ห่วงกลุ่ม 608 ไม่ฉีดวัคซีนโควิด ป่วยหนัก-ตาย เพิ่มขึ้น

กรมควบคุมโรค กางข้อมูลล่าสุด พบป่วยหนักเพิ่มขึ้น 12% เสียชีวิต 11 คน ส่วนใหญ่ เป็นผู้สูงอายุไม่ฉีดวัคซีน WHO ย้ำวัคซีนโควิด ยังจำเป็น ฉีดในระยะเวลา 6 เดือน ถึง 1 ปี ลดความเสี่ยงได้  

แม้ช่วงนี้มีกระแสข่าวเกี่ยวกับผลกระทบจากการฉีดวัคซีน แต่สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่มีแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ทำให้กรมควบคุมโรค เน้นย้ำถึงการฉีดวัคซีนโควิด เพราะในเวลานี้พบว่าผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ อยู่ในกลุ่มเสี่ยง 608 ที่ไม่ได้รับวัคซีน 

สำหรับสถานการณ์โควิด ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (14 – 20 ม.ค. 67) พบว่า

  • ผู้ป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาล 718 คน เฉลี่ย 102 คนต่อวัน สูงขึ้นจากสัปดาห์ก่อนที่มีรายงาน 93 คนต่อวัน (เพิ่มขึ้น 12.9%)

  • ผู้ป่วยอาการรุนแรงปอดอักเสบ 209 คน

  • ใส่ท่อช่วยหายใจ 149 คน

  • เสียชีวิต 11 คน (เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 4 คน) 

ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ หรือมีโรคเรื้อรัง (กลุ่ม 608) ที่ไม่ได้รับวัคซีนถึง 6 คน (54%) เป็นกลุ่ม 608 ที่ได้รับวัคซีนเพียง 2 เข็ม 5 คน (36%) สอดคล้องกับข้อมูลผู้ป่วยอาการรุนแรงที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ เป็นผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนถึง 45 คน คิดเป็น 30%

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : สังคมสงสัย? วัคซีนโควิด-19 ฉีดต่อ หรือพอแค่นี้?

ปัจจุบันโควิด-19 สายพันธุ์ที่กำลังระบาดในประเทศไทย ข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุว่าเป็น สายพันธุ์โอมิครอน สายพันธุ์ย่อย JN.1 ซึ่งเป็นสายพันธุ์รุ่นลูกของโอมิครอน มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ลักษณะอาการของผู้ป่วยโควิด-19 ที่ติดเชื้อ JN.1 มีอาการคล้ายหวัด เช่น ไข้ ไอ เจ็บคอ ปวดเมื่อย ตามตัว ปวดศีรษะ มีน้ำมูก ซึ่งยังไม่พบว่ามีระดับความรุนแรงของโรคเพิ่มขึ้นจากสายพันธุ์โอมิครอนเดิมในปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ประชาชนไม่ควรประมาท เน้นการป้องกันตนเองด้วยการสวมหน้ากากขณะอยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนรวมกันจำนวนมาก เช่น ขนส่งสาธารณะ, โรงพยาบาล และสถานดูแลผู้สูงอายุ ล้างมือบ่อย ๆ  หากมีอาการคล้ายเป็นหวัด ให้ตรวจ ATK และหลีกเลี่ยงใกล้ชิดกลุ่ม 608 เมื่อตรวจพบผลบวก 2 ขีด ให้สวมหน้ากากป้องกันแพร่เชื้อ และสังเกตอาการ รีบไปพบแพทย์เมื่อมีอาการหอบเหนื่อย หายใจลำบาก 

ขณะที่ องค์การอนามัยโลก (WHO) มีคำแนะนำให้ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว หรือผู้มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ยังมีความจำเป็นต้องได้รับวัคซีนโควิด-19 ในระยะเวลา 6 เดือนถึง 1 ปี ซึ่งเป็นระยะเวลาที่เหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงของการป่วยหนักและเสียชีวิต

แพทย์ ยืนยัน “ฟ้าทะลายโจร” ช่วยผู้ป่วยไข้หวัด โควิด-19 ได้

นพ.เทวัญ ธานีรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก กล่าวเตือนคนไทยอย่าตื่นตระหนก กรณีที่มีข่าวการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อยู่ในขณะนี้ ประชาชน ที่ป่วยเป็นโรคโควิด-19 สามารถดูแลสุขภาพตัวเอง โดยการหันมาใช้ยาสมุนไพรไทย เช่น ยาฟ้าทะลายโจร, ยาแก้ไอมะขามป้อม, ยาอมมะแว้ง ซึ่งเป็นยาไทย และสมุนไพร เพื่อลดอาการเจ็บป่วยจากโรคโควิด-19 พร้อมทั้ง ใช้มาตรการในการป้องกันไม่ให้ผู้อื่นติดเชื้อ เช่น ใช้หน้ากากอนามัยในขณะเป็นหวัด เป็นไข้ ไอ และ จาม ควรใช้  ช้อนกลาง และหมั่นล้างมือ

รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก ยืนยันว่า โรคไข้หวัดจากเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 สามารถใช้ยาฟ้าทะลายโจร ซึ่งเป็นยาสมุนไพรไทย และเป็นยาสามัญประจำบ้านที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ช่วยลดอาการเจ็บป่วยได้จริง มีอันตรายน้อยมากต่อทั้งตับและไต สามารถช่วยลดอาการอักเสบจากไข้หวัดที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ได้ โดยรับประทาน ในขนาดของสารสกัดฟ้าทะลายโจร ที่มีแอนโดรกราโฟไลด์ ขนาด 60 มิลลิกรัม ต่อครั้ง จำนวน 3 ครั้งต่อวัน หรือขนาดของสารสกัดไม่เกิน 180 มิลลิกรัมต่อวัน ติดต่อกันเป็นระยะเวลา 5 วัน 

กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้ศึกษาวิจัยในช่วงที่มีการระบาดของโรคไข้หวัด จากเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 โดยลดการอักเสบจากการติดเชื้อไวรัสอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และลดความรุนแรงจากการเจ็บป่วยได้ 

สำหรับเด็กนั้น สามารถรับประทานได้ในขนาดที่มีสารสกัดแอนโดรกราโฟไลด์ 3 – 5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม โดยปรึกษาแพทย์แผนไทย และเภสัชกร หรือแพทย์แผนปัจจุบัน ที่มีความรู้ด้านสมุนไพร ส่วนผู้ป่วยมะเร็ง โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือผู้ที่ต้องรับประทานยา จากการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังอื่น ๆ หรือผู้สูงอายุที่ไม่แข็งแรงร่างกายอ่อนแอนั้น ควรปรึกษาแพทย์ก่อนที่จะใช้ยาสมุนไพรดังกล่าว    

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active