สปสช.หนุนงบประมาณค่าฉีด ครอบคลุมนโยบายรัฐบาล แนะคนไทยควรไปฉีด ไปตรวจ ชี้หากเจอเร็วมีโอกาสรอดสูง ส่วนปี 2567 ยังเตรียมจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมสำหรับเพศหญิงอายุ 11 ปี
วันนี้ (12 พ.ย. 2566) นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยภายหลังร่วมกิจกรรม การรณรงค์ฉีดวัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูก ให้กับกลุ่มเป้าหมายเด็กนักเรียนหญิงชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 (ป.5) – ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 (ม.6) ของโรงเรียนไทรน้อย จำนวนประมาณ 700 คน เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2566 ว่าโครงการดังกล่าวนับเป็นการเริ่มต้นนโยบายมะเร็งครบวงจร และยังเป็นนโยบาย Quick Win 100 วันแรกของรัฐบาลที่ต้องการขับเคลื่อนดูแลสุขภาพประชาชน ซึ่งตั้งเป้าฉีดวัคซีน HPV ให้กับเด็กนักเรียน/นักศึกษาหญิงทั่วประเทศ ที่มีอายุระหว่าง 11-20 ปี รวม 1 ล้านเข็มในระยะเวลา 100 วัน
ทั้งนี้ สปสช. เข้าไปมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนนโยบายรัฐบาล โดยสนับสนุนงบประมาณจัดหาวัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูก เพื่อเตรียมฉีดให้กับกลุ่มเป้าหมายตามโครงการนี้ จำนวน 1.9 ล้านเข็ม โดยเป็นวัคซีนที่ สปสช. ได้จัดหาเอาไว้บางส่วนอยู่แล้วประมาณ 4 แสนเข็ม และยังมีวัคซีนที่ภาคเอกชนมอบให้กับ สธ. เพื่อนำไปฉีดให้กับประชาชนอีกจำนวนประมาณ 8 แสนเข็ม ขณะเดียวกัน ในเดือน ธ.ค. 2566 จะมีวัคซีนที่จัดหาเพิ่มเติมเข้ามาอีกประมาณ 7 แสนเข็ม ซึ่งรวมแล้วเพียงพอต่อการขับเคลื่อนโครงการตามเป้าหมายได้แน่นอน และยังสามารถเก็บตกกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้นด้วย
ขณะเดียวกัน สปสช. ยังได้จัดงบประมาณสำหรับเป็นค่าบริการฉีดวัคซีนให้กับหน่วยบริการสุขภาพ และโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศไปแล้วตามจำนวนกลุ่มเป้าหมายทำให้ขณะนี้ทั่วประเทศสามารถเดินหน้า และเริ่มฉีดวัคซีน HPV ให้กับกลุ่มเป้าหมายได้ทันที
“ตอนนี้เรามีประมาณ 1.2 ล้านเข็มที่แจกจ่ายไปแล้วตามแต่ละพื้นที่ และเดือน ธ.ค.นี้จะทยอยมาอีก 7 แสนเข็ม ซึ่งเพียงพอตามกลุ่มเป้าหมายคือเพศหญิงอายุระหว่าง 11-20 ปีทั่วประเทศ”
นพ.จเด็จ กล่าว
นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า สำหรับกลุ่มอายุอื่นๆ ที่ต้องการฉีดวัคซีน HPV ด้วยนั้น ก็อยู่ที่นโยบายของรัฐบาลว่าจะให้ดำเนินการอย่างไร แต่ทั้งนี้ ช่วงอายุที่เหมาะสมที่สุดคือเพศหญิงที่อายุ 11 ปี ซึ่งเมื่อได้รับวัคซีนแล้วจะมีประสิทธิภาพการป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ดีกว่า
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาองค์การอนามัยโลก ก็เคยแนะนำว่า วัคซีน HPV สามารถฉีดให้กับผู้หญิงได้ถึงอายุ 25 ปี แต่ทั้งนี้ ในส่วนของประเทศไทยจะต้องมีการศึกษาเรื่องนี้ก่อนว่าเหมาะสมหรือไม่ก่อนจะทำเป็นชุดสิทธิประโยชน์ หรือนโยบายต่างๆ
“กลุ่มอายุอื่นที่เลยวัยฉีดวัคซีน HPV ไปแล้ว ก็ยังสามารถตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยตัวเองได้ง่ายๆ เช่นกัน สามารถไปรับการตรวจมะเร็งปากมดลูกได้ที่โรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ โดยตรวจสอบได้ง่ายๆที่ แอปเป๋าตัง เมนูกระเป๋าสุขภาพเลือกสิทธิสุขภาพดีป้องกันโรค หรือโทร.สอบถามสายด่วน สปสช. 1330 ได้ นอกจากนั้นยังสามารถรับชุดตรวจได้ที่หน่วยบริการของรัฐ หรือโรงพยาบาลของรัฐได้ ซึ่งก็ช่วยให้ประเมินอาการ และคัดกรองได้ หากพบว่ามีความเสี่ยง หรือป่วยแล้วจะได้เข้าสู่กระบวนการรักษาที่รวดเร็ว และมีโอกาสรอดชีวิต”
เลขาธิการ สปสช. กล่าว
นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า เมื่อสิ้นสุดโครงการฉีดวัคซีน HPV นี้ไปแล้ว ในปี 2567 สปสช. ยังเตรียมจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมสำหรับกลุ่มเป้าหมายคือ เพศหญิงอายุ 11 ปี ที่ต้องฉีดวัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูกเข็มแรกทุกคน ซึ่งเป็นชุดสิทธิประโยชน์ที่ สปสช.ดูแลให้อยู่ โดยคาดว่าจะต้องมีเด็กหญิงอายุ 11 ปีได้รับวัคซีนทุกปีๆ ละประมาณ 4 แสนโดส
“เด็กที่อายุ 10 ขวบในปีนี้ ปีหน้าก็ต้องมารับวัคซีน เพราะเป็นกลุ่มเป้าหมายและอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์อยู่แล้ว แต่หากจะขยายไปสู่กลุ่มอายุอื่น ก็อยู่ที่นโยบายของรัฐบาลอีกที แต่ สปสช. พร้อมจัดเตรียมและจัดหาวัคซีนรองรับ รวมถึงค่าบริการฉีดวัคซีนให้กับหน่วยบริการด้วย”
เลขาธิการ สปสช. กล่าวย้ำ
นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า สำหรับมะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งอีกชนิดที่เราต้องการเอาชนะให้ได้ เพราะขณะนี้มีวัคซีนที่สามารถป้องกันได้ตั้งแต่เริ่ม โดยเฉพาะกลุ่มเด็กนักเรียนหญิงที่มีอายุ 11 ปีขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงป่วยมะเร็งปากมดลูกในอนาคต ซึ่งเมื่อมีตัวแปรใหม่อย่างเช่น วัคซีน HPV ที่ทำให้จัดการกับโรคได้ สปสช. ก็พร้อมจะนำมาเป็นชุดสิทธิประโยชน์ให้กับประชาชน
อีกทั้ง สปสช. และภาคีเครือข่ายได้ศึกษาความคุ้มค่ามาแล้ว ซึ่งพบว่าหากได้รับวัคซีนHPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูกตั้งแต่เด็ก จะช่วยให้ลดความเสี่ยงเป็นมะเร็ง และยังลดค่าใช้จ่ายสำหรับการรักษามะเร็งหากป่วยในอนาคต
นพ.จเด็จ ยังกล่าวถึงการสนับสนุนโครงการมะเร็งครบวงจรของรัฐบาลด้วยว่า สปสช. พร้อมไปหนุนเสริมในทุกมิติสำหรับการจัดการโรคมะเร็ง ทั้งก่อนป่วย ที่จะมีการตรวจคัดกรองโรคด้วยวิธีพิเศษ ที่ทำได้ง่าย ประชาชนสามารถตรวจและเก็บสิ่งส่งตรวจได้เองอย่างสะดวก เพื่อให้สามารถรู้ความเสี่ยงมะเร็งได้ หากพบก่อนก็จะทำให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น และทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตยืนยาวขึ้นด้วย
“รวมไปถึงระหว่างป่วยก็จะมีชุดสิทธิประโยชน์ทางการรักษาที่มีประสิทธิภาพ รวมไปถึงเมื่อเข้าสู่ระยะท้าย ที่ต้องยอมรับกับสถานการณ์ของโรค ซึ่งอาจต้องได้รับการดูแลประคับประคองที่บ้าน สปสช. ก็มีสิทธิประโยชน์ที่ดูแลอย่างเป็นระบบเช่นกัน”
นพ.จเด็จกล่าว