ไทย พบเด็กประถม ขายบุหรี่ไฟฟ้าเลี้ยงปากท้อง

WHO เตือนเด็ก 13-15 ปีทั่วโลกติดบุหรี่กว่า 37 ล้านคน สสส.ร่วมภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรม “วันงดสูบบุหรี่โลก” เปิดข้อมูลเตือนภัยสถานการณ์บุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าระบาดหนัก อายุรแพทย์ ห่วง ปอดคนไทยเจอพิษฝุ่น PM2.5 และควันบุหรี่ ตัวก่อ “มะเร็งปอด”

วานนี้ (30 พ.ค. 2567) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัด 2 กิจกรรมเนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก ได้แก่กิจกรรม ThaiHealth Watch The Series ชื่อตอนว่า เล่นเรื่องปอด : เมื่อปอดไม่ปลอดภัย… จากฝุ่นพิษและบุหรี่ไฟฟ้า มุ่งเปิดพื้นที่ถ่ายทอดประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ และแนะแนวทางป้องกันและดูแลตนเอง และ โครงการเครือข่ายทันตบุคลากรต้านภัยยาสูบ โดย ทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ภายใต้แนวคิด “รักเพื่อน เตือนกัน ไม่สูบ” หวังกระตุ้นเยาวชนให้กล้าปฏิเสธบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าเมื่อถูกชักชวน

ฝุ่น PM2.5 – บุหรี่ไฟฟ้า ทำลายปอด

เบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร รองผู้จัดการ สสส. และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส.กล่าวเปิด กิจกรรม ThaiHealth Watch The Series ได้นำเสนอเครื่องมือการเรียนรู้ชุด “รู้ทันกลลวงบุหรี่ไฟฟ้า” 4 ประเด็น 1.การรู้เท่าทันการตลาดของบุหรี่ไฟฟ้า 2. สารพิษที่เคลือบแฝงในบุหรี่ไฟฟ้า 3. ผลกระทบต่ออวัยวะต่างๆ 4. สถานการณ์และกรณีศึกษาของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากบุหรี่ไฟฟ้า มุ่งสร้างความตระหนักถึงภัยสุขภาพปอดที่มาจากอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า และฝุ่น PM2.5 ในระดับที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสุขภาพ เนื่องจากไทยกำลังเผชิญปัญหาฝุ่น PM 2.5 เข้าขั้นวิกฤตกว่า 38 ล้านคน ต้องอยู่ในพื้นที่ฝุ่น PM 2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ในจำนวนนี้เป็นเด็กกว่า 3.5 ล้านคน ที่หายใจนำฝุ่นเข้าปอดเทียบเท่ากับการสูบบุหรี่ 4 มวนต่อวัน ยิ่งไปกว่านั้น กลยุทธ์ตลาดบุหรี่ไฟฟ้ายังมุ่งเป้าไปที่กลุ่มเด็ก สสส. จึงเร่งสร้างการตระหนักรู้ให้กับภาคีสุขภาวะ ร่วมกันขับเคลื่อนให้ประชาชนทุกกลุ่มมีสุขภาวะที่แข็งแรงและปลอดภัย

นพ.วินัย โบเวจา หัวหน้าศูนย์สุขภาพปอด อายุรแพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบทางเดินหายใจ และภาวะวิกฤตทางเดินหายใจ โรงพยาบาลพญาไท 3

นพ.วินัย โบเวจา หัวหน้าศูนย์สุขภาพปอด อายุรแพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบทางเดินหายใจ และภาวะวิกฤตทางเดินหายใจ โรงพยาบาลพญาไท 3 กล่าวว่า โรคมะเร็งปอด ติด 1 ใน 5 อันดับมะเร็งที่คร่าชีวิตประชากรโลก สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจาก 2 ปัจจัยสำคัญ คือ ฝุ่น PM2.5 และควันจากบุหรี่ไฟฟ้า กล่าวคือ มลพิษทางอากาศ PM2.5 ที่เกินค่ามาตรฐานในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ทำให้เกิดอาการไอ เลือดกำเดาไหล หรือภูมิแพ้ ที่สำคัญฝุ่น PM 2.5 กระตุ้นให้สารพันธุกรรมกลายพันธ์เป็นเซลล์มะเร็งได้ สารพิษจากบุหรี่ไฟฟ้า ประชาชนบางส่วนมีความตระหนักเรื่องความอันตรายของสารนิโคติน แต่สารปรุงสี แต่งกลิ่นเพื่อดึงดูดผู้สูบหน้าใหม่ ที่มีกว่า 7,000 ชนิดในบุหรี่ไฟฟ้า ทำให้เกิดอันตรายที่ส่งผลกระทบต่อปอดรุนแรงทวีคูณ เนื่องจากไอระเหยมีขนาดเล็กเมื่อเข้าสู่เนื้อเยื่อปอดทำให้เกิดการระคายเคือง เกิดโรคหอบหืด และอักเสบในทางเดินหายใจ รวมถึงส่งผลกระทบต่อหัวใจ สมอง และฟัน จึงควรป้องกันตนเอง หลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่ที่จะได้รับมลพิษจากฝุ่น PM2.5 และไอจากบุหรี่ไฟฟ้า

นพ.วินัย ได้เสนอ 6 แนวทางเลี่ยงเกิดโรคมะเร็งปอด

  1. รับประทานอาหารบำรุงปอด อาหารประเภทที่ช่วยต่อต้านสารอนุมูลอิสระ อาทิ แอปเปิ้ล บรอกโคลี ถั่ว ขิง ผลไม้ตระกูลเบอร์รี
  2. ออกกำลังกายบริหารปอด หายใจเข้า-ออกลึก ๆ เพื่อบริหารปอด กระบังลม และกล้ามเนื้อทรวงอก
  3. หลีกเลี่ยงพฤติกรรมทำลายปอด เช่น สัมผัสควันบุหรี่ อยู่ในพื้นที่ที่มีการเผา
  4. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 7-8 ชม. ต่อวัน
  5. ดื่มน้ำให้เพียงพอ 8 แก้วต่อวัน เพื่อให้ปอดชุ่มชื้น
  6. รักษาปอดให้อบอุ่นอยู่เสมอ ห่มผ้าปิดหน้าอกให้มิดชิดในขณะนอนหลับ
สุรเสกข์ ยุทธิวัฒน์ ผู้ก่อตั้งเพจ Toolmorrow

พบเด็กประถมขายบุหรี่ไฟฟ้าหารายได้เลี้ยงตัว

สุรเสกข์ ยุทธิวัฒน์ ผู้ก่อตั้งเพจ Toolmorrow กล่าวว่า เด็กนักเรียนเริ่มสูบบุหรี่ไฟฟ้า เนื่องจากรูปลักษณ์ของบุหรี่ไฟฟ้าน่ารัก เสมือนไม่มีพิษภัย และมีรสชาติที่หวาน หอม ดึงดูดให้หลงใช้ จากการลงพื้นที่สำรวจในโรงเรียนชั้นประถมศึกษาในภาคกลาง พบนักเรียน 20 คน เคยใช้และจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจครัวเรือน ขาดความรู้ถึงพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้า และโครงสร้างสังคม ที่ทำให้ขาดความสัมพันธ์ในครอบครัว

สุรเสกข์ กล่าวอีกว่า จากปัญหาที่เกิดขึ้น ได้พัฒนาสื่อการเรียนรู้ในรูปแบบภาพยนตร์สั้นที่ให้คนดูสามารถเลือกการดำเนินเรื่องเอง (Interactive) ชื่อเรื่อง “บานปลาย” นำเสนอแนวทางการสื่อสารเชิงบวกสำหรับผู้ปกครอง เตรียมความพร้อมรับมือกับปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเด็กและเยาวชน รับชมได้ที่เว็บไซต์ https://toolmorrow.com/portfolio-item/escalate/

สูบบุหรี่เสี่ยงสูญเสียฟันสูงกว่าคนไม่สูบ 2 เท่า

ทพ.อดิเรก ศรีวัฒนาวงษา นายกทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การศึกษาระยะยาว พบว่า คนที่สูบบุหรี่สูญเสียฟันถึง 2 เท่าของผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ และผู้ได้รับควันบุหรี่มือสองมีการสูญเสียฟันมากกว่าผู้ไม่สูบบุหรี่ จากการสำรวจโดยทันตบุคลากร ปี 2566 พบเด็กในกรุงเทพฯ เคยสูบบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้าถึง 9% หรือพบทุก 1 ใน 10 คน สอดคล้องกับข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่พบอายุเฉลี่ยของผู้เริ่มสูบบุหรี่มีอายุน้อยลง มีเด็กอายุ 13-15 ปี ติดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าถึง 37 ล้านคนทั่วโลก และที่น่ากังวลคือเด็กและเยาวชนเป็นกลุ่มวัยที่มีอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าสูงมากกว่าวัยอื่น ๆ

“เด็กและเยาวชนไทยเข้าถึงบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าได้ง่าย โดยเฉพาะบุหรี่ไฟฟ้าที่ระบาดในเด็กระดับประถมศึกษา เนื่องจากกลยุทธ์การตลาดของผู้ผลิตที่มุ่งเป้าเด็กและเยาวชน ออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีสีสันสวยงาม มีการแต่งกลิ่นดึงดูดใจ เพื่อร่วมรณรงค์เนื่องในโอกาสวันงดสูบบุหรี่โลก ปี 2567 ภายใต้คำขวัญ ร่วมปกป้องเด็กและเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า วิชาชีพทันตแพทย์ และภาคีเครือข่าย จึงขอให้รัฐบาลได้คำนึงถึงโทษของบุหรี่ไฟฟ้าต่อสุขภาพของเด็กและเยาวชน โดยคงกฎหมายห้ามการนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าและจัดจำหน่าย เช่นเดียวกับ สิงคโปร์ ไต้หวัน และฮ่องกง ต่อไป”

ทพ.อดิเรก ศรีวัฒนาวงษา

ทพ.อดิเรก กล่าวอีกว่า สำหรับข้อมูลทางทันตแพทยศาสตร์ พบว่าไอระเหยจากบุหรี่ไฟฟ้าส่งผลให้เสียสมดุลของจุลินทรีย์ในช่องปาก จุลินทรีย์ดีลดลง เพิ่มจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคในช่องปาก เพิ่มโรคปริทันต์ ส่งผลต่อการยึดติดของรากฟันเทียม การใส่ฟันปลอมถอดได้ และการจัดฟัน นอกจากนี้ ยังพบว่าเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคฟันผุ  Streptococcus mutans เพิ่มขึ้น พบความสัมพันธ์ระหว่างการสูบบุหรี่ไฟฟ้ากับการมีเลือดออกเวลาแปรงฟัน  และพบรอยโรคในช่องปาก เช่น เพดานปากอักเสบ ลิ้นเป็นฝ้า และการอักเสบบริเวณมุมปาก

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า บุหรี่ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อสุขภาพช่องปากและฟัน แต่ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด 2-4 เท่า เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอด 25 เท่า แต่ละปีมีประชากรโลกเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ประมาณ 8 ล้านคน ขณะที่ข้อมูลภาระโรคจากปัจจัยเสี่ยงของประชากรไทย ปี 2562 โดยสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ พบว่า การสูบบุหรี่ทำให้เกิดการสูญเสียปีสุขภาวะ (DALYs) 2,817,347 ปี คิดเป็น 14.6% ของการสูญเสียทั้งหมด และเป็นสาเหตุสำคัญต่อการเสียชีวิตของคนไทย 15.6% โดยเสียชีวิตจากโรคมะเร็งมากที่สุด 26.1% ที่น่าห่วงคือ การแพร่ระบาดของ “บุหรี่ไฟฟ้า” ที่กำลังเป็นกระแสนิยมมากขึ้นในเด็กและเยาวชน จากผลสำรวจการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบในเยาวชนไทย ปี 2565 (Global Youth Tobacco Survey : GYTS) พบเด็กและเยาวชนไทยสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มเป็น 17.6% จากเดิมอยู่ที่ 3.3% ในปี 2558 เพิ่มขึ้น 5.3 เท่า ทั้งนี้ หากเด็กที่ไม่เคยสูบบุหรี่มาก่อน เริ่มสูบบุหรี่จะมีแนวโน้มสูบบุหรี่ธรรมดาเพิ่มขึ้น 5 เท่า และมีแนวโน้มสูบบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่ธรรมดาเพิ่มขึ้นถึง 7 เท่า

“สสส. สนับสนุนกลไกเครือข่ายควบคุมยาสูบทุกภาคส่วน ขับเคลื่อนทางนโยบาย/มาตรการควบคุมยาสูบ หนุนเสริมระบบกลไกการสร้างเสริมสุขภาพ สร้างกระแสทางสังคมและความรอบรู้ด้านการควบคุมยาสูบและบุหรี่ไฟฟ้า หนึ่งในนั้นคือ การสนับสนุนการดำเนินงานของเครือข่ายทันตบุคลากรต้านภัยยาสูบ ช่วยให้ผู้ป่วยเลิกบุหรี่และป้องกันนักสูบหน้าใหม่มาตั้งแต่ปี 2548 พบว่าประสบความสำเร็จ ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการช่วยเลิกบุหรี่ ตลอดจนพัฒนารูปแบบการป้องกันนักสูบหน้าใหม่ในกลุ่มเยาวชนอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับภารกิจ ของ สสส. ที่ต้องการผลักดัน กระตุ้น สนับสนุน และร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อให้คนไทยมีสุขภาพโดยรวมที่ดี ลดอัตราการเจ็บป่วย และเสียชีวิตก่อนวัยอันควร”

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์

ทพ.สุธา เจียรมณีโชติชัย คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม กล่าวว่า การเริ่มสูบบุหรี่ในเด็กจะทำให้เสพติดและเลิกได้ยากมาก ส่งผลให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพช่องปาก สุขภาพร่างกาย และสติปัญญา ทันตบุคลากรจึงให้ความสำคัญการป้องกันผู้สูบบุหรี่หน้าใหม่ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ได้ช่วยผู้ป่วยเลิกบุหรี่ในคลินิกทันตกรรมสังกัดกระทรวงสาธารณสุข สามารถชักชวนผู้สูบบุหรี่ให้เข้าร่วมโครงการได้ 51.32% จากผู้สูบ 26,109 ราย และมีผู้ที่สามารถเลิกสูบบุหรี่ได้สำเร็จ 1,272 ราย คิดเป็น 9.5%

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active