บุคลากรสุขภาพจิตรวมตัว ชี้ นักจิตวิทยาการปรึกษาต้องมีใบประกอบวิชาชีพ บ้างหวั่นเกิดช่องว่าง

ประชาชนเข้ารับฟังความเห็น (ร่าง) มาตรฐานวิชาชีพนักจิตวิทยาการปรึกษา เพิ่มโอกาสในวิชาชีพ สร้างมาตรฐานใหม่ ยกระดับการให้บริการผู้ป่วยอย่างเป็นรูปธรรม

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ประชากร 1 ใน 8 คนทั่วโลก กำลังเผชิญปัญหาสุขภาพจิต และมีการพยากรณ์ไว้ใน Provisional Agenda Item 6-2 พบว่า ในปี พ.ศ. 2572 โรคซึมเศร้าจะกลายเป็นสาเหตุของภาระโรคในระดับโลก และเป็นสาเหตุของการฆ่าตัวตายอันดับ 2  ในกลุ่มคนหนุ่มสาวที่มีอายุระหว่าง 15-29 ปี

 ด้วยสถานการณ์เช่นนี้ องค์การสหประชาติ (UN) ได้มีการกำหนดให้ 80% ของประเทศสมาชิกนำเรื่อง ‘สุขภาพจิต’ เป็นการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานภายในปี พ.ศ. 2573 และรณรงค์ให้เรื่องสุขภาพจิตเป็น ‘สิทธิมนุษยชนสากล’ ด้วย

สำหรับในประเทศไทย ข้อมูลในปี พ.ศ. 2564 พบว่ามีผู้ป่วยจิตเวช เพิ่มขึ้นจาก 1.3 ล้านคน เป็น 2.5 ล้านคน ภายในระยะเวลา 7 ปี (โดยเฉพาะโรคซึมเศร้า) และ  ในปี พ.ศ. 2565  คนไทยมีอัตราฆ่าตัวตายสำเร็จสูงถึง 13% ซ้ำร้ายปัญหาสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นก็กำลังอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง

โดยเฉพาะเด็กวัยเรียนอายุระหว่าง 5-19 ปี ที่เป็นกลุ่มที่มีความพยายามฆ่าตัวตายสูงที่สุด โดยมีจำนวนถึง 224 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน และจำนวนของบุคลากรด้านสุขภาพจิตยังมีไม่เพียงพอและมีข้อติดขัดในวิชาชีพ

จากสถานการณ์ดังกล่าว วันนี้ (2 ธ.ค. 67)  สถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต (Thailand Institute for Mental Health Sustainability; TIMS) จัดการประชุมรับฟังความเห็นสาธารณะ (Public Hearing) เรื่อง “ร่างมาตรฐานวิชาชีพนักจิตวิทยาการปรึกษา (Professional Standards for Counseling Psychologists)”  ภายใต้โครงการพัฒนามาตรฐานวิชาชีพนักจิตวิทยาการปรึกษา (Project for Development of Professional Standards in Counseling Psychology) ณ โรงแรมปทุมวันปรินเซส กรุงเทพฯ

ด้วยตอนนี้ สถาบันการศึกษาในไทยผลิตบุคลากรด้าน ‘นักจิตวิทยาการปรึกษา’ ออกมาจำนวนไม่น้อย แต่กลับมีไม่มีใบประกอบวิชาชีพรับรอง ซึ่งต่างจาก ‘นักจิตวิทยาคลินิก’  ทำให้วิชาชีพดังกล่าวไม่มีขอบเขตการดำเนินงานด้วยมาตรฐานเดียวกันอย่างเป็นรูปธรรม หลายรายเสียโอกาสในการทำงาน และประเทศชาติเสียบุคลากรออกไปจากระบบไม่น้อย

กรณีนี้ ถูกถกเถียงพูดคุยกันทั่วโลก จนเกิดการเคลื่อนไหวเพื่อการสร้างมาตรฐานวิชาชีพอย่างเป็นรูปธรรมในหลายประเทศแล้ว เช่น อเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย และเกาหลี ที่มีการยกระดับงานด้านจิตวิทยาการปรึกษาให้ได้การยอมรับในฐานะวิชาชีพหนึ่ง เช่นเดียวกับจิตวิทยาคลินิก

อย่างในอเมริกา จะมี ‘สมาคมจิตวิทยาการปรึกษาอเมริกัน (The American Counseling Association: ACA) ที่ทำหน้าที่กำกับดูแลมาตรฐานวิชาชีพ กำหนดมาตรฐานทั้งด้านการศึกษา การสอบ และประสบการณ์ โดยมีคณะกรรมการดูแลและออกใบประกอบวิชาชีพเพื่อความปลอดภัยต่อสาธารณะ  

หรือในประเทศอังกฤษ จะมีการกำหนดมาตรฐานนักจิตวิทยาในหลายสาขา ได้แก่ นักจิตวิทยาคลินิก นักจิตวิทยาการปรึกษา นักจิตวิทยาการศึกษา และนักจิตวิทยาการกีฬา ให้อยู่ภายใต้มาตรฐานเดียวกัน คือ ‘Health and Care Professions Council’ มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2009 จนกระทั่งมีการบังคับใช้ในปี ค.ศ. 2015 เพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้ใช้บริการ

สำหรับในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เอง ประเทศสิงคโปร์มีการจัดตั้ง “สมาคมนักจิตวิทยาสิงคโปร์ (Singapore Psychological Society)” เพื่อกำกับมาตรฐานวิชาชีพ โดยผู้ที่จะมีสิทธิสมัครเข้ารับรองมาตรฐานจะต้องมีวุฒิการศึกษาขั้นต่ำระดับปริญญาโทจากโปรแกรมการศึกษาที่มีการฝึกงานภายใต้การกำกับดูแลด้วย

ด้าน จุรีรัตน์ นิลจันทึก คณะทำงานโครงการพัฒนามาตรฐานวิชาชีพนักจิตวิทยาการปรึกษา อธิบายว่า (ร่าง) มาตรฐานการปฏิบัติงานการะประกอบโรคศิลปะสาขาจิตวิทยาการปรึกษานี้ จะประกอบด้วย 4 มาตรฐานสำคัญ ได้แก่ 

  • มาตรฐานที่ 1 มาตรฐานเชิงจิตวิทยา 
  • มาตรฐานที่ 2 มาตรฐานการวิจัยทางจิตวิทยาการปรึกษา
  • มาตรฐานที่ 3 มาตรฐานการทำงานร่วมกับสหวิชาชีพ
  • มาตรฐานที่ 4 มาตรฐานการสอน ฝึบอบรม และนิเทศทางจิตวิทยาการปรึกษา

“เราคาดหวังในนักจิตวิทยาการปรึกษาคุยกับวิชาชีพอื่น ๆ รู้เรื่อง ต้องใช้ภาษาเดียวกัน เห็นภาพเดียวกัน วางแผนและประเมินงานร่วมกันได้ด้วยการเคารพกันและกัน และต้องให้คำปรึกษาในประเด็นที่ตนเองเชี่ยวชาญจริง ๆ  หากจำเป็นต้องส่งต่อ ก็ต้องรู้ว่ามีสหสาขาวิชาใดที่เกี่ยวข้องบ้าง” จุรีรัตน์ กล่าว

ในขณะที่ ฉัตรดนัย ศรชัย นักจิตวิทยาการให้คำปรึกษาและคณะทำงาน เน้นย้ำว่า ในหลายประเทศทั่วโลกมีใบประกอบวิชาชีพนักจิตวิทยาการปรึกษาเพื่อกำกับดูแลแล้ว ทำให้สามารถรักษามาตรฐานในการให้บริการได้อย่างถูกต้อง และมีคุณภาพอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะก่อประโยชน์ในระยาวต่อวิชาชีพ

ฉัตรดนัย ศรชัย
นักจิตวิทยาการให้คำปรึกษาและคณะทำงาน

“สิ่งที่ได้ประโยชน์แน่ ๆ จากการมีใบประกอบวิชาชีพคือ ผู้รับบริการจะได้รับความอุ่นใจมากขึ้น เพราะมีเครื่องยืนยันว่านักจิตฯ เหล่านี้ได้รับการเทรนด์มาอย่างเหมาะสม และหากเกิดข้อผิดพลาด ประชาชนก็สามารถร้องเรียนถึงความคุ้มครองที่ตนเองควรได้รับเช่นกัน” ฉัตรดนัย กล่าว

อย่างไรก็ตาม จากการรับฟังความเห็นของผู้เข้าร่วม ส่วนใหญ่ต่างให้ความเห็นที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือ หากมีใบประกอบวิชาชีพแล้ว จะทำให้อาชีพนักจิตวิทยาการปรึกษามีตำแหน่งแห่งที่มากขึ้น และสร้างความเข้าใจเพิ่มให้กับสังคมว่าพวกเขาทำหน้าที่ ‘ดักก่อนป่วย’

กล่าวคือ นักจิตวิทยาการปรึกษาแตกต่างจากนักจิตวิทยาคลินิกที่ทำงานร่วมกับแพทย์แและเน้นรักษาผู้ได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยแล้ว

แต่นักจิตวิทยาการปรึกษาจะทำงานกับบุคลทั่วไป ตั้งแต่พนักงานออฟฟิศไปจนถึงนักเรียนนักศึกษาที่อาจเกิดภาวะเครียด หรือความไม่สบายใจในบางครั้งคราว หากนักจิตวิทยาการปรึกษามีตำแหน่งแห่งที่ จะทำให้ประขาชนทั่วไปเข้าถึงได้ง่าย ซึ่งจะทำให้พวกเขาสามารถรับการบำบัดเยียวยาได้อย่างทันท่วงที ซึ่งจะทำให้ลดจำนวนผู้ป่วยจิตเวชได้ในระยะยาว

ด้าน นันทวรรณ ศรีจันทร์ นักจิตวิทยาการปรึกษา หนึ่งในผู้เข้าร่วมรับฟังและให้ความเห็นเกี่ยวกับร่างมาตรฐานดังกล่าว ให้ความเห็นว่า ตนเองประกอบวิชาชีพนักจิตวิทยาการปรึกษามากว่า 20 ปี และไม่เคยมีใบประกอบวิชาชีพ หากสามารถผลักดันให้มีใบประกอบวิชาชีพนี้ได้จริง จะส่งผลเชิงบวกอย่างมาก

นันทวรรณ ศรีจันทร์
นักจิตวิทยาการปรึกษา

“เราทำงานเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษามาเกือบ 20 ปี การไม่มีใบประกอบวิชาชีพทำให้เสียโอกาสในการทำงานกับบางหน่วยงานไป และได้ทำงานในที่ที่ไม่ตรงกับความถนัดและความตั้งใจ หากมีใบประกอบฯ นี้ จะทำให้เรามั่นใจในการทำงานมากขึ้น และกระทบไปถึงภาพใหญ่ เพราะไทยยังมีบุคลากรด้านนี้น้อย การมีใบประกอบ ฯ จะเป็นสิ่งที่สร้างความมั่นใจให้เด็กที่กำลังตัดสินใจเข้าเรียนในสาขานี้มากขึ้นด้วย”

สำหรับการแก้ไขปัญหาเรื่องการขาดแคลนบุคลากรด้านจิตวิทยานั้น แม้จะกำลังมีการผลักดันอยู่ แต่คาดว่าจะยังไม่สามารถแก้ไขได้เร็ววัน

ในเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ จึงมีความเห็นจากผู้เข้าร่วมตั้งข้อสังเกตว่า แม้การมีใบประกอบฯ จะมีข้อดี คือ ทำให้มีมาตรฐานการทำงานชัดเจนขึ้นจริง แต่ยังเป็นคำถามว่าอาจทำให้เกิดช่องว่างในการเข้าถึงบริการของประชาชนที่ยังไม่สามารถเข้าถึงโอกาสได้หรือไม่ ?

“คนไทยส่วนมากรู้จักแต่จิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยาคลินิก แต่กลับไม่เคยได้ยินชื่อนักจิตวิทยาการปรึกษามากนัก การมีใบประกอบฯ มีข้อดี คือ จะทำให้พวกเราไม่ทำงานกระจัดกระจาย ยกระดับวิชาชีพให้เป็นหนึ่งเดียวมากขึ้น รวมถึงกำหนด guildline ร่วมกันว่าอะไรที่เราควรให้ความสนใจ

“แต่หากมองอีกมุม การมีใบประกอบฯ จะกลายเป็นสิ่งที่มีอำนาจกีดกันในตัว นั่นหมายถึงมีการควบคุม ป้องกันว่า หากใครดำเนินวิชาชีพแล้วไม่มีใบประกอบฯ จะต้องถูกดำเนินการตามกฎหมาย แต่เราลืมนึกถึงผู้รับบริการที่ขาดโอกาสและเข้าไม่ถึงบริการซึ่งมีจำนวนมหาศาล หากเขาเจ็บป่วยทางใจและต้องการการเยียวยา แต่กลับเข้าไม่ถึงบุคลากรที่ได้รับมาตรฐานดังกล่าวที่มีน้อยอยู่แล้ว คำถามคือ แล้วเขาจะต้องทำอย่างไร ?

“หากเปรียบเทียบกับเรื่องอุบัติเหตุจากการเดินทาง ใคร ๆ ก็บอกว่า ขี่มอร์เตอร์ไซต์อันตรายกว่าขับรถยนต์ใช่ไหม ? แต่ถ้าเขาไม่มีเงินซื้อรถยนต์ หรือไม่มีแม้กระทั่งเงินขึ้นรถไฟฟ้า คุณจะบังคับให้เขาห้ามเดินทางงั้นหรือ ? สิ่งนี้รัฐจะแก้ไข หรือปล่อยให้ประชาชนแก้ไขปัญหากันเอง” ผู้เข้าร่วมท่านหนึ่งกล่าวทิ้งท้าย

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ของจิตวิทยาการปรึกษาในประเทศไทยตลอด 39 ปี นับตั้งแต่มีการเรียนการสอนครั้งแรกที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2505 มีการเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง

มีการรวมตั้วกันของนักจิตวิทยาการให้คำปรึกษาเพื่อจดทะเบียนก่อตั้ง “สมาคมจิตวิทยาการปรึกษาแห่งประเทศไทย (Thai Counseling Psychology Association)” ที่มีสมาชิกกว่า 500 คน และได้รับการอนุมัติประกาศใช้จรรยาบันวิชาชีพนักจิตวิทยาการปรึกษา โดยมีแผนอบรม และจัดสอบจรรยาบันวิชาชีพ เพื่อรับรองคุณสมบัติของนักจิตวิทยาปรึกษาของสมาคมแล้วเมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 67 ที่ผ่านมา

เป็นที่น่าติดตามต่อไปว่า ก้าวสำคัญของ (ร่าง) มาตรฐานวิชาชีพนักจิตวิทยาการปรึกษา (Professional Standards for Counseling Psychologists) นี้ จะเดินไปในทิศทางใดต่อไป

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active