นายกฯ เป็นประธานที่ประชุม 24 ต.ค.นี้ เคาะนำร่องบัตประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ทุกโรงพยาบาล 4 เขตสุขภาพ + 4 จังหวัด ทุกเครือข่ายโรงพยาบาลทั้งในและนอกสังกัด พร้อมเชื่อมโยงฐานข้อมูลรองรับการดำเนินงาน
วันนี้ (20 ต.ค. 2566) นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการ Quick Win (แผนปฏิบัติการเร่งรัด) ยุคเปลี่ยนผ่าน “ก้าวสู่ระบบสุขภาพปฐมภูมิที่มีคุณภาพ 30 บาท รักษาทุกโรคยุคใหม่” โดยมี นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข คณะผู้บริหาร สาธารณสุขอำเภอ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม 900 คน
นายแพทย์ชลน่าน กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้ประกาศนำร่องบัตรประชาชนรักษาทุกที่ใน 4 เขตสุขภาพ ได้แก่ เขตสุขภาพที่ 1, 4, 9 และ 12 ซึ่งมีความพร้อมที่จะดำเนินการในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่ง อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดการดำเนินการที่ครอบคลุมทุกเครือข่ายมากยิ่งขึ้น ในการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ วันที่ 24 ตุลาคม 2566 ที่มี เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานนอกจากจะเสนอการดำเนินงานเรื่องนี้ใน 4 เขตสุขภาพนำร่องแล้ว จะหารือที่ประชุมเพื่อประกาศเพิ่ม 4 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ แพร่ เพชรบุรี ร้อยเอ็ด และนราธิวาส ซึ่งมีความพร้อมที่จะเดินหน้าตามเป้าหมายให้บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่ทุกเครือข่ายทั้งในและนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เช่น สังกัดมหาวิทยาลัย สังกัดกลาโหม รวมถึงคลินิก ร้านขายยา และแล็บ เป็นต้น
สำหรับ 4 เขตสุขภาพ มีจำนวน 27 จังหวัด ได้แก่
- เขตสุขภาพที่ 1 ครอบคลุม 8 จังหวัด เชียงใหม่ เชียงราย แพร่ น่าน พะเยา ลำปางลำพูน และแม่ฮ่องสอน
- เขตสุขภาพที่ 4 ครอบคลุม 8จังหวัด สระบุรี นนทบุรี ลพบุรี อ่างทอง นครนายก สิงห์บุรีพระนครศรีอยุธยา และปทุมธานี
- เขตสุขภาพที่ 9 ครอบคลุม 4จังหวัด นครราชสีมา ชุยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์
- เขตสุขภาพที่ 12 ครอบคลุม7 จังหวัด พัทลุง ตรัง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
“การนำร่องใน 4 จังหวัดที่เพิ่มเติมมา ไม่ได้หมายความว่า เฉพาะประชาชนในจังหวัดนั้นเท่านั้นที่จะใช้บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ได้ แต่ประชาชนที่เดินทางไปยัง 4 จังหวัดนำร่องดังกล่าวก็สามารถรับบริการได้เช่นกัน โดยหลังจากที่มีการประกาศอย่างเป็นทางการแล้ว จะมีการเชื่อมโยงฐานข้อมูลในโครงข่ายการให้บริการโดยเร็วต่อไป”
นพ.ชลน่าน กล่าว
ประชุม สสอ. ทำแผน Quick Win มุ่งสู่ระบบสุขภาพปฐมภูมิที่มีคุณภาพ
นายแพทย์ชลน่าน กล่าวอีกว่า การแพทย์ปฐมภูมิ ถือเป็นบริการด่านแรกที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้แบบใกล้บ้านใกล้ใจ ดูแลตั้งแต่ส่งเสริม ป้องกัน ควบคุม รักษา และฟื้นฟู และเป็น 1 ใน 13 ประเด็น ในการขับเคลื่อนนโยบาย 30 บาทพลัส เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตประชาชนทุกคน ทุกกลุ่ม ทุกพื้นที่ โดยการยกระดับระบบสุขภาพปฐมภูมิเพิ่มความครอบคลุมการดูแลสุขภาพที่บ้านและชุมชน การรับยา ส่งยาทางไปรษณีย์การเจาะเลือดตรวจแล็บใกล้บ้าน 1 จังหวัด 1 โรงพยาบาล รวมทั้งนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาระบบนัดหมาย ระบบเทเลเมลดีซีน และการเสริมสร้างงานอนามัยโรงเรียนให้เข้มแข็ง 1 อำเภอ 1 โรงเรียน ซึ่งการพัฒนาในเรื่องดังกล่าวต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขทุกระดับทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยเฉพาะสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชน มีความเข้าใจบริบทของพื้นที่เป็นอย่างดี และสามารถออกแบบระบบบริการได้ตรงตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่
ส่วนปัญหาการถ่ายโอน รพ.สต. นายแพทย์ชลน่าน บอกว่า หากไม่ดีกว่าเดิมจะถ่ายโอนไปทำไม ภาพใหญ่ตอนนี้ไม่ได้มีกำหนดระยะเวลาว่าต้องถ่ายโอนเสร็จสิ้นเมื่อไหร่ แต่จะต้องมีการประเมินหลังการถ่ายโอนช่วง ปี 67 และปี 68 สิ่งสำคัญคือเราจะทำยังไงให้ประชาชนได้ประโยชน์ โดยปัจจุบันรพ.สต.ถ่ายโอนไปรวมแล้วราว 4,000 แห่ง ส่วนบุคลากรอีก 60% ไม่ได้แสดงเจตจำนงว่าจะไป เราต้องจัดการให้ดี โดยเฉพาะช่วงเปลี่ยนผ่าน ส่วนปัญหาต่างๆให้เสนอมาให้ผม จะนำเรื่องนี้ไปหารือกับทางคณะกรรมการการกระจายอำนาจฯ หรือก.ก.ถ.ต่อไป
การจัดประชุมในวันนี้ เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับผู้บริหารในระดับอำเภอ เพื่อที่จะนำนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้ง Quick Win 10 เรื่องเช่น บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ มะเร็งครบวงจร ส่งเสริมการมีบุตร จัดตั้งศูนย์ธัญญารักษ์ดูแลผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติด โรงพยาบาลอัจฉริยะ ระบบการแพทย์ทางไกลสถานชีวาภิบาลและคลินิกผู้สูงอายุ เป็นต้น ไปเร่งรัดขับเคลื่อนร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ช่วยยกระดับการดูแลสุขภาพประชาชนให้ครอบคลุมทุกมิติต่อไป