สปสช. วอนคลินิกเอกชน ร่วมนโยบาย “รักษาทุกที่”

5 วันแรก 4 จังหวัดนำร่องรักษาทุกที่ โอนเงินถึงมือหน่วยบริการแล้วกว่า 3.16 ล้านบาท ย้ำความมั่นใจ หากให้บริการตามเงื่อนไข สปสช. จ่ายเงินให้หน่วยบริการได้ภายใน 72 ชั่วโมง  

กรณี The Active รายงานข่าว คลินิกเอชนที่เข้าร่วมโครงการบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ ในพื้นที่ จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งเป็น 1 ใน 4 จังหวัดนำร่อง ยังไม่ถึง 50% เพราะคลินิกเอกชนที่เหลือยังคงรอดูว่า สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะจ่ายเงินรวดเร็ว คุ้มค่ากับการให้บริการประชาชนในสิทธิ์บัตรทองหรือไม่นั้น

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาฯ สปสช. แถลงข่าว “การจ่ายเงินให้หน่วยบริการ ในโครงการยกระดับบัตรทอง บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่” 

วันนี้ (12 ม.ค. 67) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มอบหมายให้ สปสช. แถลงข่าว “การจ่ายเงินให้หน่วยบริการ ในโครงการยกระดับบัตรทอง บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่” เพื่อสร้างความมั่นใจการร่วมให้บริการกับหน่วยบริการที่เข้าร่วมให้บริการ 

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. ระบุว่า ที่ผ่านมาแม้ว่า หน่วยบริการเอกชนจะได้รับการเชิญชวนให้เข้ามาร่วมบริการผู้มีสิทธิบัตรทอง แต่ยังรอความชัดเจนโดยเฉพาะรอบระยะเวลาการจ่ายเงินชดเชยหลังให้บริการ ซึ่ง สปสช. กำหนดไว้ 2 ครั้ง/เดือน ซึ่งหน่วยบริการเอกชนอาจมองว่าล่าช้าเกินไป ไม่ตอบสนองต่อการหมุนเวียนบัญชีรายรับรายจ่ายและการบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพได้ 

จากเสียงสะท้อนที่ได้รับนี้ สปสช. ตระหนักถึงข้อกังวลดังกล่าวและได้ดำเนินการปรับปรุงระบบการเบิกจ่ายเงินให้รวดเร็วขึ้น โดยล่าสุดในการดำเนินการ “โครงการบัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่” สปสช. ปรับกรอบระยะเวลาการเบิกจ่ายที่รวดเร็วด้วยระบบมีประสิทธิภาพ โดยประกาศยืนยันกับหน่วยบริการที่ร่วมให้บริการว่าสามารถเบิกจ่ายชดเชยค่าบริการได้ภายใน 72 ชั่วโมงหลังยืนยันการเข้ารับบริการ

ในช่วง 5 วันที่ผ่านมา หลังจากเริ่มโครงการฯ อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 7 ม.ค. ที่ผ่านมา มีหน่วยบริการที่ร่วมให้บริการได้ทยอยส่งข้อมูลเพื่อเบิกจ่ายค่าบริการเข้ามาแล้ว โดยยอดรวมล่าสุดเมื่อวานนี้ (11 ม.ค. 67) สปสช. ได้โอนจ่ายค่าบริการให้กับหน่วยบริการไปจำนวนทั้งสิ้น 3,161,685 บาท 

ในจำนวนนี้เป็นการโอนจ่ายให้กับหน่วยบริการเอกชนจำนวน 873,505 บาท ซึ่งเป็นไปตามที่ สปสช. ประกาศไว้ว่าจะดำเนินการจ่ายภายใน 72 ชั่วโมง ดังนั้นท่านสามารถให้บริการดูแลผู้มีสิทธิได้เต็มที่โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการเบิกจ่าย

ทพ.อรรถพร บอกด้วยว่า จากการปรับประสิทธิภาพการเปิกจ่ายค่าบริการที่ สปสช. ทำได้จริงนี้ วันนี้ขอเชิญชวนหน่วยบริการเอกขนที่ยังไม่ได้สมัครเข้าร่วมโครงการฯ ขอให้มั่นใจว่าท่านจะได้รับการจ่ายเงินค่าบริการที่รวดเร็วภายใน 72 ชั่วโมง เป็นสิ่งที่ สปสช. ทำได้จริง และหากหน่วยบริการใดที่สนใจก็สามารถสมัครเข้าเป็นหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพได้ทุกเมื่อ โดย สปสช. มีความยินดีอย่างยิ่งเพื่อจะได้มีหน่วยบริการเข้ามาร่วมดูแลประชาชนเพิ่มมากขึ้น

ขณะที่ ประเทือง เผ่าดิษฐ ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า การเพิ่มประสิทธิภาพการเบิกจ่ายค่าบริการให้กับหน่วยบริการเอกชนภายใน 3 วันนี้ เป็นผลมาจากการพัฒนาระบบที่ สปสช. ได้มีการเชื่อมโยงข้อมูลของหน่วยบริการ ทำให้ง่ายต่อการดึงข้อมูลที่มีความแม่นยำ ถูกต้อง สามารถตรวจสอบและประเมินผลได้อย่างรวดเร็ว คู่ขนานกับการรักษาความปลอดภัยด้านข้อมูลของประชาชน แต่ทั้งนี้หน่วยบริการที่สามารถเบิกจ่ายค่าบริการได้ภายใน 72 ชั่วโมงนั้น จะต้องดำเนินการตรงตามเงื่อนไขที่ สปสช. กำหนดคือ 

  1. มีการยืนยันตัวตนผู้รับบริการ เพื่อแสดงว่ามีผู้มารับบริการจริง 

  2. เกิดการให้บริการขึ้นจริง 

  3. การให้บริการเป็นไปตามเงื่อนไขที่ สปสช.กำหนด 

นอกจากนี้หน่วยบริการที่เข้าร่วมต้องมีการเชื่อมระบบข้อมูลบริการกับ สปสช. ซึ่งหากหน่วยบริการดำเนินการตามเงื่อนไขเหล่านี้แล้ว เมื่อเกิดการให้บริการ ระบบจะเชื่อมมาที่ สปสช. และ สปสช. สามารถประมวลผลแล้วจ่ายเงินค่าบริการให้ได้ภายใน 72 ชั่วโมง เช่นเดียวกับหน่วยบริการของภาครัฐ หากมีการเชื่อมต่อข้อมูลการให้บริการเข้ากับระบบของ สปสช. ก็จะได้รับเงินค่าบริการภายใน 72 ชั่วโมงเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่มีรายการบริการที่ไม่สามารถเบิกจ่ายได้ภายใน 72 ชั่วโมง อาจจะเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น มีการบันทึกข้อมูลคลาดเคลื่อนหรือให้บริการไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่ สปสช. กำหนด ซึ่ง สปสช. ก็จะมีขั้นตอนในการอุทธรณ์ และจะมีการตรวจสอบรายการบริการนั้นๆ อย่างรวดเร็ว เพื่อทำการแก้ไขและเบิกจ่ายเงินให้เร็วที่สุด

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active