที่” ทำได้จริงใน 100 วันแรก

“หมอชลน่าน” ประชุมผู้บริหารนัดพิเศษ ชี้แจง 12 ประเด็นนโยบาย  เดินหน้า เห็นผลใน 100 วัน ขณะที่ 7 จังหวัดในเขตสุขภาพที่ 8 เริ่มนำร่องใช้บัตรประชาชนรักษาทุกที่แล้ว

วันนี้ (15 ก.ย. 2566) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าว่าใน 100 วันแรก กระทวงสาธารณสุขและหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง จะร่วมกันผลักดันนโยบายเรื่องต่าง ๆ ให้เห็น Quick Win ที่เป็นรูปธรรมขณะเดียวกันก็จะไม่ละเลยการดูแลบุคลากรสาธารณสุขทุกคน เพราะเชื่อว่า เมื่อผู้ให้บริการมีความสุข ย่อมส่งผลถึงประชาชนผู้รับบริการด้วยเช่นกัน และหวังว่าเราจะมีระบบสาธารณสุขที่เหมาะสมสำหรับทุกคน

สำหรับการขับเคลื่อนงานของกระทรวงสาธารณสุข จะน้อมนำและพัฒนางานสาธารณสุขตามแนวพระราชดำริและโครงการเฉลิมพระเกียรติของพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ และ ยกระดับ 30 บาทพลัส ที่ครอบคลุมการดูแลสุขภาพในทุกมิติ ทั้งการส่งเสริม ป้องกัน รักษา และฟื้นฟูสุขภาพ เพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีของคนไทย ผ่านนโยบาย 12 ประเด็น ได้แก่ 1.โรงพยาบาล กทม. 50 เขต 50 โรงพยาบาล และปริมณฑล2.สุขภาพจิต/ยาเสพติด 3.มะเร็งครบวงจร 4.สร้างขวัญกำลังใจบุคลากร 5.การแพทย์ปฐมภูมิ 6.สาธารณสุขชายแดนและพื้นที่เฉพาะ 7.สถานชีวาภิบาล 8.พัฒนาโรงพยาบาลชุมชนแม่ข่าย 9.ดิจิทัลสุขภาพ 10.ส่งเสริมการมีบุตร 11.เศรษฐกิจสุขภาพ และ 12.นักท่องเที่ยวปลอดภัย 

ปักธง บัตรประชาชนรักษาทุกที่ เป็น นโยบาย Quick Win ทำได้ทันที 

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ระบุว่า บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่ เชื่อว่าเป็น Quick Win ที่สามารถทำได้รวดเร็ว หลังเทคโนโลยีมีความพร้อม-นำร่องบางส่วนมาแล้ว ยืนยันไม่กังวลประชาชนมุ่งเข้ารับบริการ โรงพยาบาลใหญ่ ต่อไปจะเกิดความสมดุลจากหน่วยบริการใกล้บ้านที่ถูกยกระดับมากขึ้น โดยจากข้อมูลย้อนหลังพบว่ามีประชาชนที่เข้ารับบริการนอกเขตจังหวัดประมาณ 20% หรือที่ออกไปนอกเขตสุขภาพเลยนั้นมีเพียง 4%

นพ.จเด็จ กล่าวว่า ในส่วนของฐานข้อมูลที่ต่อไปจะขึ้นไปอยู่ในระบบคลาวด์ เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ง่ายนั้น ปัจจุบันก็มีความพร้อมในด้านเทคโนโลยีอยู่แล้ว รวมทั้งองค์ประกอบอื่น ๆ เช่น ความปลอดภัยของข้อมูล การละเมิดสิทธิผู้ป่วย ฯลฯ เชื่อว่าประเด็นเหล่านี้สามารถจัดการได้ทั้งหมด รอเพียงความชัดเจนทางนโยบายเพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนให้สำเร็จได้ในเร็ววัน ขณะเดียวกันก็เชื่อว่าการเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีระบบคลาวด์ ยังอาจช่วยให้ค่าใช้จ่ายนั้นถูกลงจากระบบที่ใช้อยู่เดิม

นพ.จเด็จ ยังกล่าวอีกว่า สำหรับบทบาทของหมอครอบครัว ยังเชื่อว่าจะมีความโดดเด่นมากยิ่งขึ้นจากทิศทางของนโยบายที่มุ่งเน้นไปยังบริการปฐมภูมิ ตั้งแต่การส่งเสริมป้องกัน ไปถึงการรักษาโรคในเบื้องต้น ดังนั้นจึงแน่นอนว่าหมอครอบครัวจะมีบทบาทมากขึ้น ไม่ใช่น้อยลง ส่วนแพทย์ในโรงพยาบาลก็จะมีภาระงานที่ลดลงจากบริการต่างๆ ทั้งการรับยาใกล้บ้าน ส่งยาทางไปรษณีย์ หรือการเจาะเลือดตรวจแล็บใกล้บ้านจึงเชื่อว่านโยบายต่างๆ ที่ถูกคิดออกมานั้นมีความรอบคอบ ในการสร้างสมดุลระหว่างภาระงานของบุคลากร กับบริการที่ประชาชนจะได้รับ

บัตรประชาชนรักษาทุกที่ เริ่มแล้ว 7 จังหวัด เขตสุขภาพที่ 8

นพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 8 กล่าวว่า เขตสุขภาพที่ 8 ซึ่งประกอบด้วย 7 จังหวัด คือ อุดรธานี สกลนคร นครพนม เลยหนองคาย หนองบัวลำภู และบึงกาฬ เป็นเขตที่นำร่องนโยบายยกระดับ 30 บาท ด้วยการใช้บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ ซึ่งทำระบบข้อมูลของผู้ป่วยอัพโหลดไว้ในระบบคลาวด์ (Cloud) ข้อมูลจึงเชื่อมกันทั้งหมด จะทำให้ผู้ที่ได้รับอนุญาตสามารถเข้าถึงข้อมูลได้เหมือนกันทั้ง 88 แห่ง  เมื่อคนไข้ไปรับบริการที่โรงพยาบาลใดแพทย์ก็สามารถดูข้อมูลและประวัติการรักษาของคนไข้ในโรงพยาบาลอื่นได้  เป็นการแก้ปัญหาการต้องไปเอาใบส่งตัว ซึ่งทำให้ประชาชนไม่สะดวก เราทำเพื่อตอบโจทย์ประชาชน และอนาคตก็จะพัฒนาเชื่อมข้อมูลกับสถานพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ที่อยู่ในกรมอื่นด้วย เช่น ศูนย์มะเร็ง หรือโรงพยาบาลจิตเวช เป็นต้น

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active