สรุปสาระสำคัญ ร่างกม. ขยายความหมาย อาการผิดปกติทางจิตให้ครอบคลุมสาเหตุจากสุรา ยาเสพติด ตั้ง กองทุนสุขภาพจิตแห่งชาติ ระดมเงินบริจาค มาฟื้นฟูรักษาผู้ป่วย ใครเสนอข่าวเฟคนิวส์ทำให้ประชาชนหวั่นไหวถือเป็นความผิด เจอโทษหนัก
วันนี้ (14 ส.ค. 67) ตรีชฎา ศรีธาดา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า ผลสรุปการแสดงความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติสุขภาพจิต (ฉบับที่ …) พ.ศ. …. ที่เปิดการรับฟังหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไประหว่างวันที่ 24 กรกฎาคม – 8 สิงหาคม 2567 ได้ปรากฎออกมาแล้ว
จากผู้ตอบแบสอบถาม 1,143 คน เห็นด้วยกับการจัดตั้ง “กองทุนสุขภาพจิตแห่งชาติ” จำนวนมากถึง 97.99% (1,120 คน) เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.สุขภาพจิต (ฉบับที่…) พ.ศ…98.69 % (1,128 คน) ไม่เห็นด้วย 1.31 % (15 คน)
จากนี้จะได้นำเสนอต่อคณะกรรมการสุขภาพจิตเพื่อพิจารณาปรับปรุงร่างพ.ร.บ.นี้ให้สมบูรณ์ต่อไป ก่อนจะเสนอต่อ สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเสนอขอความเห็นชอบต่อคณะรัฐมนตรีและเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร
ตรีชฎา กล่าวว่า สาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.สุขภาพจิตแห่งชาติ (ฉบับที่…) พ.ศ. …. เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ. 2551 และแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2562 โดยฉบับใหม่นี้ มีผู้เห็นชอบจากการรับฟังความเห็นเป็นส่วนใหญ่ มีสาระสำคัญ 2 ประการ คือ ประการแรก ปรับแก้นิยามศัพท์ “อาการผิดปกติทางจิต” ให้หมายรวมถึงอาการผิดปกติของจิตใจที่เกิดจากสุรา ยาเสพติดและสารอื่นที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ซึ่ง พ.ร.บ.ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันไม่ครอบคลุมยาเสพติด
ประการที่สอง จัดตั้ง “กองทุนสุขภาพแห่งชาติ” กำหนดที่มาของแหล่งเงินไว้ 10 ประการ เช่น เงินทุนประเดิมที่รัฐบาลจัดสรรให้และเงินอุดหนุนจากรัฐบาล, เงินและทรัพย์สินที่มีผู้บริจาค มอบ หรืออุทิศให้, เงินและทรัพย์สินที่ได้จากภาคเอกชนทั้งภายในและภายนอกประเทศ เป็นต้น
เงินที่ได้จากแหล่งต่าง ๆ ในร่างพ.ร.บ.ใหม่นี้ กำหนดให้นำไปใช้ประโยชน์ เช่น ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีระบบการดูแลและผู้มีปัญหาสุขภาพจิตและปัญหาพัฒนาการที่ไม่สามารถกลับคืนสู่สุขภาวะหรือกลับคืนสู่สังคมเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและเพื่อความปลอดภัยต่อสังคม
โฆษก สธ.ฝ่ายการเมืองกล่าวว่า เนื้อหาในร่างพ.ร.บ.ยังเสนอให้กองทุนสุขภาพจิตแห่งชาติ มีอำนาจควบคุมเนื้อหาข้อมูลข่าวสารที่คุกคามต่อสุขภาพจิต เพื่อปกป้อง คุ้มครองสังคมจากการนำเสนอข่าวเฟคนิวส์ หรือข่าวสารลักษณะอื่น ๆ ที่เผยแพร่ทางสื่อต่าง ๆ โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ที่เกิดผลกระทบกระเทือนจิตใจ ทำให้ประชาชนเกิดความรู้สึกหวั่นไหว จะเป็นโรคจิต หรืออาการผิดเพี้ยนทางอารมณ์และจิตใจ โดยอาจจำเป็นต้องมีบทลงโทษ ทั้งนี้ อธิบดีกรมสุขภาพจิตจะเป็นผู้ควบคุมดูแลเนื้อหาในส่วนนี้