รพ.แม่สอด ตั้ง ‘ศูนย์เรียนรู้ทางการแพทย์และสาธารณสุขชายแดน’ แห่งแรก

แก้ปัญหาบุคลากรไม่เพียงพอ ยกระดับระบบบริการสุขภาพพื้นที่ชายแดน ดูแลทั้งคนไทย และต่างด้าว พร้อมเป็นด่านหน้าป้องกันควบคุมโรคระบาด เข้าสู่ประเทศ “ปลัด สธ.” เชื่อคุ้มค่า กว่าตั้งกองทุนฯ

เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 67 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดศูนย์การเรียนรู้ทางการแพทย์และสาธารณสุขชายแดน และพื้นที่พิเศษ กระทรวงสาธารณสุข แห่งแรกของประเทศ ที่ โรงพยาบาลแม่สอด จ.ตาก ผ่านกลไกของคณะกรรมการจัดตั้ง “ศูนย์การเรียนรู้ทางการแพทย์และสาธารณสุชชายแดน จังหวัดตาก“ ซึ่งมี นพ.พิศิษฐ์ ศรีประเสริฐ เป็นประธาน เพื่อเป็นแหล่งฝึกอบรม เพิ่มศักยภาพให้กับบุคลากรในการปฏิบัติงานสาธารณสุขชายแดนและพื้นที่เฉพาะ ดูแลรักษาและควบคุมโรคอย่างเหมาะสมให้กับคนไทยและต่างด้าวอย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง 6 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข, สถาบันพระบรมราชชนก, กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ, คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข, มูลนิธิ เดอะ บอร์เดอร์ แลนด์ เฮลท์ และมูลนิธิสุวรรณนิมิต

นพ.ชลน่าน บอกว่า ประเด็นสาธารณสุขชายแดน เป็น 1 ใน 13 นโยบายการดำเนินงาน เนื่องจากมีบริบทพื้นที่แตกต่างจากพื้นที่อื่น ๆ มีความซับซ้อน เชื่อมโยงกับหลายปัจจัยทั้งในและนอกประเทศ อีกทั้งยังเป็นด่านหน้าในการป้องกัน ควบคุมโรคระบาดที่จะเข้าสู่ประเทศ เช่นที่จังหวัดตาก มีประชากรทั้งชาวไทย ชาวไทยภูเขา และชาวต่างชาติ มีโรคระบาดที่พบบ่อย ได้แก่ มาลาเรีย วัณโรค และโรคไข้เลือดออก ซึ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขในพื้นที่ โดยเฉพาะอัตรากำลังและศักยภาพของบุคลากร ที่ต้องมีทักษะและความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน รวมถึงมีประสบการณ์ในการปฏิบัติงาน โดยเฉพาะการจัดการกับปัญหาสุขภาพของประชากรไทยและต่างด้าว 

การลงนามความร่วมมือเปิดศูนย์การเรียนรู้ฯ ที่จังหวัดตาก ครั้งนี้ จะทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาสาธารณสุข รวมถึงการพัฒนาระบบบริการในพื้นที่ชายแดนของจังหวัดตากอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน โดยความร่วมมือและการสนับสนุนทรัพยากรที่จำเป็นในการจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอน ทั้งภาคทฤษฎีและการฝึกภาคสนาม ที่สอดคล้องกับสภาพปัญหาในพื้นที่ชายแดน ช่วยพัฒนาศักยภาพบุคลากรให้สามารถปฏิบัติงานในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมทางการแพทย์และสาธารณสุขให้พร้อมรับมือกับปัญหาสาธารณสุขชายแดน ส่งผลให้สามารถดูแลสุขภาพประชากรในพื้นที่ชายแดนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้

The Active พบว่า ที่ผ่านมาโรงพยาบาลตามแนวชายแดนมักประสบปัญหาวิกฤติสถานะทางการเงิน และยังขาดกำลังคน เนื่องจากงานสาธารณสุขชายแดนจะไม่เหมือนในเมือง ต้องดูแลประชากรที่ไม่ใช่คนไทย แต่ไม่ดูแลไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องมนุษยธรรม และยังเป็นการป้องกันโรคระบาดที่จะแพร่มายังคนไทย

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า กรณีโรงพยาบาลชายแดนและถิ่นทุรกันดารนั้น เบื้องต้นที่มีปัญหาขาดแคลนแพทย์ บุคลากร และเป็นโรงพยาบาลที่มีลักษณะเฉพาะอย่าง โรงพยาบาลที่อยู่ในเขตอุทยานฯ เช่น โรงพยาบาลแก่งกระจาน รวมทั้ง โรงพยาบาลตามแนวชายแดน และห่างไกล เช่น ตาก แม่ฮ่องสอน บึงกาฬ หลีเป๊ะ กำลังรวบรวมว่ามีกี่กลุ่ม จากนั้นจะจัดกระบวนการในการดูแลให้เหมาะสม

“การจัดเป็นศูนย์ฝึกอบรมด้านสาธารณสุขในพื้นที่เฉพาะตามแนวชายแดน เมื่อมีบุคลากรจบการศึกษา และอยากทราบปัญหาชายแดนก็ส่งไปฝึกอบรมตรงนั้น เท่าที่ถามน้องๆหมอหลายคนก็อยากทราบว่า โรงพยาบาลชายแดนอยู่กันอย่างไร มีการดำเนินการ ให้บริการอย่างไรบ้าง เพื่อให้มีคนไปหมุนเวียนรวมไปถึงการศึกษาวิจัยต่างๆ ตรงนี้จะเป็นการแก้ปัญหาระยะกลาง และระยะยาวได้”

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์

ส่วนข้อเสนอให้ตั้งกองทุนสาธารณสุขชายแดนนั้น ก็ต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน เพราะหากตั้งเพิ่มก็จะมีข้อจำกัดต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม มองว่า การวิจัย การฝึกอบรมบุคลากรน่าจะยั่งยืนมากกว่า การตั้งเป็นศูนย์ฝึกอบรมฯ ก็จะได้นำประสบการณ์มาใช้กับพื้นที่ตัวเอง และยังเกิดประโยชน์ทุกฝ่าย คนไปฝึกอบรมก็ได้ประโยชน์ ทางพื้นที่ก็ได้หมอ และยังได้งบประมาณจากการฝึกอบรม การวิจัยพัฒนา ก็จะมีงบตรงนี้ด้วยเช่นกัน  

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active