สธ. ขานรับข้อเสนอ ร่างพ.ร.บ.สุขภาพจิต หนุนส่งเสริมป้องกันทุกมิติ

สิ้นสุดการรับฟังความเห็น “ร่าง พ.ร.บ.สุขภาพจิต” อธิบดีกรมสุขภาพจิต เผย ภาคีเครือข่าย ประชาชนร่วมแสดงความเห็นกว่าพันคน เห็นด้วย 95% พร้อมรับทุกข้อเสนอเพื่อปรับปรุงต่อ ด้าน “สมศักดิ์” ยอมรับวงในยังถกเถียงรายละเอียดการตั้งกองทุน 

จากกรณี “เครือข่ายสุขภาวะทางจิต” มีข้อเสนอ ต่อ ร่างพ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ. .… ห่วงเทน้ำหนักบำบัดยาเสพติดจนลืมงานสร้างเสริมสุขภาวะทางจิต แนะกำหนดนิยามการมีสุขภาพจิตที่ดี เป็นสิทธิมนุษยชน ติงให้อำนาจ อธิบดีกรมสุขภาพจิต คุมเฟคนิวส์ โดย วันนี้ (8 ส.ค. 67) ครบกำหนด 15 วัน สิ้นสุดระยะเวลาของการรับฟังความคิดเห็น ร่างพ.ร.บ.สุขภาพจิต ผ่านทางเว็บไซต์ระบบกลางทางกฎหมาย ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 24 ก.ค. ที่ผ่านมา 

นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยกับ The Active ว่า จากรายงานการแสดงความคิดเห็นร่าง พ.ร.บ.นี้มีมากกว่า 1,000 คนที่เข้ามาให้ข้อมูล และให้ความเห็นชอบถึง 95% รวมทั้งมีภาคีเครือข่ายและภาคประชาชนหลายภาคส่วนร่วมแสดงความ ซึ่งเรายินดีอยู่แล้ว และสนับสนุน ในส่วนของข้อเสนอของภาคประชาชนรับปากว่าจะนำมาคุยในที่ประชุม มีการคุยรายละเอียดกันเยอะ บางทีประชุมกันยาวเกินเวลาไปด้วยเพื่อที่จะให้ลงลึกลึกได้ว่า สิ่งที่สะท้อนมามีประเด็นปัญหาอย่างไรต้องปิดช่องโหว่อะไรบ้าง หรือไม่

นพ.พงศ์เกษม กล่าวถึงประเด็นที่มีการควบรวมประเด็นยาเสพติดเข้ามาใน ร่าง พ.ร.บ.สุขภาพจิต ขอยืนยันว่า เรื่องจิตเวชทั่วไปไม่ได้ทอดทิ้ง โดยจากประสบการณ์ตั้งแต่เปิดกรมสุขภาพจิตมา การส่งเสริมป้องกัน เป็นเรื่องที่สำคัญมากที่สุด และควรส่งเสริมป้องกันตั้งแต่เด็ก หรือย้อนกลับไปตั้งแต่พ่อแม่ที่แต่งงานกันก่อนด้วยก่อนจะมีลูก จะได้เข้าใจทักษะการเป็นพ่อแม่ทำอย่างไรให้ลูกมีอารมณ์จิตใจดี มีวัคซีนทางใจที่ดี ก่อนที่จะเข้าสู่ระบบโรงเรียน พอเข้าสู่ระบบโรงเรียนก็ควรจะมีการสอนครูให้สังเกตเป็นและสามารถให้คำปรึกษาเด็กได้เบื้องต้น โดยช่วงที่เป็นจุดเปลี่ยนคือช่วงมัธยมที่สำคัญมาก นี่เป็นลำดับของการส่งเสริมป้องกัน 

”ถ้าเราทอดทิ้งหลายเสาหลักจะเสีย บ้านจะทรุด บ้านหลังใหญ่คือภาวะของความเป็นโรคจะทรุดลง เพราะฉะนั้นเราต้องเน้นส่งเสริมป้องกัน สุขภาพจิต“​ 

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว

อย่างไรก็ตาม นพ.พงศ์เกษม มองว่าเรื่องยาเสพติดกับเรื่องสมองมันไปด้วยกัน เมื่อก่อนเฮโรอีนสามารถใช้ยาดีท็อกลดความเป็นพิษได้ แต่ปัจจุบัน ยาบ้าทำลายสมองเลย เมื่อทำลายสมองก็กลายเป็นอาการจิตเวชเป็นวนลูป ก็เลยเป็นนโยบายของรัฐบาลที่จะทำเรื่องนี้ที่มันผสมผสานกันจะได้ดูแลครบวงจร คือ สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข มีโรงพยาบาลจังหวัดทั่วประเทศอยู่แล้วทุกจังหวัด และมีโรงพยาบาลชุมชนทุกอำเภอก็รองรับได้ แต่ถ้าเป็นผู้ป่วยสีแดงก็ต้องเข้าสู่โรงบาลศูนย์ที่ใหญ่ขึ้นมีโรงพยาบาลจิตเวชหรือธัญญารักษ์ต่าง ๆ เมื่ออาการดีขึ้นกลับเป็นผู้ป่วยสีเหลือง, สีเขียวเข้าสู่ชุมชนต้องฟื้นฟู ส่งเสริมอาชีพการงาน จึงจะอยู่ในสังคมได้ ตรงนี้ก็เป็นลักษณะของทำงานร่วมกันในชุมชนเชิงฟื้นฟู ไม่ใช่ทางการแพทย์ที่ต้องใช้ยา 

”ผมเปรียบเทียบเหมือนพื้นราบเหมือนคนปกติ แต่พื้นที่มันหลุมยุบลงไปอาจจะเป็นกลุ่มคนเปราะบาง ต้องปรับให้ขึ้นมาเป็นเหมือนพื้นราบ ส่วนคนดีเป็นพื้นราบอยู่แล้ว เราจะได้อัปให้ดีขึ้นไป ก็เป็นหลักการใน ร่าง พ.ร.บ.สุขภาพจิต อยู่แล้ว ข้อมูลจากการรับฟังความเห็นทั้งหลาย เรามีคณะกรรมการดูแล มีภาคประชาชน มีเอ็นจีโอ มีหน่วยราชการหลายหน่วยเช่นกลาโหม อัยการสูงสุดในด้านกฎหมายก็มีผู้รู้ และเราก็เปิดรับฟังความเห็นของประชาชนเพื่อมาพัฒนาปรับปรุง“ 

นพ.พงศ์เกษม กล่าว

ส่วนการตั้งกองทุนสุขภาพจิตแห่งชาติ นั้น จะต้องเช็คลิสต์ 15 ข้อจากกรมบัญชีกลาง โดยการตั้งกองทุนหมุนเวียน ต้องไม่ซ้ำซ้อน เช่น การรักษาจะซ้ำซ้อนกับ งบกรมบัญชีกลาง ประกันสังคม หรือบัตรทองหรือไม่ ถ้าซ้ำซ้อนก็ทำไม่ได้ กองทุนสุขภาพจิต ต้องทำต่างออกไป ไม่ซ้ำซ้อนแต่ให้ทำมากกว่าที่ 3 กองทุนนั้นทำก็อาจจะเป็นไปได้ 

นพ.พงษ์เกษม กล่าวอีกว่า สำหรับขั้นตอนต่อไป หลังจากปิดรับฟังความคิดเห็น จะมีการประชุมคณะกรรมการชุดเล็กที่ได้รับการแต่งตั้งจากชุดใหญ่ ซึ่ง รมต.สมศักดิ์ บอกว่าไม่ต้องไปทำรายละเอียดมาก ทำเอาพอสมควร แล้วเดี๋ยวไปขึ้นในชั้นอื่น กฤษฎีกาบ้าง หรือกรรมมาธิการบ้างเดี๋ยวเขาก็เติมเต็มให้ได้รวดเร็วขึ้น รมต.สมศักดิ์ เร่งรัดอย่างมากเพราะอยากให้เป็นเครื่องมือเข้ามาดูแลประชาชนตรงนี้ 

The Active สอบถามความคืบหน้า ร่าง พ.ร.บ.สุขภาพจิต กับ สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข บอกว่า ยังถกเถียงกันถึงเรื่องกองทุนสุขภาพจิตฯ กลัวว่าพอได้เงินมาก็จะมีปัญหาต้องชี้แจงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรื่องเงิน กระทรวงการคลัง หรือหน่วยงานตรวจสอบต่างๆ ให้เห็นชอบด้วย ขอทำให้เรียบร้อย เพราะเราไม่รู้ว่าจะไปสะดุดวันข้างหน้าหรือไม่ กำลังถามผู้รู้ เพราะบางครั้งเรื่องที่เราส่งเข้าไปในครม. ไปติดขัดหน่วยงานอื่น ที่เขาเห็นว่าเป็นปัญหาเทคนิค ระเบียบกฎหมาย 

”คนนั้นก็ห่วงนี่ คนนี้ก็ห่วงนั่น  พอดีกันล่ะครับ เป็นหน้าที่ของพวกเราที่จะต้องทำให้… ขั้นตอนหลังจากนี้ยังไม่จบ ยังมีขั้นตอนอื่นๆอีก จะประมวลความเห็นต่างๆ ว่าขัดแย้งกันมากหรือไม่ หากบ้างประเด็นขัดแย้งกันมากก็ต้องไปคิดใหม่“ 

สมศักดิ์ กล่าว

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active