ใช้พื้นที่ค่ายทหาร ใน 4 จังหวัดนำร่อง ปราจีนบุรี, ศรีสะเกษ, ชัยภูมิ, กาญจนบุรี แก้ปัญหาขาดแคลนเตียงจิตเวช
วันนี้ (8 ม.ค. 67) พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) เปิด “โครงการอบรมทหารผู้ปฏิบัติงานในศูนย์รักษ์ใจ รุ่นที่ 2” ให้กับทหารจากค่ายสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี และ ค่ายสุรนารี จ.นครราชสีมา เพื่อรองรับปฏิบัติการแก้ไขปัญหาผู้มีอาการทางจิตจากยาเสพติด ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล (Quick Win)
เพื่อให้ทหาร ผู้ปฏิบัติงานในศูนย์รักษ์ใจ ได้รับการเสริมสร้างความรู้ และทักษะการดูแลผู้มีอาการทางจิตจากยาเสพติดตามมาตรฐานสาธารณสุข ตลอดจนสามารถปฏิบัติงานดูแลผู้มีอาการทางจิตจากยาเสพติดได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย โดยวิทยากรจากโรงพยาบาลธัญญารักษ์ขอนแก่น, โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า, โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ และ สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา คาดหวังให้ทหารผู้ปฏิบัติงานในศูนย์รักษ์ใจมีความรู้ ความสามารถด้านการพยาบาล เช่น การพยาบาลขั้นพื้นฐานตามหลักวิชาการ, การตรวจร่างกาย, การทำกิจกรรมกลุ่ม, การพยาบาลผู้ป่วยที่ก้าวร้าว, การรายงานอาการผู้ป่วยต่อพยาบาลหัวหน้าเวร โดยเป็นไปตามมาตรฐานสาธารณสุข และความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นหลัก
เลขาธิการ ป.ป.ส.บอกด้วยว่า รัฐบาลมีนโยบายลดความเดือดร้อนของประชาชนจากปัญหายาเสพติด จากปัญหาผู้ใช้ยาเสพติดเป็นเวลานาน จนเกิดอาการทางจิต และก่อความรุนแรงในชุมชน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม จึงกำหนดปฏิบัติการเร่งด่วน Quick Win นำผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตจากยาเสพติดในพื้นที่เป้าหมาย 30 จังหวัด 85 อำเภอ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีผู้มีอาการทางจิตจากยาเสพติดกลุ่มเร่งด่วน (เฝ้าระวังสูงและเฝ้าระวังสูงสุด) เข้าสู่กระบวนการบำบัด เพื่อคืนความปลอดภัยให้ชุมชน
ทั้งนี้ มีพื้นที่เร่งด่วน 4 จังหวัดที่ขาดแคลนเตียงจิตเวช ได้แก่ จ.ปราจีนบุรี, ศรีสะเกษ, ชัยภูมิ และกาญจนบุรี โดยกองทัพบกได้สนับสนุนพื้นที่ในค่ายทหารฯ จัดตั้งเป็น “ศูนย์รักษ์ใจ” เพื่อดูแลผู้มีอาการทางจิตจากยาเสพติดชั่วคราว (ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของโรงพยาบาลค่ายฯ) ได้แก่
- ค่ายจักรพงษ์ (อ.เมืองปราจีนบุรี) รองรับผู้มีอาการทางจิตจากยาเสพติดจาก จ.ปราจีนบุรี
- ค่ายสรรพสิทธิประสงค์ (อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี) รองรับผู้มีอาการทางจิตจากยาเสพติดจาก จ.ศรีสะเกษ
- ค่ายสุรนารี (อ.เมืองนครราชสีมา) รองรับผู้มีอาการทางจิตจากยาเสพติดจาก จ.ชัยภูมิ
- ค่ายสุรสีห์ (อ.เมืองกาญจนบุรี) รองรับผู้มีอาการทางจิตจากยาเสพติดจาก จ.กาญจนบุรี
”การจัดตั้งศูนย์รักษ์ใจเป็นความร่วมมือที่แสดงให้เห็นถึงการมีเป้าหมายร่วมกันในการแก้ไขปัญหายาเสพติด ซึ่งการรองรับผู้ป่วยจิตเวชในเวลาเร่งด่วนจำเป็นต้องใช้ ปัจจัยในด้านสถานที่ อุปกรณ์และบุคลากรรองรับ ต้องขอบคุณกองทัพในการสนับสนุน”
พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ
พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ บอกด้วยว่า ยาเสพติดเป็นปัญหาที่ต้องร่วมดำเนินการแก้ไขในหลายมิติ และรัฐบาลได้กำหนด 5 เสาหลักเพื่อการแก้ปัญหา คือ กระทรวงกลาโหม, กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงมหาดไทย, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ ประชาชน โดยปฏิบัติการ Quick win นำผู้ป่วยจิตเวชเข้ารักษาที่เริ่มในวันที่ 1 ธ.ค.66 เป็นสัญญาณที่ดี ที่ได้เห็นความร่วมมือจากทุกฝ่าย เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนำผู้ป่วยจำนวน 4,414 ราย เข้ารักษา และหากพบผู้ป่วยจิตเวชรายใหม่จะดำเนินการนำเข้ารักษาด้วย
ขณะที่ผู้เสพยาเสพติด ที่ยังไม่มีอาการทางจิต จะนำชุมชนเข้ามามีส่วนช่วยในการดูแลผู้เสพยาเสพติด (CBTx) ซึ่งถือเป็นเครื่องมือสำคัญ คือ การสร้างการมีส่วนร่วมให้ชุมชนเป็นเป้าหมายซึ่งต้องทำให้เกิดขึ้น และหน่วยงาน เจ้าหน้าที่ ต้องลงไปสร้างความเชื่อมั่นให้ชุมชน ให้เห็นถึงความตั้งใจ ประชาชนจึงจะเกิดความเชื่อมั่น และมีส่วนร่วมกับภาครัฐในการแก้ไขปัญหายาเสพติด