ปรับเป้าควิกวิน 1 จังหวัด 1 สถานชีวาภิบาล เป็น 1 เขตสุขภาพอย่างน้อย 1 สถานชีวาภิบาล เผยต้นเดือน ก.พ. 67 เตรียมเซ็น MOU กับสำนักพุทธฯ
วันนี้ (26 ธ.ค. 2566) คืบหน้านโยบาย 1 จังหวัด 1 สถานชีวาภิบาล ซึ่งเป็นนโยบายควิกวินของกระทรวงสาธารณสุขที่ประกาศไว้ตั้งแต่เดือน พ.ย. 2566 จะเห็นผลเป็นรูปธรรมในอีก 100 วันหรือประมาณเดือน ก.พ. 2567
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยกับ The Active ว่าเดิมตั้งเป้าจะมีทุกจังหวัด แต่ ปรับเป้าลงมาเป็นเพียงแค่อย่างน้อยเขตสุขภาพละ 1 แห่งในเฟสแรก เพราะยอมรับในข้อจำกัดหลายด้าน โดยต้องจัดสถานที่ ที่มีความพร้อมเป็นสถานชีวาภิบาลในชุมชน อาจจะเป็นวัด ซึ่งกำลังทำกุฏิชีวาภิบาลไปพร้อมกัน โดยต้นเดือน ก.พ. 2567 จะเซ็นเอ็มโอยูกับ สำนักงานพระพุทธศาสนา และวัดที่ประกาศพร้อมเป็นสถานชีวาภิบาล
ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานในสถานชีวาภิบาลที่จะได้รับการสนับสนุนค่าบริการ จาก สปสช. สิทธิบัตรทอง ต้องเป็นสถานบริการที่ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิ
“เราไม่ได้เอาเงิน สปสช. มาสร้าง แต่เราให้เขาสร้าง แล้วมาเบิกเงินค่าบริการจากเราได้”
นพ.ชลน่าน กล่าว
รมว.สธ. บอกอีกว่า เงื่อนไขในการรับผู้สูงอายุเข้ามาดูแล คือเป็นผู้ป่วยติดเตียง ระยะท้าย ส่วนผู้ป่วยระยะ Intermedia care และ Long-term care ที่ยังไม่เข้าสู่ระยะสุดท้าย หากอยู่ใน โรงพยาบาลแล้วแยกออกมาเพื่อลดค่าใช้จ่ายก็เป็นไปได้
ด้าน นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี กรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ บอกว่า วัด มีความพร้อม มีทรัพยากร เจ้าอาวาสจำนวนไม่น้อย มีความตั้งใจจะดูแลประชาชน จึงจะนำร่องสถานชีวาภิบาลในวัด และจะเรียนรู้ ส่วนรัฐต้องสนับสนุนค่าจ้างผู้ดูแลผู้สูงอายุ หรือ Care Giver
ขณะที่ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. เปิดเผยขั้นตอนว่า เริ่มจากการสำรวจผู้สูงอายุภาวะพึ่งพิงในระดับตำบลว่ามีความต้องการเท่าไร จากนั้นหาสถานที่จัดทำสถานชีวาภิบาล ที่มีความพร้อมในชุมชน ออกกติกาการเงินเข้ามาเสริม สิ่งที่จะอนุมัติเพิ่มเติมคือคือหน่วยงานที่จะเข้าไปดูแล
“ในต่างจังหวัดเราไม่ได้ดูค่าใช้จ่ายเป็นรายเดือน แต่เราดูจำนวนคนที่ต้องดูแล เช่น 1 ตำบลมีผู้สูงอายุ 100 คนที่ต้องดู แปลว่าเราจ่ายเงิน 1-2 ล้านบาท และจ้าง Care Giver อีก 5 แสนบาท เงินที่เหลือก็ซื้ออุปกรณ์ ดังนั้นในพื้นที่ต่างจังหวัดเชื่อว่ามีเพียงพอ”
นพ.จเด็จ กล่าว
‘ลุงไสว’ อยากไปอยู่สถานชีวาภิบาล
ยังมีผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงช่วยเหลือตัวเองไม่ได้อีกหลายคนที่ซ่อนอยู่ในชุมชนหลายแห่ง บางคนไม่มีลูกหลานดูแล บางคนโชคดีหน่อยยังมีญาติพี่น้องที่อยู่บ้านใกล้เรือนเคียง คอยช่วยเหลือ
แต่ก็ต้องยอมรับว่าการดูแลผู้สูงอายุหนึ่งคนมีค่าใช้จ่ายไม่น้อย คนที่ดูแลผู้สูงอายุนอกจากจะแบบภาระครอบครัวทางอื่น แล้วการที่ต้องดูแลผู้สูงอายุยิ่งซ้ำเติมเข้าไปอีก
The Active ชวนดูตัวอย่างเคสนี้อาศัยอยู่ จ.นนทบุรี ไสว จันทร์ทิวา อายุ 86 ปีเริ่มมีอาการสมองเสื่อมหรืออัลไซเมอร์ ภรรยาเสียชีวิตไปแล้วเมื่อปีก่อน ซึ่งภรรยาก็เป็นผู้ป่วยติดเตียงเหมือนกัน ทั้งคู่ไม่มีลูก แต่มีหลานซึ่งเป็นญาติที่อยู่ใกล้เคียงคอยดูแล
ตอนนี้ นอกจากลุงไสวกำลังจะป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมแล้ว ยังมีภาวะการขับถ่ายไม่เป็นเวลาต้องใส่แพมเพิร์ด โดย ปรียานุช จันทร์ทิวา หลานสาว เป็นคนเข้ามาเปลี่ยนให้วันละ 3 ครั้ง อีกทั้งยังเป็นโรคเบาหวานมีแผลที่เท้า โชคดีที่ยังมีหน่วยงานอย่าง มูลนิธิเส้นด้าย เข้าไปช่วยเหลือทำแผลเบาหวาน ไม่เช่นนั้นคงต้องตัดเท้าทิ้งไปแล้ว
ด้าน ปรียานุช หลานสาวของลุงไสว บอกว่ายังไม่เคยได้ยินเกี่ยวกับนโยบายสถานชีวาภิบาลมาก่อน แต่ที่ผ่านมาเคยโทรไปที่สายด่วนของ พม. เพื่อที่จะหาบ้านพักคนชราให้คุณลุงไสวได้เข้าไปอยู่ เพราะต้องยอมรับว่าครอบครัวเริ่มจะแบกรับภาระไว้ไม่ไหว หากมีนโยบายสถานชีวาภิบาลเกิดขึ้นจริงก็อยากจะเอาคุณลุงเข้าไปร่วมเข้าโครงการด้วยซึ่งก็จะช่วยลดภาระไปมาก เพราะทุกวันนี้อาศัยเพียงเงินจากอาชีพซักรีด ก็แทบจะไม่เพียงพออยู่แล้ว การดูแลผู้สูงอายุเพิ่มเข้ามาอีกยิ่งทำให้การใช้จ่ายไม่คล่องตัว
นโยบายสถานชีวาภิบาลควรครอบคลุมผู้สูงอายุติดบ้านที่ถูกทอดทิ้ง
ด้าน นนทวัฒน์ บุญบา ผู้อำนวยการมูลนิธิเส้นด้าย ในฐานะหน่วยงานที่ช่วยเหลือคนที่ตกหล่นเข้าไม่ถึงระบบสาธารณสุขมาตั้งแต่ช่วงโควิด-19 บอกว่า ยังมีผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงช่วยเหลือตัวเองไม่ได้อีกหลายคนที่ซ่อนอยู่ในชุมชนหลายแห่ง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ไม่มีคนคอยดูแล จึงอยากให้รัฐทำงานให้ยืดหยุ่นกับภาคประชาสังคม ไม่ทำทับซ้อนแต่ทำต่อเนื่องกัน รัฐควรเป็นโครงสร้างพื้นฐานให้กับการทำงานของภาคประชาสังคม ช่วยกันผลักดัน
เขาตั้งข้อสังเกตุถึงนโยบายสถานชีวาภิบาลของรัฐว่า ลักษณะผู้ป่วยระยะสุดท้ายไม่สามารถรอได้ แต่ที่ผ่านมาการใช้กระบวนการของรัฐต้องผ่านการรอ การประเมิน ขณะที่ผู้ป่วยระยะสุดท้ายมีเวลาสั้น เราอยากให้เขาจากไปสงบหรือ “ตายดี” ก็ควรจะรวดเร็วในการรับเคสผู้ป่วยเข้าไปดูแล
ส่วนเงื่อนไขการรับผู้สูงอายุเข้าไปอยู่ในสถานชีวาภิบาลนั้น ควรจะรวมไปถึงกลุ่มคนที่ถูกทอดทิ้ง เพราะต้องบอกว่าปัจจุบันผู้สูงอายุที่อยู่ในติดบ้าน ติดเตียง ถูกทอดทิ้ง มีจำนวนมาก ขณะที่สถานดูแลผู้สูงในกทม. และปริมณฑลมีไม่เพียงพอ