ชี้เป้า เว็บ-แอปพลิเคชัน รับปรึกษาฟังปัญหาทุกเรื่องราว

พบทีมจิตแพทย์และนักจิตวิทยาออนไลน์ ร่วมสร้างพื้นที่ปลอดภัย สำหรับเยาวชน และคนทั่วไป อายุตั้งแต่ 12 ปี ที่รู้สึกเครียด ทุกข์ใจ รับฟังโดยไม่ตัดสิน พร้อมเผยสัญญาณเตือนความรุนแรง

วันนี้ (6 ต.ค. 2566) จากแนวโน้มจำนวนผู้มีปัญหาสุขภาพจิตที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่การเข้าถ้าระบบบริการด้านสุขภาพจิตยังไม่ครอบคลุม รวมถึงเหตุการณ์เยาวชนก่อเหตุกราดยิง วันที่ 3 ต.ค. 2566  The Active ขอแนะนำบริการให้คำแนะนำผ่านโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน จากแอปพลิเคชั่น และเว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้สะดวกดาวน์โหลดฟรี ทั้งระบบ Android และ iOS ดังนี้ 

1. ooca อาสาเยียวยาใจฟรี

สำหรับทุกท่านที่ได้รับผลกระทบหรือประสบกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น สามารถเข้ารับการปรึกษาเพื่อพูดคุยกับทีมจิตแพทย์และนักจิตวิทยาออนไลน์ผ่านทางแอปพลิเคชัน ooca

เพียงพิมพ์ข้อความ “PrayforParagon” ส่งมาทาง Inbox ที่เพจอูก้า ทางทีมงานอูก้าจะรีบดำเนินการเพื่อให้ทุกท่านได้พูดคุยกับผู้ให้คำปรึกษาได้อย่างรวดเร็วที่สุดฟรีตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2566 อูก้ารอรับฟังและดูแลหัวใจของทุกท่านมีการสูญเสียและได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ ขอส่งกำลังใจทุกท่านเสมอ

2. Sati App (สติ แอปพลิเคชัน) 

แอปพลิเคชันสติใช้หลักการทำงาน 3 ข้อ คือ Care ใส่ใจผู้ป่วย Connect ช่วยเหลือด้วยความเข้าใจ และ Communicate สื่อสารและรับฟังด้วยความเข้าใจดังนั้น Sati App จึงเสมือน Call Center ที่เชื่อมต่อไปยังผู้รับฟังอาสาซึ่งผ่านการอบรมเรื่องการฟังด้วยใจมาแล้ว โดยสามารถเลือกพูดคุยได้ทั้งภาคภาษาไทยและภาษาอังกฤษ หลังจากวางสาย ระบบยังมีการถามคำถามเพิ่มเติม เป็นต้นว่า “คุณรู้สึกอย่างไร ผู้รับฟังให้ความช่วยเหลือคุณได้ไหม และต้องการให้ระบบช่วยติดตามภายใน 24 ชั่วโมงหรือไม่อย่างไร”

สำหรับเด็ก เยาวชน และคนทั่วไป อายุตั้งแต่ 12 ปี ที่รู้สึกเครียด ทุกข์ใจ รู้สึกอยากทำร้ายตนเองหรือไม่อยากมีชีวิตอยู่ และท่านต้องการใครสักคนที่จะรับฟังโดยไม่ตัดสินคุณ ทั้งนี้ เมื่อติดตั้งแอพพลิเคชั่นแล้วติดต่อ จะมีการเชื่อมระหว่างผู้ขอรับคำปรึกษากับจิตอาสาของเราที่ได้ผ่านการอบรมการฟังด้วยใจ 

3. www.lovecarestation.com 

“โครงการเลิฟแคร์สเตชัน” เปิดพื้นที่ให้คำปรึกษาเด็กและเยาวชนในระบบออนไลน์ บนเว็บไซต์ www.lovecarestation.com รวมถึง Facebook Messenger และ Line OA โดยมีการให้คำปรึกษาทุกปัญหาที่เจอในชีวิตเด็กและเยาวชน มีเจ้าหน้าที่ทั้ง จิตแพทย์ นักจิตวิทยา และผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการอบรม เป็นผู้ดูแลให้คำปรึกษา โดยไม่มีการเปิดเผยตัวตน ชื่อ ใบหน้าของผู้ที่เข้ามาใช้บริการเลย ซึ่งทำให้เลิฟแคร์สเตชันเป็น “พื้นที่ปลอดภัยและเป็นมิตร” ให้เข้ามาพูดคุยอย่างสบายใจ ทำให้เขากล้าที่จะบอกเล่าความรู้สึก ระบายความในใจ บอกถึงปัญหาที่กำลังเผชิญได้อย่างไม่มีกำแพงกั้น ซึ่งเราเชื่อว่าการให้คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ จะส่งผลให้เด็กและเยาวชนสามารถตัดสินใจด้วยตัวเองอย่างมีประสิทธิภาพ

โดยแพลตฟอร์มนี้สามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมแก้ปัญหาสุขภาวะด้วยการบริจาค ผ่านเว็บไซต์เทใจดอทคอม https://taejai.com/th/d/lovecarestation_ch/ ซึ่งจะกลายเป็นส่วนหนึ่งในการปกป้องเด็กและเยาวชน หยิบยื่นคุณภาพชีวิตที่ดี ให้พวกเขาได้มีโอกาสเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ ร่วมพัฒนาสังคมไทยของเราอย่างยั่งยืนต่อไป

จับสัญญาณเตือน ความรุนแรง

ข้อมูลจากแบบสังเกตผู้ป่วยจิตเวชที่มีความเสี่ยงต่อการก่อความรุนแรง โดยกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข มีสัญญาณเตือน ได้แก่ 

  1. ขีดข่วน หรือ กรีดตัวเองเป็นรอยแผล 
  2. ส่งเสียงดังหรือตะโกนด่าผู้อื่นด้วยคำหยาบคายรุนแรง 
  3. ข่มขู่จะทำร้ายผู้อื่น 
  4. ทำร้ายผู้อื่นจนได้รับบาดเจ็บ 
  5. พกพาหรือสะสมอาวุธโดยไม่สมเหตุสมผล  
  6. ทำลายสิ่งของจนแตกหัก 

หากพบสัญญาณตั้งแต่ 1 ข้อขึ้นไป หมายถึง เขามีความเสี่ยงต่อการก่อความรุนแรง โดยคนใกล้ชิดไม่ควรมองข้าม หรือแม้กระทั่ง นอนน้อย นอนดึก นอนไม่พอ กินเยอะ กินน้อย กว่าปกติ อันนี้เป็นสิ่งที่คนใกล้ชิดสังเกตง่ายที่สุด

ทั้งนี้ พ่อแม่ ครู เพื่อนทั้งออฟไลน์ และ ออนไลน์ ควรร่วมกันสังเกตพฤติกรรมคนที่เราใกล้ชิด ถ้าพบเห็นหรือตั้งข้อสงสัยไม่สบายใจ ว่าลูกเรา เพื่อนเรา น้องเรา ลูกศิษย์เรา ทำไมมีพฤติกรรมที่เรารู้สึกเป็นห่วง หรือ ถ้ารู้สึกได้ว่าเขามีความผิดปกติต่างไปจากเด็กวัยเดียวกัน ไม่ควรมองข้าม เราสามารถขอรับคำปรึกษาจากหน่วยบริการสุขภาพจิต หรือสามารถขอรับคำปรึกษากับทุกช่องทางออนไลน์ที่ได้แนะนำไปข้างต้น 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active