นักวิชาการ เผยบางประเทศหาทางแก้ปัญหาตามหลัง ชี้ไม่มีประเทศไหน ดันพืชเสพติด เป็นพืชเศรษฐกิจ หวังสร้างรายได้ แต่พบส่วนใหญ่ขาดทุน วอน ทบทวนนำ กระท่อม – กัญชา กลับเข้าบัญชียาเสพติด
วันนี้ (29 ม.ค. 67) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) กระทรวงยุติธรรม จัดเวทีเสวนา “มุมมองและเสียงสะท้อน ภายหลังกัญชา กระท่อม ออกจากบัญชียาเสพติด” เพื่อระดมความเห็นจากนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น สะท้อนผลที่เกิดขึ้นจากการปลดล็อกกัญชา เพื่อเฝ้าระวังการแพร่ระบาดในกลุ่มเป้าหมายอย่างเร่งด่วน รวมถึงสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนให้เข้าใจถึงประโยชน์และโทษของกัญชา กระท่อม เพื่อไม่นำไปใช้ทางที่ผิด โดยการพูดคุยใน 2 ประเด็น คือ 1. มุมมองต่อการที่กัญชา กระท่อมออกจากกฎหมายยาเสพติด หรือสภาพปัญหา และผลกระทบจากการที่กัญชา และกระท่อมออกจากยาเสพติด และ 2. ข้อเสนอเชิงนโยบาย หรือแนวทางในการเฝ้าระวังปัญหาการแพร่ระบาดของกัญชาและกระท่อม
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม บอกว่า ภายหลังกระท่อม และกัญชาถูกยกเลิกจากการเป็นยาเสพติด เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ เศรษฐกิจ และการใช้กระท่อมในวิถีชาวบ้าน แต่กลับพบว่า มีการขายน้ำต้มใบกระท่อมที่ไม่ได้รับอนุญาต รวมทั้งกระท่อม กัญชา ให้แก่เด็กและเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ส่งผลให้เด็กและเยาวชนและประชาชน เข้าถึงและใช้ กัญชา กระท่อม เพิ่มขึ้น และมีการนำมาใช้ในทางที่ผิด ทั้งสันทนาการ ผสมยาควบคุม ยาอันตราย วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท และยาเสพติดให้โทษ ซึ่งนำไปสู่ปัญหาอื่นตามมา
“ผมจึงเห็นว่าจำเป็นต้องติดตามสภาพปัญหา และให้มีการเสวนาขึ้น โดยเชิญผู้ที่เกี่ยวข้อง ผู้ทรงคุณวุฒิด้านยาเสพติด นักวิชาการ เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคต่าง ๆ หน่วยงานภาคี สื่อมวลชน ประชาชนทั่วไปผู้สนใจ เข้าร่วมรับฟังการเสวนาเพื่อร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ร่วมกันสะท้อนผลที่เกิดขึ้น เพื่อเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของกัญชาและกระท่อมในกลุ่มเป้าหมายอย่างเร่งด่วน รวมถึงสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนให้เข้าใจถึงประโยชน์และโทษของกัญชา กระท่อม เพื่อไม่นำไปใช้ทางที่ผิด”
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง
วิโรจน์ สุ่มใหญ่ อดีตประธานคณะกรรมการควบคุม ยาเสพติดระหว่างประเทศ ( International Narcotics Control Board : INCB) กล่าวถึง มุมมองของต่างประเทศต่อกรณีที่ไทยนำกัญชาและกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติดว่า “เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไทยสร้างปัญหาขึ้นมาเอง แล้วประจานตัวเองให้ต่างประเทศมอง” เพราะเหมือนกับว่าอยู่ ๆ ก็ให้ประชาชนใช้สารเสพติด และจากการหารือกับภาคีหลาย ๆ รัฐ ยังให้ความเห็นด้วยว่า ไทยควรดูตัวอย่างประเทศที่เคยทำเรื่องนี้มาก่อน อย่าง ‘อุรุกวัย’ ประเทศแรกที่ให้กัญชาแบบเสพได้และค้าได้โดยประชาชน ซึ่งปัจจุบันพยายามแก้ปัญหาเรื่องนี้ และอีกประเทศคือ ‘แคนาดา’ ที่ปัจจุบันหลายคนต่างมองว่าเป็นการตัดสินใจด้านนโยบายที่ไม่ควรทำและต้องหาทางแก้ไข
ไม่มีประเทศไหน ใช้พืชเสพติด เป็นพืชเศรษฐกิจ
เมื่อย้อนกลับมาที่ประเทศไทยที่เสรีเช่นกัน มุมมองของผู้สนับสนุน มองว่า “กัญชาฟ้าใหม่ เป็นพืชเศรษฐกิจ ที่ช่วยลืมตาอ้าปาก ทำให้ชุมชนมีรายได้” ซึ่ง ไพศาล ลิ้มสถิต กรรมการบริหารศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า จากการได้ร่วมพูดคุยกับชาวบ้านที่ร่วมกันปลูกกันในลักษณะวิสาหกิจชุมชน หวังเป็นพืชเศรษฐกิจที่จะสร้างรายได้ พบว่าร้อยละ 80 ทำแล้วขาดทุน เพราะการปลูกกัญชามีต้นทุนสูง แม้จะปลูกในโรงเรือน แต่หากไม่เป็นไปตามขั้นตอนที่ถูกต้อง ก็จะไม่ได้มาตรฐานทางการแพทย์ ที่สามารถนำมาทำยาได้ และยังมีปัญหาเรื่องคนไม่รับซื้อ แม้แต่กระทรวงสาธารณสุขก็ไม่ได้รับซื้อ พบว่าชาวบ้านสูญเงินไปไม่น้อย จึงเห็นว่ารัฐไม่ควรใช้คำว่ากัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจ
“ต้องระวังการใช้คำว่ากัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจ เพราะเป็นพืชที่เป็นสารเสพติด และไม่มีประเทศไหน ที่มีนโยบายเอากัญชามาเป็นพืชเศรษฐกิจ สหรัฐอเมริกา แคนาดา หรือประเทศที่พัฒนาแล้ว ไม่มีการประกาศให้เอากัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจ หรืออย่างในสหรัฐฯ คนที่สามารถปลูกได้ ก็จะเป็นลักษณะของการออกใบอนุญาต มีการตรวจสอบเส้นทางการเงิน ต้องไม่เป็นการค้ายาเสพติด แต่ของไทยปลดไปเลย เดิมทีของไทยมีกฎกระทรวงว่าด้วยการปลูกกัญชา และ กฏหมายยาเสพติด แต่พอปลดล็อก กฎกระทรวงก็สิ้นผลไป คนจะปลูกก็ได้ สหรัฐฯ ควบคุมแม้กระทั่ง การขายให้ใคร หรือ บางประเทศจะเป็นการผูกขาด เช่น หน่วยงานรัฐเท่านั้นปลูกได้”
ไพศาล ลิ้มสถิต
กัญชา ทำลาย ‘สมองเด็ก’ ถาวร
ไพศาล บอกอีกว่า ในประเด็นเรื่อง “เด็ก” ที่พบเห็นได้จากข่าวบ่อยครั้งว่าเด็กอายุไม่ถึง 10 ปี นั่งสูบกัญชา มั่วสุม และที่แย่กว่านั้นคือ เด็กเอากัญชามาขายให้เพื่อนในโรงเรียน ให้เพื่อนสูบ ถามว่าเด็กเอามาจากไหน ซึ่งคาดว่าน่าจะมีผู้ใหญ่ที่ทำธุรกิจนี้แล้วให้เอาเข้ามา ที่สำคัญโรงเรียนจัดการอะไรไม่ได้ ดำเนินคดีไม่ได้ อาจจะต้องใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก มาเกี่ยวข้อง ซึ่งกระบวนการให้สถานศึกษาปลอดยาเสพติด เป็นนโยบายที่ทำอยู่ แต่จะมีเล็ดลอดเข้าไป หรือเป็นกลุ่มเด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษา สิ่งที่ตามมาคือ เด็กที่ใช้กัญชามีผลต่อสมอง พัฒนาการทางสมองส่วนหน้า คือเรื่องการยับยั้งชั่งใจ การใช้วิจารณญาณ หายไป ไอคิว อีคิว และไม่สามารถแก้ไขได้ และจะพัฒนาต่อไปเป็นผู้ป่วยจิตเวช
กัญชาทางการแพทย์ “ไม่ใช่ยารักษาตัวหลัก”
นพ.ล่ำซำ ลักขณาภิชนชัช รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กล่าวถึงกรณี ที่คนมักออกมารีวิวว่าใช้กัญชารักษามะเร็งหาย โดยชี้แจงตามหลักทางวิชาการ ว่าในการศึกษาทบทวนของไทยที่ได้รับการยอมรับในเรื่องกัญชาทางการแพทย์ ยืนยันว่า โรคที่ใช้กัญชารักษาแล้วมีผล มีอยู่ด้วยกัน 6 โรค ได้แก่ 1. ภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด 2. โรคลมชักที่รักษายาก 3. ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง 4. ภาวะปวดประสาท 5. ภาวะเบื่ออาหารในผู้ป่วย AIDS ที่มีน้ำหนักตัวน้อย และ 6. เพิ่มคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยระยะสุดท้าย แต่การรักษาจะเป็นตามขั้นตอนที่ว่าใช้ยาแผนปัจจุบันรักษาแล้วไม่หาย จึงจะไปใช้กัญชา และไม่ใช่ทุกรายที่ได้รับการรักษาด้วยกัญชาทางการแพทย์แล้วจะได้ผล
“ในโรคมะเร็ง จำเป็นต้องทำการศึกษาค้นคว้าอย่างจริงจัง ว่ามะเร็งมีผลต่อการรักษาอย่างไร แต่ ณ เวลานี้ยังไม่สามารถสรุปได้ว่า รักษาหายเพราะการรักษาขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล ส่วน คนเสพกัญชา ที่บอกว่า กัญชาเป็นสารเสพติดที่เสพแล้วเคลิบเคลิ้ม เพลิน อารมณ์ดี ไม่มีความรุนแรง หัวเราะ เห็นหมาวิ่งผ่านมาก็ขำแล้ว เวลาเสพแล้วอารมณ์ดี แต่ในข้อเท็จจริงที่เจอ กัญชาเล่นแล้วหลอน มีอาการนี้ก็มีนะครับ ข้อมูลนี้เขาไม่ได้บอก ใช้แล้วหลับสบายก็ต้องยอมรับว่ามีกรณีนี้เกิดขึ้นจริง แต่พอเล่นมากเข้ามันก็หลอนขึ้นจริง”
นพ.ล่ำซำ ลักขณาภิชนชัช
โดยสถิติการเข้ารับการบำบัดกัญชา กับ สบยช. พบว่า ตัวเลขปี 2565 และ 2566 สูงขึ้น คือ 22,083 ราย และ 41,516 ราย ขณะที่ปี 2567 เฉพาะเดือน ม.ค. 14,545 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 23 ม.ค.67) เชื่อว่า ตัวเลขผู้ใช้กัญชาที่ไม่เข้ารับการบำบัด จะมากกว่านี้ ขณะที่เมื่อแบ่งผู้ป่วยที่เข้ารับการบำบัดตามอายุ
สถิติคนอายุ 18 – 65 ปี หลังเปิดเสรี สูบกัญชาเพิ่มขึ้น
รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผย สถิติการใช้กัญชาและกระท่อมของคนไทยอายุ 18 – 65 ปี จากการสำรวจทั่วประเทศ พบว่า เพิ่มสูงขึ้นแบบก้าวกระโดดตั้งแต่ช่วงปลดล็อกกัญชาและกระท่อม และเมื่อแบ่งตามช่วงอายุ 18 – 19 ปี พบว่า ใช้กัญชา ‘แบบสูบ’ สูงขึ้นประมาณ 10 เท่า คือ จากร้อยละ 0.9 เป็นร้อยละ 9.7 ภายในเวลา 3 ปี ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก
พร้อมยกตัวอย่างงานวิจัยจาก ผศ.ศรีรัช ลาภใหญ่ ที่ทำการศึกษา สำรวจตลาดออนไลน์ เมื่อปี 2565 พบว่า 5 สินค้าที่มีการค้นหามากที่สุด คือ น้ำหวานทดแทนยาแก้ไอ 46% เครื่องดื่มลีน 22% กัญชาอัดแท่ง 11 เจลลี่เมา 10% เห็ดเมา 6% ซึ่งสินค้าที่เป็นสารเสพติดเหล่านี้ มักจะสร้างภาพลักษณ์ให้ดูน่าสนใจ เช่น สร้างมายาคติว่าการมึนเมาคือความสุข ลดความน่ากลัวด้วยการรีวิวประสบการณ์การใช้ ตั้งราคาให้เข้าถึงง่าย กังวลว่า การที่เด็กและเยาวชนเข้าถึงและได้ลองตั้งแต่อายุน้อย จะทำให้เขากลายเป็นผู้เสพในที่สุด