หนุนนโยบายส่งเสริมการมีบุตร “หมอชลน่าน” เตรียมเรียกประชุม คกก.ขับเคลื่อนอนามัยเจริญพันธุ์หลายกระทรวง 25 ธ.ค.นี้ พร้อมฝาก อสม. สื่อสารปรับแนวคิดสังคมมองการเกิดคือการให้ที่ยิ่งใหญ่
วันนี้ (7 ธ.ค. 2566) หลายเขตสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข เริ่มประชาสัมพันธ์เชิญชวนผู้ที่กำลังต้องการมีบุตร แต่ไม่มีสักที มารับบริการฝากครรภ์คุณภาพ ที่คลินิกสิ่งเสริมการมีบุตรในทุกโรงพยาบาลใกล้บ้าน เช่น เขตสุขภาพที่ 10 จ.อุบลราชธานี ออกโพรโมชันทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) ฟรี 10 รายซึ่งปกติมีค่าใช้จ่ายหลักแสนบาท เริ่ม 10 ม.ค. 2567 และบริการฉีดอสุจิเข้าโพรงมดลูก (IUI) ฟรี 72 ราย เริ่ม ธ.ค. 2566 นี้ ขณะที่ศูนย์อนามัยที่ 7 จ.ขอนแก่น เปิดรับสมัครคู่ผสมเทียมโดยการฉีดน้ำเชื้อเข้าโพรงมดลูก 20 คู่ ตั้งแต่วันนี้ถึง 15 ธ.ค. นี้
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข บอกว่า จะขับเคลื่อนการส่งเสริมการมีบุตรเป็นวาระแห่งชาติ โดยรัฐบาลมีความตั้งใจที่จะให้สิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคนในประเทศ เพื่อรักษาอัตราการเจริญพันธุ์รวมไม่ให้ลดลงเร็วจนเกินไป โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งคณะกรรมการที่มีอธิบดีกรมอนามัย เป็นประธาน ทำงานร่วมกับคณะกรรมการอนามัยเจริญพันธุ์ ที่มาจากหลายหน่วยงาน หลายกระทรวง เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์กระทรวงมหาดไทย เป็นต้น ซึ่งจะมีการประชุมวันที่ 25 ธันวาคมนี้ เพื่อยกร่างแผนส่งเสริมการเกิดให้เป็นวาระแห่งชาติ ว่า “ลูกเกิดรอด แม่ปลอดภัย” เด็กเกิดมามีคุณภาพดีเป็นที่ยอมรับ และทุกภาคส่วนควรมีส่วนร่วมอย่างไร
รมว.สธ. บอกอีกว่า คนที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ ถือเป็นบุคคลสำคัญที่เราต้องดูแล ตั้งแต่ก่อนแต่งงานดูความพร้อมทางสุขภาพ หลังแต่งงานดูแลให้มีลูก ขณะตั้งครรภ์ ดูแลสุขภาพของแม่และทารกในครรภ์จนถึงคลอด ตรวจคัดกรองโรคทางพันธุกรรม 40 โรค ส่วนมิติอื่น ๆ เช่น สังคม เศรษฐกิจ ก็มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในคณะกรรมการรับผิดชอบ
นอกจากนี้ ยังได้ฝากให้ อสม. ซึ่งอยู่ใกล้ชิดกับชุมชนช่วยสื่อสารให้คนเห็นความสำคัญของการมีบุตร และปรับมุมมองใหม่ว่า การเกิดเป็นการให้ที่ยิ่งใหญ่ของโลก
สำหรับประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 23 ประเทศ ที่มีอัตราการเกิดน้อยกว่าอัตราการตายและประสบปัญหาเด็กเกิดน้อย ด้อยคุณภาพ หากไม่เร่งแก้ไขตัังแต่ตอนนี้ ในอนาคต 60 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะประสบปัญหาเรื่องการสร้างเศรษฐกิจ เนื่องจากจะมีประชากรลดลงเหลือ 33 ล้านคน ในจำนวนนี้จะมีวัยทำงานเพียง 14 ล้านคน ดังนั้นต้องช่วยกันเพิ่มการเกิดที่ดีมีคุณภาพ ส่งเสริมให้คนที่ต้องการมีบุตรได้มีบุตร โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มองว่าการมีบุตรกระทบต่อวิถีชีวิตและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของตนเอง
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า นโยบาย Quick Win ส่งเสริมการมีบุตรให้มีคลินิกส่งเสริมการมีบุตร จังหวัดละ 1 แห่ง เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการรักษาภาวะมีบุตรยากได้เร็วขึ้น
ขณะนี้ โรงพยาบาลทั่วประเทศ จำนวน 901 แห่ง มีบริการส่งเสริมการมีบุตร จำนวน 801 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 88.90 โดยมี โรงพยาบาลจัดบริการ IUI (Intra – Uterine Insemination) จำนวน 32 แห่ง และ IVF (In-vitro Fertilization) จำนวน 2 แห่ง ได้แก่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ โรงพยาบาลตรังและโรงพยาบาลหาดใหญ่ รวมทั้งโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยาได้ทำการเปิดป้ายคลินิกส่งเสริมการมีบุตรในวันนี้ ที่มีการทำงานเชิงรุกให้ อสม.ค้นหาประชาชนในพื้นที่ที่มีความพร้อมและมีบุตรยากเข้ารับบริการ