สพฉ. แจงยุบ 1669 จ่อพัฒนาให้เป็นระบบดิจิทัลรองรับ 30 บาทรักษาทุกโรค

ระบุยังเป็นแค่แนวทาง รอแผนงานจากรัฐบาล และ สตช. วาง 191 เป็นหมายเลขฉุกเฉินแห่งชาติระบบเดียว ขอประชาชนอย่ากังวลว่าจะเกิดความล่าช้า เชื่อจะมีประสิทธิภาพมากกว่า เผยที่ผ่านมามีคนโทรก่อกวน 1669 มากกว่า 2 ใน 3 ของสายที่โทรมาทั้งหมด 

วันที่ 3 ต.ค. 2566 ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา  เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวถึงกรณีมีกระแสข่าวการยกเลิกหมายเลข 1669 และจะรวมสายฉุกเฉินไว้เป็นหมายเลขเดียว โดยใช้หมายเลข 191 ว่าประเด็นการควบรวมสายฉุกเฉินเป็นหมายเลขเดียวนั้น จริง ๆ แล้วไม่ใช่เรื่องที่ สพฉ. เป็นผู้กำหนดนโยบาย แต่เป็นมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2561 ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการหารือร่วมกันหลายหน่วยงานและ ครม. ได้มอบให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นเจ้าภาพ โดยได้รับงบประมาณจาก กสทช. ที่จะไปวางแผนการดำเนินการโดยใช้หมายเลข 191 เป็นหมายเลขฉุกเฉินแห่งชาติ เหมือนกับต่างประเทศที่ใช้หมายเลขเดียวเช่น 911 หรือ 112 โดยมีเป้าหมายที่จะทำให้การแจ้งเหตุฉุกเฉินของประชาชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นระบบเดียวกัน ซึ่งที่ผ่านมาประชาชนอาจจะมีความไม่สะดวกเนื่องจากมีหมายเลขฉุกเฉินหลายเบอร์ทั้งตำรวจ การแพทย์ฉุกเฉิน และดับเพลิงกู้ภัย

ร.อ.นพ.อัจฉริยะ  กล่าวอีกว่า กรณีที่มีความกังวลจากประชาชน ว่าถ้าหากเกิดขึ้นได้จริงและมีการเปลี่ยนแปลงไปแล้ว รูปแบบการแจ้งเหตุจะเป็นอย่างไรนั้น ในแนวทางคือการโทรแจ้งจะไปยังศูนย์รับแจ้ง 191 เจ้าหน้าที่จะทำการรับสายและกรองเรื่องว่าเป็นเหตุใด จากนั้นจะบันทึกข้อมูลและส่งสายต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยที่ผู้แจ้งไม่จำเป็นต้องวางสาย 

นอกจากนี้ ในอนาคตการโทรแจ้งเหตุน่าจะกลายเป็นในรูปแบบดิจิทัลทั้งหมดซึ่งข้อดีคือศูนย์รับแจ้งเหตุจะสามารถทราบถึงพิกัดที่อยู่ของผู้แจ้งได้ทันที ลดระยะเวลาของการสอบถามที่อยู่ซึ่งแต่เดิมอาจใช้เวลามากกว่า 2 นาที เมื่อมีการรวมศูนย์การรับแจ้งเหตุเป็นหมายเลขเดียวหากเป็นเหตุฉุกเฉินที่ต้องมีหลายหน่วยลงไปที่เกิดเหตุ เช่น เหตุตึกถล่ม มีทั้งคนเจ็บคนตาย ศูนย์ฯ ก็สามารถสั่งการให้ตำรวจ หน่วยแพทย์ฉุกเฉิน และดับเพลิงกู้ภัย รับทราบและไปยังที่เกิดเหตุพร้อม ๆ กันได้อย่างรวดเร็ว 

ในปีที่ผ่านมามีการโทรเข้ามาที่สายด่วน 1669 ประมาณ 6 ล้านครั้งต่อปี ในจำนวนนี้เป็นสายก่อกวน หรือสายที่ไม่เกี่ยวข้อง กว่า 4 ล้านครั้งหรือ 2 ใน 3 หากมีศูนย์รับสายฉุกเฉินเป็นผู้คัดกรองก่อนโอนสายมายังระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ก็น่าจะช่วยให้การทำงานของศูนย์ปฏิบัติการอำนวยการแพทย์ฉุกเฉินทำงานได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 

ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา

“ทั้งหมดนี้ ยังถือเป็นแค่แนวทาง ต้องรอแผนการดำเนินงานจากรัฐบาลและจากทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อย่างไรก็ตาม ทาง สพฉ. กำลังเร่งพัฒนาระบบการรับแจ้งเหตุฉุกเฉินทางการแพทย์ให้เป็นระบบดิจิทัล รองรับการเชื่อมโยงกับหมายเลขฉุกเฉินแห่งชาติ เพื่อพัฒนาและยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรคตามนโยบาลของรัฐบาล” 

เลขาธิการ สพฉ. กล่าว

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active