ชำแหละนโยบายสาธารณสุข ก่อน “หมอชลน่าน” แถลง 22 ก.ย.นี้

Policy Forum ชี้นโยบายด้านสาธารณสุข เดิมพันใหญ่พรรคเพื่อไทย หากปฐมภูมิไม่เข้มแข็ง รักษาทุกที่ทำไม่ได้จริง ห่วงคนไข้กระจุกตัว รพ.ใหญ่ แนะผลิตหมอครอบครัวประจำ รพ.สต. 

วันนี้ (20 ก.ย. 2566)  ไทยพีบีเอส ร่วมกับ สภาองค์กรของผู้บริโภค จัดเวที Policy Forum ครั้งที่ 1: นโยบายด้านสาธารณสุข หลังติดตามนโยบายของพรรคการเมือง จนมีการแถลงนโยบายต่อสภา และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีกำหนดการแถลงนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขในวันที่ 22 ก.ย. 2566 จึงเป็นจังหวะเวลาที่เหมาะสมที่ ผู้มีส่วนได้เสียจะได้นำเสนอ ร่วมแสดงความคิดเห็น ตังข้อสังเกตและข้อเสนอ ต่อนโนยบายสาธารณสุขในด้านต่างๆ

นิมิตร์ เทียนอุดม รองประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่าถ้าจะยกระดับบัตรทอง 30 บาท 1.ต้องเพิ่มอำนาจ สปสช. ดูแลคนที่ไม่มีสัญชาติไทยได้ด้วย แก้มาตรา 5 ใน พ.ร.บ. สปสช. ซึ่งถูกตีความไว้เฉพาะคนไทย ควรขยายไปถึงกลุ่มแรงงานข้ามชาติ และนับเป็นโอกาสสร้างเศรษฐกิจสุขภาพได้เนื่องจากรัฐพูดถึงการหารายได้ จึงเสนอให้สปสช.ขายประกันให้กับคนต่างชาติทุกประเภททั้งนักท่องเที่ยว และแรงงานข้ามชาติ เท่ากัน เพื่อสร้างสมดุล ลดความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพของแรงงานข้ามชาติ และสามารถจัดเก็บรายได้เข้าประเทศไปพร้อมกัน  

2.นับตั้งแต่วันแรกที่ พ.ร.บ.สปสช. ประกาศใช้มีเจตนารมณ์ให้ 3 กองทุนสุขภาพเกิดความเท่าเทียมกัน จึงระบุไว้ใน มาตรา 9,10,11 ให้กองทุนประกันสังคม และกรมบัญชีกลาง มาร่วมคุยกัน ซึ่งเวลานี้บัตรทอง 30 บาทสิทธิประโยชน์ไม่ด้อยไปกว่าราชการเลย รักษามะเร็งได้ทุกที ดูแลไตวาย แก้ปัญหายาแพง ควรมีการยกระดับให้ 3 กองทุนเท่ากัน คาดว่าจะเป็นหนึ่งในบทบาทของคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพ หรือซุปเปอร์บอร์ดสุขภาพ ที่ต้องอาศัยนายกรัฐมนตรีนั่งหัวโต๊ะตัดสินใจนโยบายที่เกี่ยวพันหลายกระทรวง 

“ทั้ง 12 นโยบายเป็นการตั้งต้นที่ดี เช่น 50 เขต 50 รพ. กทม.จะขันน็อตที่ใครกทม. หรือ กระทรวงสาธารณสุข เรื่องถัดมา 30 บาทรักษาทุกที่ ต้องประกาศห้ามทุก รพ.เรียกเก็บส่วนต่าง ขอให้จัดการเรื่องนี้อย่างจริงจัง ต้องไปได้ทุกที่ ยามีคุณภาพเหมือนกัน” 

นิมิตร์ กล่าว

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่าร่างนโยบายกระทรวงสาธารณสุข 12 ข้อที่ปรากฏผ่านสื่อเป็นทิศที่ดี แต่ต้องลงรายละเอียด ทั้งนี้ 4 ปีที่ผ่านมาก็ยุ่งอยู่กับ 2 เรื่องคือโควิด กับ กัญชา  และท่ามกลางความคาดหวังของผู้คน พรรคเพื่อไทยก็หาเสียงไว้ชัดเรื่องยกระดับบัตรทอง 30 บาท ซึ่งส่วนใหญ่คนจนก็ใช้มาก ฝันอยากเห็นบัตรทองไปได้ทุกที่ แต่มันก็ยากมาก ว่าจะได้จริงไหม เพราะผู้ป่วยยังล้น รพ.ใหญ่ ผู้ป่วยในนอนมาถึงหน้าลิฟต์ ผู้ป่วยนอกก็รับคิวเช้า เย็นกลับ บางเคสส่งต่อไปหาหมอที่อื่นก็ไปไม่ไหว ปัญหาเหล่านี้คือความยากในระบบ 

“บัตรทองรักษาทุกที่มีโอกาสเกิดจริง แต่มันจะเกิดความปั่นป่วนมั้ย โรงพยาบาลจังหวัดจะเต็ม โรงพยาบาลชุมชนจะว่างงาน รพ.สต.ไม่มีคนไปใช้ เพราะชาวบ้านก็ต้องรู้สึกว่าโรงพยาบาลอย่างรามาธิบดี ดีกว่า เราจะทำอย่างไร, ในร่างนโยบายนี้ก็เขียนว่าการแพทย์ปฐมภูมิ ถ้าวางแผนได้ดีจริงจะช่วยได้ ไม่ว่าจะการพัฒนาโรงพยาบาลชุมชนแม่ข่าย, 50 เขต รพ.กทม.การใช้เทคโนโลยี” นพ.สุภัทร ระบุ

หากปฐมภูมิไม่เข้มแข็ง รักษาไม่ได้ทุกที่ 

พญ.สุพัตรา ศรีวณิชชากร ประธานราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ยกระดับบัตรทอง 30 บาท การวางรากฐาน และพัฒนาการแพทย์ปฐมภูมิเป็นสิ่งสำคัญมาก ตลอด 20 ปีที่ผ่านมางบประมาณที่ลงไปปฐมภูมิยังมีน้อยเมื่อเทียบการจัดสรรให้ รพ.เฉพาะทาง งบฯ งานส่งเสริมป้องกันลงไปไม่เยอะมาก อีกประเด็นคือการจัดสรรกำลังคนที่ไปอยู่ฐานรากปฐมภูมิเพิ่มขึ้นนิดเดียว มองว่าควรมีการวางสมดุลที่ดี ระหว่างฐานราก กับการรักษาเฉพาะทางอย่างไรก็ตามถ้าวางฐานรากหน่วยบริการปฐมภูมิดี เรื่องชีวาบาล สุขภาพจิต ก็อุดช่องโหว่ได้หมด

“ฐานรากคือเรื่องคน พบว่านโยบายการจัดสรรหมอไปชนบทน้อย เสนอว่าควรมีหมอครอบครัวไปอยู่ รพ.สต. ต้องมีระบบสนับสนุน ค่าตอบแทน เครื่องมือเท่ากับหน่วยเฉพาะทางไม่ต่างกัน ขณะนี้งบประมาณจะถูกทอนไประหว่างทางไปเยอะจำเป็นต้องมีเม็ดเงินที่ชัดเจนในงานปฐมภูมิมากกว่านี้” พญ.สุพัตรา กล่าว

บัตรทองรักษาทุกที่เดิมพันพรรคเพื่อไทย 

ขณะที่ รศ.ธนพร ศรียากูล กรรมการการกระจายอำนาจให้แก่อปท.และอนุกรรมการกระจายอำนาจด้านสาธารณสุข กล่าวว่า ในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา นโยบายด้านสาธารณสุขเป็นสิ่งที่พรรคฝ่ายค้านอย่างก้าวไกลอภิปรายน้อยที่สุด และเป็นจุดเด่นของพรรคเพื่อไทยซึ่งถือเป็นเดิมพันที่ต้องทำให้บัตรทองรักษาทุกที่ทำได้จริง อาจเป็นผลงานชิ้นสำคัญที่ทำให้ชนะการเลือกตั้งครั้งต่อไป

ทั้งนี้เห็นด้วยกับแนวคิดของ สันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่บอกว่าควรต้องมีกำลังแพทย์ และทันตแพทย์ใน รพ.สต. คิดว่าศัยภาพทางการคลังทำได้ในมุมของคณะกรรมการกระจายอำนาจ แต่ต้องการความเชื่อมโยงระบบบริการ การเงินต้องเคลียร์กับ สปสช. แต่ก็ยังเป็นห่วงว่าบัตรประชาชนรักษาทุกที่มีแนวโน้มจะทำให้ผู้ป่วยเกิดการกระจุกตัว ในหน่วยบริการขนาดใหญ่กว่า รพ.สต. ซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำระหว่างหน่วยบริการ 

ดังนั้นจึงต้องยกระดับ รพ.สต. ให้ประชาชนเชื่อมั่นมาใช้บริการ หลังจากการถ่ายโอนมาอยู่กับ อบจ. ทั้งนี้สถานภาพของ รพ.สต.ก็คือหน่วยบริการตามพ.ร.บ.สุขภาพ หากมีปัญหาเรื่องระเบียบยิบย่อย เช่นการเบิกเงินต่างกระทรวงเรื่องนี้แก้ง่ายมาก ประธานกระจายอำนาจ ก็พรรคเพื่อไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ก็พรรคเพื่อไทย รัฐมมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พรรคภูมิใจไทย ก็เคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยกตัวอย่างเช่น ฉ.11 ห้ามจ่ายเงินข้ามกระทรวง เป็นปัญหาก็จริง แต่เป็นระเบียบที่แก้ได้ภายใต้ฝ่ายบริหาร

“นายก อบจ.ต้องแสดงศักยภาพว่าผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง สู้เพื่อประโยชน์ของ ปชช. มากกว่าผู้ว่า นี่คือบทพิสูจน์เรื่องระบบสุขภาพที่ถ่ายโอน เป็นโอกาสที่จะแสดงให้เห็นประโยชน์ของการกระจายอำนาจ” 

รศ.ธนพร กล่าว

ด้าน นิมิตร กล่าวเสริมว่า ระหว่างที่ยังแก้ระเบียบไม่ได้ บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที *เฉพาะหน่วยบริการปฐมภูมิ  คงต้องบอกกับประชาชนว่าถ้ารพ.สต.ไหนถ่ายโอนไปแล้วยังไม่พร้อมให้บริการให้ข้ามไป โรงพยาบาลชุมชนหรือ ไป โรงพยาบาลศูนย์เลย

“โจทย์สำคัญสำหรับคนวางนโยบายบัตรทองรักษาทุกที่คือ ไปรักษาที่ไหนก็เหมือนกัน จะทำอย่างไร คำตอบคือ โรงพยาบาลเล็กต้องใหญ่ขึ้น สนับสนุนกำลังคน ศักยภาพ และงบประมาณ​ จึงจะทำให้ไปรักษาที่ไหนก็เหมือนกัน เป็นจริงได้ นี่คือวิสัยทัศน์ที่ใหญ่มาก”

นิมิตร กล่าว


ขณะที่ นพ.สุภัทร กล่าวด้วยว่า เราต้องให้สิทธิ์เขาไปทุกที่ก็จริง แต่เขาไม่อยากไปรักษาไกล อยากรักษาใกล้บ้าน แล้วจะพัฒนาการแพทย์ใกล้บ้านให้ดีได้อย่างไรจนเขาไม่อยากรักษาที่อื่น เพราะระบบดีกว่า เชื่อมั่นได้มากว่า นับเป็นความท้าทายของพรรคเพื่อไทย 

“ที่น่าเป็นห่วงที่ความสามารถของ อบจ.ในปัจจุบัน ที่จะดูแล รพ.สต. ให้มีคุณภาพ ประสานงานกับ สาธารณสุข เพราะตอนนี้มันรู้สึกว่าเป็นคนละพวกกันเป็นเรื่องของอารมย์ความรู้สึก มันก็น่าจะเป็นโอกาสที่ดีรัฐมนตรีมหาดไทย เคยเป็นรัฐมนตรีสาธารณสุขมาก่อน”

ถามหาจุดยืน “กัญชา” จากหมอชลน่าน  

ผศ.นพ.สมิทธิ์ ศรีสนธิ์ กรรมการแพทยสภา และนายกสมาคมแพทย์นิติเวชแห่งประเทศไทย กล่าวว่า  หลังกัญชาเสรีเมื่อกลางปี 2565 ประกาศกระทรวงสาธารณสุขทำให้กัญชาถูกใช้มากกว่าการแพทย์ ตอนนี้เราปลดล็อกมาปีกว่า ๆ มีคนปลูกไปเยอะ แต่ก็เสนอว่าควรดึงกัญชากลับเป็นยาเสพติด ซึ่งมีบทเฉพาะกาล เพื่อดำเนินการ หากใครเปิดร้านกัญชาเพื่อการแพทย์ ต้องมีการจดทะเบียน 

“ผมได้คุยตอนที่ หมอชลน่านมาที่แพทยสภา ยืนยันว่ากัชาจะเพื่อการแพทย์เท่านั้น ผมก็ยืนยันว่าถ้าไม่กลับเป็นยาเสพติด หมอชลน่านบอกจะเอาเฉพาะช่อดอกกลับเป็นยาเสพติด แต่ในทางปฏิบัติค่อนข้างยาก เพราะปลูกทั้งต้นแล้วจะตัดช่อดอกทิ้ง ทั้งต้นไม่ใช่ยาเสพติด แต่พอมีดอกต้องตัดทิ้ง ก็ยังเหมือนเดิมตามร้านทุกที่ท่องเที่ยวเต็มไปด้วยกัญชาสันนนาการ มันเป็นอีกนโยบายหนึ่งได้คือ สุขภาพจิต เพราะกัญชาทำให้คนป่ายจิตเพิ่มขึ้น ลองถามหมอจิตแพทย์ทั่วไทยเคสที่เพิ่มมาจากกัญชา เพราะฉะนั้นถ้าแก้ตรงนี้ก็ช่วยเรื่องปัญหาสุขภาพจิตไปด้วย” นพ.สมิทธิ์ กล่าว

ส่วนกรณี ส่วนการรากฐานผลิตหมอครอบครัว เบื้องต้น 9800 ตำบล โรงเรียนแพทย์ต้องมีทิศทางผลิตหมอครอบครัวเพื่อ รพ.สต. นั้น นพ.สมิทธิ์บอกว่า ทำได้เพราะว่า รมว.สธ. เป็นสภานายกพิเศษ ในแพทยสภา สามารถคุยกับแพทยสภาได้โดยตรง เพราะแพทยสภาคุมเรื่องนี้ อาจจะต้องมีโคว้ตาในเรื่องนี้เลย 

Policy Watch จับตาอนาคตประเทศไทย 

ไทยพีบีเอสได้จัดทำโครงการจับตาอนาคตประเทศไทยหลังการเลือกตั้ง หรือ Policy Watch เพื่อให้เกิดมีส่วนร่วมและความยั่งยืนในการกำหนดนโยบาย และจะมีการทำเวทีนโยบาย หรือ Policy Forum กับทุกนโยบาย ผู้มีส่วนได้เสียจะได้นำเสนอ ร่วมแสดงความคิดเห็น ตังข้อสังเกตและข้อเสนอ ต่อนโยบายในด้านต่าง ๆ 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active