Thailand Web Stat

โรงเรียน กทม.ปรับตัวรับมือฝุ่น ผู้ปกครองห่วงสุขภาพเด็ก

ฝุ่น PM 2.5 กทม. พุ่งถึง 90 มคก./ลบ.ม. รร.วัดวิมุตติยาราม ปรับกิจกรรมหน้าเสาธง-เปิดสปริงเกอร์ลดฝุ่น พร้อมย้ายเด็กเล็กเข้าห้องปลอดฝุ่น ด้าน รมว.สธ. สั่งเตรียมพร้อมสถานพยาบาลทั่วประเทศ หลังพบผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงกว่า 1 ล้านคน

ช่วงเช้าวันที่ 9 ม.ค. 2568 ค่าฝุ่น PM 2.5 ในบางพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร เช่น เขตบางพลัด สูงถึง 90 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ทำให้ผู้ปกครองจำนวนมากที่พาเด็กไปโรงเรียนต่างตื่นตัวกับสถานการณ์ฝุ่นที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงสามวันที่ผ่านมา ฝุ่น PM 2.5 อยู่ในระดับสีส้มถึงสีแดง ส่งผลให้โรงเรียนในพื้นที่ต้องปรับตัว เช่น การปรับกิจกรรมหน้าเสาธงเพื่อปกป้องสุขภาพของเด็กนักเรียน

ที่โรงเรียนวัดวิมุตติยาราม กทม. มีผู้ปกครองที่พาเด็กมาโรงเรียนตั้งแต่เช้า ส่วนใหญ่สวมหน้ากากอนามัย ผู้ปกครองบางคนแสดงความกังวลเกี่ยวกับสุขภาพของเด็ก เช่น อาการไอ น้ำมูกไหล และเจ็บคอ โดยเฉพาะเด็กเล็กที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ซึ่งสถานการณ์ฝุ่นที่เป็นประจำทุกปีทำให้สุขภาพของเด็กได้รับผลกระทบ

อุไร สีทองแพง ผู้ปกครองนักเรียน ป.2 เล่าว่า หลานของเธอมีอาการไอและน้ำมูกไหลมานานและน้ำหนักลดลงจากมลพิษทางอากาศ ขณะที่ ณัฐชยา มีสัมฤทธิ์ ผู้ปกครองนักเรียน อ.3 ระบุว่า ลูกสาวที่เป็นภูมิแพ้ต้องล้างจมูกทุกวัน และหวังว่าปัญหาฝุ่นจะเบาบางลงเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้นของประชาชน 

มาตรการรับมือฝุ่นของโรงเรียนวัดวิมุตติยา เช่น การเปิดสปริงเกอร์น้ำเพื่อลดค่าฝุ่น ทำให้ค่าฝุ่นลดลงเหลือ 62 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งยังคงอยู่ในระดับสีส้ม โรงเรียนจึงจัดให้เด็กเล็กทำกิจกรรมในห้องที่ปลอดฝุ่น พร้อมเครื่องฟอกอากาศ และห้องเรียนที่มีการปิดประตูหน้าต่างมิดชิด

จิตติยา โชทนากูล ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดวิมุตติยาราม ระบุว่าการป้องกันฝุ่น PM 2.5 เป็นเรื่องสำคัญ โรงเรียนต้องดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด และหวังว่ารัฐบาลจะหาวิธีจัดการปัญหาฝุ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว เพื่อสุขภาพที่ดีของเด็กและประชาชน 

สธ.ประชุมด่วน รับมือ ฝุ่น PM 2.5 

วันเดียวกัน สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมทางไกลติดตามสถานการณ์และเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก โดยขอให้สาธารณสุขทุกจังหวัด สถานพยาบาล เตรียมความพร้อมป้องกันกลุ่มเสี่ยงตามมาตรการอย่างเคร่งครัด 

จากข้อมูล พบว่า ระหว่างวันที่ 11 ต.ค.67 – 9 ม.ค.68  มี 53 จังหวัด ที่ฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน และมีถึง 14 จังหวัด ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยสถานการณ์มีแนวโน้มเกินมาตรฐานไปจนถึงวันที่ 15 ม.ค.68 ขณะที่สถิติของกรมควบคุมโรค มีผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ช่วง 1 ต.ค.66 – 31 ธ.ค.67 จำนวน 1,048,015 คน แต่ป่วยจากการสัมผัสฝุ่นแน่นอน เพียง 28 คน

อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุข ได้เตรียมความพร้อมช่วยเหลือประชาชน ทั้งห้องปลอดฝุ่น จำนวน 4,700 ห้อง ใน 56 จังหวัด ซึ่งอยู่ในสถานบริการ สธ. 3,009 ห้อง ศูนย์พัฒนาด็ก/โรงเรียน 858 ห้อง อาคารสำนักงาน 457 ห้อง และร้านอาหาร 376 ห้อง รวมถึงเตรียมความพร้อม มุ้งสู้ฝุ่น นวัตกรรมที่ลดปริมาณฝุ่น ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงพื้นที่ปลอดฝุ่นภายในบ้าน โดยเฉพาะผู้ป่วยติดบ้าน ติดเตียง ซึ่งขณะนี้ มีมุ้งสู้ฝุ่น 1,338 ชุด ใน 34 จังหวัด 

กระทรวงสาธารณสุข ยังมีข้อเสนอเพื่อดำเนินการคือ กิจกรรมแจกหน้ากากอนามัยให้กลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ประกอบอาชีพกลางแจ้ง อสม. กิจกรรมแจกมุ้งสู้ฝุ่น พร้อมหน้ากากอนามัย รณรงค์สร้างความรอบรู้ ในการดูแลสุขภาพจากมลภาวะทางอากาศ 

ส่วนการเฝ้าระวังโรคที่เกี่ยวข้องกับการสัมผัสฝุ่น PM 2.5 คือ กลุ่มโรคทางเดินหายใจ กลุ่มโรคหัวใจหลอดเลือด กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ และกลุ่มโรคตาอักเสบ ซึ่งจะมีการคัดกรองสุขภาพเชิงรุกในชุมชนที่พบฝุ่นเกินค่ามาตรฐานด้วย 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active