กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เผยมี ผู้ประกอบการเนิร์สซิ่งโฮมกว่า 290 แห่งในกรุงเทพฯ พร้อมยกระดับเป็น “เนิร์สซิ่งโฮม ชีวาภิบาล” ขณะที่ สปสช.ระบุโรงพยาบาลแม่ข่าย ต้องเป็นผู้ส่งตัวผู้ป่วย ไปยัง เนิร์สซิ่งโฮม จึงจะเบิกค่ารักษาได้
วันนี้ (14 พ.ย. 2566) รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดการประชุมเครือข่ายการพัฒนาเครือข่ายบริการ 250 สถานชีวาภิบาล 50 เขตกรุงเทพมหานคร พร้อมทั้งร่วมประกาศนโยบาย เนิร์สซิ่งโฮม ชีวาภิบาล ขับเคลื่อนการดูแลแบบประคับประคอง โดยกล่าวว่า ปัจจุบันกรุงเทพมหานครได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ จากรายงานสถิติประชากรพบว่ามีผู้สูงอายุมากกว่า 20% และส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเปราะบาง ที่มีภาวะพึ่งพิงและต้องการการดูแลแบบประคับประคอง
โดยตั้งเป้าหมาย 1 สถานชีวาภิบาลต่อ 1 โซนสุขภาพ (Bangkok Health Zoning) ใน 100 วันแรกนับจากวันประกาศนโยบาย จะมี 7 สถานชีวาภิบาล ใน7 โซน ส่วนเป้าหมาย 6 เดือน จะมีโซนละ 3 แห่ง รวมเป็น 21 สถานชีวาภิบาลหลังจาก 1 ปี มีเป้าหมายสูงสุด 250 สถานชีวาภิบาลใน 50 เขต โดยจะปูพรมครบ 100% ใน 5 ปี
ปภิภากร สุวรรณกาศ รักษาการแทนผู้อำนวยการกองสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า ในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีเนิร์สซิ่งโฮม ซึ่งเป็นภาคเอกชนที่ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายจำนวน 290 แห่ง ซึ่งมีความพร้อมยกระดับเป็น “เนิร์สซิ่งโฮม ชีวาภิบาล” ดูแลผู้ป่วยที่เป็นผู้สูงอายุในระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง และยังมีเนิร์สซิ่งโฮม ที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายอีกกว่า 500 แห่งทั่วกรุงเทพมหานครที่ต้องการผลักดันให้เข้ารับการตรวจมาตรฐานรับรองจากกรมฯ อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อให้ผู้ป่วยที่เข้ารับบริการสามารถเบิกค่าใช้จ่ายจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หรือ สิทธิ์บัตรทองได้
ด้าน กฤช ลี่ทองอิน ผู้ทรงคุณวุฒิสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่าผู้ป่วยสิทธิ์บัตรทองที่จะสามารถเบิกค่ารักษากับ สปสช.เมื่อเข้ารักษากับเนิร์สซิ่งโฮม 1.ต้องเป็นเนิร์สซิ่งโฮมที่ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ 2.ต้องได้รับการส่งต่อจากโรงพยาบาลพยาบาลแม่ข่าย โดยสปสช. กทม. และ สธ.พร้อมบูรณาการการทำงานร่วมกัน
ทั้งนี้ ระบบการดูแลแบบประคับประคองถูกกำหนดให้อยู่ในแผนกลยุทธ์การขับเคลื่อนเขตสุขภาพกรุงเทพมหานคร (Bangkok Health Zoning) ประเด็นนโยบายพัฒนาระบบบริการสุขภาพโซนพื้นที่ไร้รอยต่อ ระบบเยี่ยมบ้านแบบไร้รอยต่อ โรงพยาบาล 10,000 เตียง ผ่าน BMA Home Ward หรือ UMSC และศูนย์เวชศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและการดูแลแบบประคับประคอง 4 มุมเมือง และสอดคล้องต่อนโยบายกระทรวงสาธารณสุข ประเด็นสถานชีวาภิบาล