ตั้ง อนุฯ ศึกษาสุขภาพจิตทุกช่วงวัย กู้วิกฤตระบบสาธารณสุข

‘สส.หมิว’ หวัง ข้อเสนอมีน้ำหนัก เพิ่มนิยามในร่าง พ.ร.บ.สุขภาพจิตฉบับใหม่ ดึงสหวิชาชีพด้านสุขภาวะทางจิตสู่ระบบ เร่งเข้าถึงคนที่มีภาวะเสี่ยง ไม่ต้องปล่อยให้กลายเป็นผู้ป่วย

เมื่อวันที่ (22 พ.ค. 68) ที่ รัฐสภา สิริลภัส กองตระการ สส. กทม.เขตบางกะปิ พรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาหาแนวทางการปรับปรุงระบบบริการสุขภาพจิตของประชาชนทุกช่วงวัย พร้อมคณะ ระบุถึง การตั้งอนุฯ ชุดดังกล่าว โดยระบุว่า ปัญหาสุขภาพจิต เป็นวิกฤตการสาธารณสุขอีกวาระหนึ่งของประเทศไทย ปัจจุบันมีผู้ป่วยจิตเวชมากกว่า 3 ล้านคน ประสบปัญหาเครียด ซึมเศร้า ไบโพลาร์ คิดฆ่าตัวตายสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข จึงมีมติในวันที่ 10 เม.ย. 68 ให้ตั้งคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาหาแนวทางการปรับปรุงระบบบริการสุขภาพจิตของประชาชนทุกช่วงวัย มีวาระการดำเนินงาน 90 วัน โดยอนุฯ คณะนี้จะประกอบไปด้วย ผู้แทนราษฎร ผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพจิต นักวิชาการ และภาคประชาชน ซึ่งมีวัตถุประสงค์ดังนี้

  • ศึกษาพิจารณาสภาพปัญหา สาเหตุ และแนวทางการดูแลสุขภาพจิตของประชากรกลุ่มต่างๆ ตั้งแต่การสร้างเสริมป้องกัน การคัดกรอง การรักษา และการฟื้นฟูสุขภาพจิต

  • ศึกษาพิจารณาแนวทางการปรับปรุงระบบการให้บริการสุขภาพจิตทั้งการพัฒนากำลังคน ระบบข้อมูล งบประมาณ ระบบเครื่องมือ และการอภิบาลระบบ ครอบคลุมการให้บริการภาครัฐและเอกชน

  • ศึกษาพิจารณาปรับปรุงระเบียบ กฎหมาย ที่เอื้อต่อการพัฒนาระบบสุขภาพจิต

ทั้งนี้ การติดตาม ตรวจสอบ และพัฒนาข้อเสนอนโยบายสำหรับระบบบริการสุขภาพจิต ยังครอบคลุมไปถึงการสร้างเสริม ป้องกัน คัดกรอง รักษา และฟื้นฟู ในทุกช่วงวัย รวมถึงกลุ่มอาชีพต่าง ๆ เช่น ทหาร ตำรวจ ครู บุคลากรแพทย์และทีมสหวิชาชีพ กลุ่มแรงงาน พนักงานออฟฟิศ และกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ เช่น ผู้มีภาวะจิตเวช คนไร้บ้าน เยาวชนในสถานพินิจ ผู้ถูกดำเนินคดีในเรือนจำ ให้เข้าถึงการบริการอย่างเหมาะสม

สิริลภัส กองตระการ สส.กทม. พรรคประชาชน

สิริลภัส เปิดเผยกับกับ The Active เพิ่มเติมว่า สำหรับการจัดทำเป็นรายงานสิ่งที่อยากจะติดตามคือในมุมของราชการ ทางคณะจึงต้องทราบข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญได้เต็มที่ทุกฝ่ายว่าตอนนี้เขาติดขัดเรื่องอะไร เท่าที่ทราบข้อมูลที่ได้มาตอนนี้ คือ งบประมาณน้อย ในการดำเนินการต่าง ๆ เพื่อจะแก้ไขปัญหา เช่น การเพิ่มกำลังคน บุคลากรต่าง ๆ ทำให้การเพิ่มกรอบอัตรากำลังคนทำได้น้อย การมีแรงจูงใจหรือประสานบุคลากรที่ให้อยู่ในระบบก็จะน้อยลงด้วย เรื่องนวัตกรรมเทคโนโลยีต่างๆ เช่นการใช้ AI เชื่อมโยงข้อมูล การใช้นวัตกรรมในการรักษาทำให้ผู้ป่วยหายได้เร็วมากขึ้น การเพิ่มรายชื่อยาจิตเวชในบัญชียาหลักแห่งชาติให้ผู้ป่วยได้มีทางเลือกมากขึ้น รวมถึงชุดสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่ผู้ป่วยควรจะเข้าถึงได้มากยิ่งขึ้นเหล่านี้จะทำอย่างไร

อีกส่วนหนึ่งคือ การเพิ่มความรอบรู้ทางด้านสุขภาพจิต ที่กรมสุขภาพจิต พยายามขับเคลื่อนอยู่ตอนนี้ คือ เน้นการส่งเสริม และป้องกัน เพิ่มความรอบรู้ด้านสุขภาพจิต เพิ่มบุคลากรด้านหน้า ซึ่งส่วนตัวมองว่ากรมสุขภาพจิตเดินมาถูกทางแล้ว

“ตอนนี้คน ของ เดินไปได้ช้าด้วยงบประมาณที่จำกัด เพราะฉะนั้นเราป้องกันไว้ก่อนไม่ให้มีผู้ป่วยหน้าใหม่ ถ้าเราทำตรงนี้ได้ก่อน ช้อนคนที่มีภาวะไม่กลายเป็นผู้ป่วย ถือว่าใช้งบฯ ที่น้อยลง ถ้าเกิดทำสำเร็จงบฯ ที่มีอยู่น้อยนิด กรมสุขภาพจิตจะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”

สิริลภัส กองตระการ

ส่วนความเห็นต่อร่าง ร่าง พ.ร.บ.สุขภาพจิตฉบับใหม่นั้น สิริลภัส บอกว่า พ.ร.บ.สุขภาพจิต ที่มีอยู่ตอนนี้ส่วนใหญ่เป็นเนื้อหาว่าผู้ป่วยคือใคร อำนาจของคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติมีอะไรบ้าง ตอนนี้มีร่างฯ ของคณะรัฐมนตรีที่จะเสนอเข้ามา คือเพิ่มเรื่องของยาเสพติดเข้าไป เพิ่มอัตราของคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติที่มีหน่วยงานเพิ่มเข้ามามากขึ้น กองทุนสุขภาพจิตแห่งชาติ ซึ่งต้องติดตามต่อไปว่าจะสามารถนำเข้าสู่สภาฯ เมื่อไร

แต่สิ่งที่ต้องการ คือ จะเพิ่มเนื้อหาใน พ.ร.บ.สุขภาพจิต ให้มากขึ้นได้หรือไม่ เพราะตอนนี้ยังไม่เห็นนิยามคำว่า นักจิตวิทยา นักบำบัด หรือ สหวิชาชีพต่าง ๆ ว่าควรจะอยู่ภายใต้สังกัดหน่วยงาน กระทรวง กรม หรือกองใด ตัวอย่างนักจิตวิทยาปรึกษา ที่เป็นกำลังสำคัญอย่างมากต่อการลดปัญหาเวลานี้ แต่ยังมีสถานะเป็นสมาคมไม่มีการกำกับดูแล ส่งผลต่อความไม่มั่นคงในอาชีพ ความก้าวหน้า รวมถึงเมื่อกระทำความผิดไม่สามารถเอาผิดทางอาญา พักใช้หรือยึดใบประกอบวิชาชีพได้เช่นเดียวกับแพทยสภา ซึ่งเป็นปัญหาอยู่ในปัจจุบันที่มีการหลอกลวง คนที่กำลังป่วยทางใจอยู่แล้ว

สำหรับกระบวนการดำเนินงาน มีระยะเวลา 90 วัน โดยในวาระที่ 2 (22 พ.ค.68) เป็นเรื่องการพัฒนาระบบนิเวศสุขภาพจิตในภาพรวม ได้แก่ สถานการณ์ภาพรวมนิเวศระบบสุขภาพจิต อุปสรรคการพัฒนานิเวศที่เอื้อต่อสุขภาพจิตสำหรับทุกช่วงวัย และข้อเสนอในการพัฒนาระบบนิเวศสุขภาพจิต ด้นกำลังคน งบประมาณ การปรับปรุงกฎหมาย โดยมีตัวแทนจากกรมสุขภาพจิต นักวิชาการ และภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านสุขภาวะทางจิตเข้าให้ความเห็น

ทั้งนี้ผลการพิจารณา คณะอนุฯ จะประมวลผลการพิจารณารายครั้ง และจัดทำรายงานการศึกษาฉบับสมบูรณ์ เพื่อส่งข้อสังเกต กมธ.ชุดใหญ่ และส่งต่อให้ ครม. พิจารณาต่อไป

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active