สังคมไทยโดดเดี่ยว คนขาดพื้นที่รับฟัง เชื่อ หากสร้างคนให้รู้จักรับฟังลดปัญหาสุขภาพจิตได้ในระยะยาว ไทยจัด “เดือนการฟังแห่งชาติ” ตลอดเดือน พ.ย. 67กระตุ้นให้สังคมเห็นความสำคัญของการดูแลความสัมพันธ์ด้วย “การฟัง” หวังเยียวยาปัญหาจิตใจที่เกิดจากภัยความเหงา
จากงานวิจัย ของ Julianne Holt-Lunstad จาก Brigham Young University ชี้ว่า การที่มนุษย์ที่มีความเหงาและโดดเดี่ยว 1 วัน เท่ากับการสูบบุหรี่ 15 มวน หรือการดื่มเหล้า 6 แก้วต่อวัน
โดยในหลายประเทศทั่วโลกได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวจึงมีการประกาศตั้งวันสำคัญที่เกี่ยวข้องกับ “ความสัมพันธ์” ขึ้นในเดือนพฤศจิกายนของทุกปี เช่น World Kindness Day(13 พ.ย.) International Day of Tolerance (16 พ.ย.) รวมถึง “วันแห่งการฟังแห่งชาติ” หรือ “National Day of Listening” ในสหรัฐอเมริกา โดยจะตรงกับวันที่ 24 พ.ย. หรือหลังวันขอบคุณพระเจ้าของทุกปี ที่แต่เดิมจะเป็นวันจับจ่ายใช้สอยหรือที่เรียกว่า Black Friday แต่ในปีนี้เป็นการเพิ่มอีกทางเลือกหนึ่ง คือ การให้คนหันกลับมาเชื่อมโยงกับคนรอบตัวและสร้างความทรงจำร่วมกันในรูปแบบการฟัง
จากข้อมูลล่าสุด ปี 2567 ชี้ว่า คนไทยเสี่ยงซึมเศร้า 17.20% และเสี่ยงฆ่าตัวตาย 10.63% ประเทศไทยเองก็เห็นความสำคัญดังกล่าว จึงอยากชวนสังคมดูแลความสัมพันธ์ด้วยการฟังด้วยหัวใจ ด้วยแคมเพน “เดือนแห่งการฟังแห่งชาติ”
เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 67 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับธนาคารจิตอาสา ภาคีภาครัฐ และเอกชน จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวแคมเพน “เดือนการฟังแห่งชาติ” หรือ “National Month of Listening” เพื่อกระตุ้นให้สังคมเห็นความสำคัญของการดูแลความสัมพันธ์ด้วย “การฟัง” หวังเยียวยาปัญหาจิตใจที่เกิดจากภัยความเหงา และรู้สึกโดดเดี่ยว ณ อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
สรยุทธ รัตนพจนารถ ผู้อำนวยการร่วมธนาคารจิตอาสา กล่าวว่า จากรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 1 ปี 2567 โดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่า ไทยมีผู้ป่วยจิตเวชเข้ารับบริการเพิ่มขึ้น จาก 1.3 ล้านคน ในปี 2558 เป็น 2.9 ล้านคน ในปี 2566 ระหว่างวันที่ 1 ต.ค. 2566 – 22 เม.ย. 2567 พบมีผู้เสี่ยงป่วยซึมเศร้า 17.20% มีความเครียดสูง 15.48% และเสี่ยงฆ่าตัวตาย 10.63% หากพิจารณาตามช่วงวัย พบว่า ผู้สูงวัยต้องอยู่กับความเหงาและโดดเดี่ยว ส่วนวัยทำงานต้องเผชิญกับภาระงานที่หนักเกินไป ส่วนหนึ่งเกิดจากการขาดกิจกรรมและบทบาททางสังคม
หรือจากเหตุการณ์ล่าสุด ที่เกิดกรณีเภสัชกรตัดสินใจจบชีวิตตัวเอง เนื่องจากมีความกดดันในที่ทำงาน ด้วยสาเหตุจากหัวหน้างานไม่เปิดใจรับฟัง ในขณะที่ผลสำรวจความคิดเห็นของเยาวชนไทย โดยองค์กรนิวกราวด์ เคยระบุว่าของขวัญที่เด็กอยากได้จากผู้ใหญ่ คือการรับฟังและความเข้าใจ 25% มากกว่าการได้รับเงิน 11% ถึงสองเท่า
“การฟังจะเป็นจุดคานงัดของประเทศไทยและของโลก ไม่ว่าปัญหาเล็กใหญ่จะถูกแก้ด้วยการฟังเราเห็นคนทะเลาะกันชอบตะโกน แต่ถ้าคนเราเชื่อมโยงกันได้ กระซิบกันก็ได้ยิน การฟังไม่ใช่แค่การได้ยินเสียง แต่คือศักยภาพของมนุษย์ในการได้ยินถ้อยคำของอีกฝ่ายที่มากไปกว่าเสียง แต่คือสิ่งที่อยู่ระหว่างบรรทัดที่อีกฝ่ายไม่ได้เปล่งเสียงออกมาให้ได้ยิน”
สรยุทธ รัตนพจนารถ
ด้าน นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า วิกฤตของสังคมไทย คือ คนรู้สึกไม่เชื่อมโยงสัมพันธ์กัน และใช้เวลากับสื่อออนไลน์มากเกินไป อีกทั้งความเหงายังนำไปสู่พฤติกรรมสุขภาพ เช่น สูบบุหรี่ ติดเหล้า และเสี่ยงต่อซึมเศร้า โรควิตกกังวล และโรคสมองเสื่อม หรือที่เรียกว่า “ภาวะขาดการสัมพันธ์เชื่อมโยง (lack of social connection)”
“กายมีอาหาร 5 หมู่เป็นหลังงาน แต่หัวใจมีความความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนเป็นพลังงาน ถ้าใจขาดการเชื่อมโยงหรือความรู้สึกภาคภูมิใจเสียแล้ว ก็จะหิวกระหายและกลายเป็นความรู้สึกโดดเดี่ยว”
“การฟังต่างจากการได้ยิน การฟังใช้ทั้งหู ตา และสัมผัส (sense of touch) มันคือการรับรู้ว่าเขากำลังพูดอะไร และรู้สึกอย่างไร นี่เป็นทักษะสำคัญที่ต้องปลูกฝังกันตั้งแต่วัยเด็กให้อยู่ในจิตใต้สำนึกด้วย
โดย ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ยังทิ้งท้ายว่า การกำหนด เดือนแห่งการฟังแห่งชาติ หรือ ‘National Month of Listening’ นี้ ยังเป็นครั้งแรกของไทยที่ทำเพื่อกระตุ้นให้สังคมเห็นความสำคัญของการรับฟัง นี่จะเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างการเชื่อมโยงกับผู้อื่น และยังทำให้คนมีความสามารถในการบริหารจัดการความรู้สึกเหงาและโดดเดี่ยวได้ รวมถึงการสร้างพื้นที่ปลอดภัยด้วย
ด้าน นที เอกวิจิตร (อุ๋ย บุดด้า เบลส) นักร้อง และพิธีกร รายการคุยกับอุ๋ย ได้แชร์ประสบการณ์การเป็น therapist จิตอาสา ที่ รพ.จุฬา ของตนเองว่าเป็นโอกาสสำคัญที่ทำให้ตนเองเห็นคุณค่าของการรับฟังอย่างลึกซึ้ง และสิ่งที่ตนเองได้ทำนั้นไม่ใช่การให้แต่คือการได้รับมากกว่า
“ผมรู้สึกซาบซึ้งมากเวลาได้รับฟังเรื่องราวสำคัญ ๆ ของผู้อื่น นอกจากพวกเขาจะให้เกียรติผมในการรับฟังเรื่องราวที่แม้แต่พ่อแม่หรือคู่ชีวิตยังไม่เคยได้ฟังแล้ว นี่ยังเป็นโอกาสที่ดีในการฝีกฝนการเป็นผู้ฟังที่ดีด้วย”
อุ๋ย บุดด้า เบลส ยังอธิบายเพิ่มเติมอีกว่า หากใครกำลังสงสัยว่า การรับฟังความทุกข์ที่คนอื่นมาระบายให้ฟังจะมีสุขได้อย่างไร คำตอบคือ หากคุณได้มีโอกาสช่วยให้คนอื่นได้แบ่งเบาความทุกข์ในใจ ปัญหาคลี่คลายได้ด้วยตัวเขาเอง สิ่งนั้นจะสร้างความสุขให้คุณได้
“อย่ามองว่าตัวเองเป็นถังขยะ แต่ให้มองว่าเราเหมือนตะแกรงที่รั่ว ไม่ผิดที่เวลาฟังความทุกข์คนอื่นแล้วเราจะมีอารมณ์ร่วม แต่อย่าอยู่กับอารมณ์นั้นนาน ขอให้วางให้เร็ว มีสติ และเท่าทันอารมณ์ตัวเองให้ได้”
และหากอยากฝึกฝนการรับฟัง พิธีกรรายการคุยกับอุ๋ย ได้ให้แนวทางง่าย ๆ ว่า อาจจะเริ่มจากการฝึกฝนการพูดให้น้อยลง เพื่อให้ฟังให้ได้มากขึ้น เพราะปัจจุบัน เราเห็นแต่คนอยากแสดงความคิดเห็นทั้งที่แทบไม่ได้รับฟังข้อมูล อาจเริ่มง่าย ๆ จากโซเชียลมีเดียในมือ หากได้ยินเรื่องราวอะไร ให้ลองหาข้อมูลก่อน และไม่ต้องวิพากษ์วิจารณ์ ขอให้แค่รับรู้ข้อมูล รับรู้ความรู้สึก และเท่าทันตัวเอง
“การรับฟัง คือ เครื่องยืนยันว่า ความทุกข์ ความเศร้า ความรู้สึก รวมทั้งตัวตนของคนที่อยู่ตรงหน้าเราเขามีอยู่จริง และตอนนี้มีคนที่เข้าใจ เห็นใจ รู้สึกร่วมไปกับเขา ผมเชื่อว่า มนุษย์ด้วยกันรับรู้ได้ว่ามีคนหนึ่งทีกำลังตั้งใจฟังเรื่องราวของเขา และยอมรับสิ่งที่ตัวเขาเป็น นี่เองจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการเข้าใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน”
อุ๋ย บุดด้า เบลส ทิ้งท้าย
สำหรับแคมเพนดังกล่าว จะจัดต่อเนื่องตลอดเดือน พ.ย. 67 ทั้งกรุงเทพฯ ภูมิภาค และออนไลน์โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ประกอบด้วย พื้นที่สาธารณะ โดยอาสารับฟัง (Listenian Space) 28 แห่ง และ เวิร์กชอปเรียนรู้การฟังด้วยหัวใจ (Listenian Class) 22 งาน โดยติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://listen.happinessisthailand.com และธนาคารจิตอาสา