งานวิจัยชี้ โซเชียลมีเดียทำให้คนไร้โฟกัสและไม่มีความสุข พร้อมเปิด 365 วิธีเยียวยาใจที่ทำให้มีความสุขได้ในทุกวัน
วันนี้ (28 ก.ย.67) มูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงาน “365 วิธี เติมสุขปลุกสติให้ใจวัยทำงาน“ ณ มูลนิธิบ้านอารีย์ พร้อมแนะนำเครื่องมือจากงานวิจัยที่จะสร้างความสุขที่สามารถใช้ได้ในทุกวัน สืบเนื่องมาจากสถานการณ์ปัญหาสุขภาพจิตที่ทบทวีขึ้นในสังคมชัดเจนโดยเฉพาะในยุคดิจิทัล การย้อนกลับสำรวจและเท่าทันจิตใจตนเองเป็นวิธีง่าย ๆ ที่ควรให้ความสำคัญและทำในทุกวัน
พระไพศาล วิสาโล กล่าวว่า ในโลกทุกวันนี้มีสิ่งเร้ามาก และกระตุ้นให้เกิดความไม่สบายทั้งร่างกายและจิตใจ การรู้จักจัดการใจ แยกแยะว่าสิ่งใดไม่สำคัญ หรือไม่ควรนำใจไปจับเป็นทักษะที่สำคัญมาก
“ศิลปะหนึ่งของชีวิตคือการเมินเฉย ถ้าไปใส่ใจเสียทุกอย่างคงไม่ได้ อะไรไม่ถูกใจก็อย่าไปสนใจมันเสียหมด รวมถึงเมินสิ่งที่เรามี และสิ่งที่เราเสียไปแล้วด้วย เพราะคนจำนวนมาก ‘ทุกข์’ เพราะไม่มี“
อีกหนึ่งทักษะ ที่ พระไพศาล วิสาโล ยังเน้นย้ำว่าจำเป็นมากสำหรับสังคมตอนนี้คือ “การชื่นชมและขอบคุณชีวิต” โดยขอให้ลองมองสิ่งที่มีมากกว่าสิ่งที่เสียไป รวมถึงการหาความสุขจากการ “ลงมือทำ”
“คนสมัยนี้หาความสุขจากการ กิน ดื่ม เที่ยว เล่น ชอปปื้ง เพราะมันเข้าถึงได้ง่าย แต่ในทางกลับกันมันก็เบื่อง่าย เสื่อมเร็ว เกิดเป็นความสุขชั่วคราวและความทุกข์ยาวนาน สุขที่ยืนยาวเกิดจากใจที่เริ่มจากการชื่นชมสิ่งเล็กรอบตัว รวมถึงการมีงานอดิเรก ก็สร้างความสุขได้ เพราะมันคือความสุขจากการทำ ไม่ใช่จากการเสพย์ มันทำให้เรารู้จักคุณค่าของชีวิต เช่น การเป็นจิตอาสา”
ด้าน ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์ ผู้รวบรวม 365 วิธี เติมสุขให้ใจ ชี้ว่า ตอนนี้ สังคมเรามีความเครียดเป็นโรคแห่งยุคสมัย การมาถึงของ social media ทำให้ผู้คนขาดสมาธิ และจากการเก็บข้อมูลวิจัยพบว่า การขาดสมาธิ หรือใจลอย สัมพันธ์กับความสุขของผู้คนทั่วโลก
แอปพลิเคชัน Track your Happiness ทำการเก็บข้อมูล โดยสำรวจประชากรอายุ 18-80 ปี ใน 80 ประเทศทั่วโลก ผ่านแบบสอบถามกว่า 6 หมื่นครั้ง โดยใช้คำถามเแบบ real-time เช่น คุณทำอะไรอยู่ ? คุณกำลังมีความสุขไหม ? หรือ คุณกำลังคิดเรื่องอื่นอยู่หรือเปล่า ? ผลการทดสอบพบว่า มีผู้ทำแบบสอบถาม กว่า 50 % ที่ไม่ได้มีสมาธิอยู่กับกิจกรรมตรงหน้า
หรืองานวิจัยอีกชิ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 ผู้คนจะมีสมาธิจดจ่อให้ความสนใจกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เฉลี่ย 2 นาที ในขณะที่ปีถัดมาลดลงเหลือ 75 วินาที จนถึงปัจจุบันนี้เหลือเพียง 47 วินาทีเท่านั้น
”สิ่งที่น่ากลัวที่สุด คือ เมื่อเราถูกดึงความสนใจไปเรื่องอื่นแล้ว หากจะดึงกลับมาโฟกัสเรื่องเดิมต้องใช้เวลาถึง 25 นาที ส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานและการใช้ชีวิต งานวิจัยจึงสรุปว่า สภาวะ ‘ใจลอย’ ทำให้คนไม่มีความสุข และนี่กำลังกลายเป็นความทุกข์แห่งยุคสมัย“ พัสวจีอธิบาย
เปิดเครื่องมือ ”365 วิธี เติมสุขได้ให้ใจ“ ได้ทุกวัน
เครื่องมือที่จะเป็นหนทางดูแลใจที่ได้มานำเสนอในงานนี้ ที่ได้ผ่านการค้นคว้ามาแล้วว่าคำแนะนำ หรือวิธีเหล่านั้นมีส่วนสัมพันธ์กับการเกิดความสุขของมนุษย์ ซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติง่าย ๆ ที่ทำได้ทุกวัน
โดยมีหลายรูปแบบ ได้แก่ หนังสือ คลิปวิดีโอ พอดแคสต์ การ์ด และเป็นสื่อ interactive บนเว็บไซต์ โดยเชื่อว่า สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ผู้ใช้กลับมาเรียนรู้ได้เท่าทันตัวเอง เข้าใจอารมณ์ ความคิดของเรา
วีรพงษ์ เกรียงสินยศ รองประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา กล่าวว่า ต้องการนำพระพุทธศาสนาเข้ามาผนวกอยู่ในชีวิตประจำวัน แต่ต้องปรับให้จับต้อง และเข้าถึงได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ที่อาจปฏิเสธวัด หรือไม่คุ้นเคยกับคำว่าสติ
”เรานำหลักธรรมมาย่อยให้เข้าถึงง่าย ออกแบบให้สอดคล้องกับยุคสมัย หากใครได้ทำอย่างสม่ำเสมอก็ถือว่าได้ฝึกปฏิบัติและยังได้เรียนรู้จัดการอารมณ์ตัวเอง เมื่อเราได้พัฒนาภายในตัวเอง ก็ส่งผลต่อการพัฒนาสังคมที่ดีขึ้นด้วย“ รองประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา อธิบาย
ด้าน ชมัยพร บางคมบาง กรรมการบริหารคณะที่ 8 (สสส.) ยังเห็นสอดคล้องว่า การมีเครื่องมือที่จับต้องได้เช่นนี้ จะเป็นทางออกหนึ่งที่สำคัญให้กับประชาชนในช่วงเวลาที่ความสุขแห่งยุคสมัยหายากเหลือเกิน
หลายครั้งที่ความเครียดเป็นนามธรรม การบอกว่า ‘อย่าไปเครียดมากนะ’ มันก็เป็นนามธรรมไปด้วยและอาจไม่ช่วยแก้ปัญหา แต่การมีเครื่องมือนี้ทำให้การจัดการความทุกข์เป็นสิ่งที่จับต้องได้มากขึ้น
”แต่เราไม่จำเป็นต้องยึดติดกับเครื่องมือนี้ทั้งหมดนะ ทุกคนควรมีคู่มือในชีวิตของตัวเอง การจดบันทึกเรื่องราวในแต่ละวัน มองหาสิ่งที่ทำให้คุณมีความสุขเล็ก ๆ ให้เจอ นี่จะกลายเป็นคู่มือประจำตัวให้เราไว้ใช้ได้ในชีวิต“ ชมัยพร กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับเครื่องมือดังกล่าว สามารถดาวโหลด ได้ที่
รูปแบบ e-book หนังสือ “เติมสุข 365” https://budnet.org/archive_media/termsuk365-ebook/
รูปแบบ สื่อ interactive สำรวจใจ https://budnet.org/Term-suk-hai-jai/