Thailand Web Stat

สปสช.ชี้แจง ไม่ลดสิทธิผู้ป่วยมะเร็ง แค่ปรับระบบหลังบ้าน

หลังมีกระแสข่าวการจำกัดสิทธิการรักษา นพ.จเด็จ ชี้ เป็นเพียงการปรับเงื่อนไขการบริหารงานภายใน ไม่กระทบสิทธิผู้ป่วยแน่นอน พร้อมย้ำผู้ป่วยมะเร็งยังคงรักษาได้ทุกที่ตามนโยบาย ‘Cancer Anywhere’ เหมือนเดิม

จากกรณีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ทางสื่อสังคมออนไลน์ รวมไปถึงมีบุคคลที่คาดว่า เป็นตัวแทนของบริษัทประกันรายหนึ่งเผยแพร่ข้อมูลระบุว่า  “ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 สปสช.โครงการรักษาโรคมะเร็งฟรี จะใช้ได้แค่รังสีรักษา+เคมีบำบัด ค่าMRI CT-scan ค่าตรวจอื่นๆ ลูกค้าต้องจ่ายเองแล้วนะคะ ประกาศจาก สปสช.” ส่งผลให้เกิดข้อสงสัยและกังวลถึงเรื่องนี้ว่า เพราะอะไรจึงมีการจำกัดสิทธิผู้ป่วยบัตรทอง

วันนี้ (10 ธ.ค.​ 2567) นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้ ว่า  สปสช.ยังคงดำเนินการตามนโยบายมะเร็งรักษาทุกที่(Cancer Anywhere) เหมือนเดิม ไม่ได้มีการจำกัดสิทธิผู้ป่วยแต่อย่างใด  แต่ที่มีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการเบิกจ่ายกองทุนมะเร็งรักษาทุกที่ เฉพาะรายการให้เคมีบำบัด ฮอร์โมน หรือรังสีรักษาสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง ทั้งบริการผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน รวมบริการผู้ป่วยนอกสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งกรณีที่มีเหตุสมควร โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 

“ทั้งหมดเป็นเรื่องการบริหารหลังบ้าน ไม่ได้กระทบในส่วนผู้ป่วย และขอย้ำว่า ผู้ป่วยมะเร็งที่มีนัดรักษาหรือจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ที่มีศักยภาพด้านมะเร็ง ยังสามารถเข้ารับบริการได้เช่นเดิมโดยไม่ต้องใช้ใบส่งตัว” นพ.จเด็จ กล่าว

กรณีที่มีบุคคลบางกลุ่มออกมาแชร์ข้อมูลลักษณะนี้ จะมีการสื่อสารอย่างไร เลขาธิการ สปสช.กล่าวว่า การแชร์ข้อมูลลักษณะดังกล่าว เป็นเรื่องไม่จริง และหากมีอะไรที่สร้างความเข้าใจผิดต่อสังคม ทาง สปสช.จะส่งเจ้าหน้าที่ลงไปพูดคุย เพื่อให้ชัดเจนยิ่งขึ้น 

นพ.จเด็จ กล่าวเพิ่มเติมว่า นโยบายมะเร็งรักษาทุกที่ (Cancer Anywhere) เดิมมีการตกลงร่วมกับโรงพยาบาลต่างๆ ในการให้บริการผู้ป่วยโรคมะเร็งว่า  หากผู้ป่วยได้รับวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง แต่คิวในการทำเคมีบำบัด หรือ ฉายรังสี ที่มีคิวค่อนข้างนาน ผู้ป่วยสามารถไปรับบริการที่โรงพยาบาลที่มีความพร้อมได้ทุกที่  เพื่อไม่ต้องรอคิวนานเกินไป เนื่องจากการรักษามะเร็งต้องเร่งด่วน เพราะมีระยะของโรค แต่ไม่ได้หมายความว่า รพ.ที่รับให้บริการดูแลผู้ป่วยบางกรณี จะต้องรับผิดชอบทั้งหมด ซึ่งที่ผ่านมามีปัญหาตรงนี้ ทำให้ซ้ำซ้อน เพราะรพ.ที่ได้ค่าเหมาจ่ายตอนแรก ไม่ต้องรักษาโรคด้วยหรืออย่างไร 

จากปัญหาตรงนี้ สปสช.ได้ถูกสภาพัฒน์ฯ ตั้งข้อสังเกต ว่า ให้ไปตรวจสอบ รวมถึงนโยบายใหม่ๆว่ามีการซ้ำซ้อนหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันว่า หากได้รับการวินิจฉัยเป็นมะเร็ง ย่อมต้องได้รับการรักษา เพียงแต่การฉายแสง เคมีบำบัด คิวยาว ก็สามารถไปที่คิวน้อยกว่าได้ แต่หลักๆ อย่างภาวะแทรกซ้อนสามารถรับรักษาที่ รพ.ตามสิทธิ 

“สรุปคือ ผู้ป่วยยังรับการรักษามะเร็งได้ทุกที่ ไม่ได้รับผลกระทบใดๆ เพียงแต่ในแง่การบริหารหลังบ้านมีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไข เพื่อให้ชัดเจนขึ้น ไม่เช่นนั้นจะปนกับโรคอื่นๆ ไปหมด เหมือนที่ผ่านมา”  นพ.จเด็จกล่าว

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active