“ชัชชาติ” วางศิลาฤกษ์ รพ.บุษราคัม 120 เตียง รองรับผู้ป่วยโซน กทม.เหนือ เล็งเปิดเต็มรูปแบบปี 70 รองรับผู้ป่วยสิทธิบัตรทองกว่า 2 หมื่นราย พร้อมเผยแผนพัฒนาโรงพยาบาลอีก 4 แห่งทั่วกรุง หวังกระจายการเข้าถึงบริการสาธารณสุข ลดความแออัดในเขตเมือง
วันนี้ (9 ม.ค. 2569) รศ.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารผู้ป่วยนอกและฉุกเฉิน โรงพยาบาลบุษราคัมจิตการุณย์ เขตสายไหม บนพื้นที่บริจาค 26 ไร่ 92 ตารางวา จาก คุณบุษราคัม เพรชคล้าย พร้อมเผยแผนพัฒนาระบบสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร
ผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยว่า เตียงในโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) คิดเป็นเพียง 13% ของจำนวนเตียงทั้งหมดในโรงพยาบาลทั่วกรุงเทพฯ ทำให้การบริหารจัดการด้านการแพทย์เป็นภาระหนักและไม่ครอบคลุมเท่าที่ควร กทม. จึงมีนโยบายแบ่งโรงพยาบาลออกเป็นโซน โดยให้โรงพยาบาลใหญ่ทำหน้าที่เป็น “ยานแม่” และมีศูนย์บริการสาธารณสุข รวมถึงคลินิกอบอุ่นเป็นลูกข่าย การขยายโรงพยาบาลจึงถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางด้านสาธารณสุขและการศึกษา หากมีโรงพยาบาลกระจายอยู่ทั่วกรุงเทพฯ จะช่วยลดความแออัดของประชากรในพื้นที่ตัวเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โรงพยาบาลบุษราคัมจิตการุณย์ จะให้บริการประชาชนในกลุ่มกรุงเทพโซนเหนือ ครอบคลุมพื้นที่เขตจตุจักร บางซื่อ ลาดพร้าว สายไหม และบางเขน ภายใต้การกำกับดูแลของโรงพยาบาลกลาง สำนักการแพทย์
ผศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระบุว่า โรงพยาบาลบุษราคัมจิตการุณย์คาดว่าจะสร้างเสร็จภายใน 2-3 ปี โดยมีเป้าหมายเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบในปี พ.ศ. 2570-2571 ปัจจุบัน โรงพยาบาลบุษราคัม ได้เริ่มเปิดให้บริการผู้ป่วยนอกมาประมาณ 10 วันแล้ว เมื่อการก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ โรงพยาบาลจะสามารถรองรับผู้ป่วยได้ถึง 120 เตียง และจะสามารถให้บริการผู้ถือสิทธิ์บัตรทองได้ถึง 20,000 คน รวมถึงรองรับผู้ป่วยจากพื้นที่ใกล้เคียงตามความเหมาะสม
“เนื่องจากพื้นที่โซนเหนือของกรุงเทพฯ มีโรงพยาบาลไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วย ปัจจุบันโรงพยาบาลหลักในพื้นที่ เช่น โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช และโรงพยาบาลสีกัน ต้องรับภาระผู้ป่วยประมาณ 1-2 ล้านคน การเข้ารับการรักษาจึงเป็นไปอย่างล่าช้าและไม่รวดเร็ว” ผศ.ทวิดา กล่าว
ขณะที่ รัตติกาล แก้วเกิดมี สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (สก.) เขตสายไหม กล่าวว่าปัจจุบันเขตสายไหมยังขาดแคลนสถานพยาบาลที่เพียงพอ โดยที่ผ่านมามีเพียงโรงพยาบาลภูมิพลฯ สังกัดกองทัพอากาศ ที่ต้องรับภาระหนักจากผู้ป่วยหลายเขต การมีโรงพยาบาลแห่งใหม่จะช่วยให้ประชาชนในพื้นที่สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น นอกจากนี้ การที่กรุงเทพมหานครร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เช่น สำนักการแพทย์และสำนักอนามัย จะทำให้สามารถรับผู้ป่วยสิทธิ์บัตรทอง ที่เคยใช้บริการในโรงพยาบาลเอกชนที่ถูกยกเลิกไป ใช้ประชาชนได้รับสิทธิ์ในการดูแลสุขภาพในโรงพยาบาลรัฐ สังกัด กทม.แทนได้
โรงพยาบาล 5 แห่งที่กำลังพัฒนา
กรุงเทพมหานคร (กทม.) เร่งรัดการก่อสร้างและศึกษาการสร้างโรงพยาบาลใหม่ให้ครอบคลุมพื้นที่ โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 3,200,747,000 บาท ซึ่งบางส่วนของงบประมาณนี้เป็นเพียงงบสำหรับการออกแบบ
จากปัญหาการขยายตัวของประชากรและปัญหาการเข้าถึงบริการสาธารณสุข ประชากรที่ขยายตัวออกไปยังพื้นที่ชั้นนอกของกรุงเทพฯ เช่น ฝั่งธนบุรี กรุงเทพเหนือ และกรุงเทพตะวันออก ส่งผลให้การบริการสาธารณสุขโดยเฉพาะโรงพยาบาลไม่เพียงพอ ประชาชนจึงต้องรอการรักษาเป็นเวลานานหรือเดินทางเข้ามาในเมืองเพื่อรับการรักษา โดยโรงพยาบาล 5 แห่งที่กำลังสร้างใหม่มีดังนี้
1. โรงพยาบาลคลองสามวา (กรุงเทพตะวันออก) ขนาด 268 เตียง เปิดบริการในเดือนกรกฎาคม 2567
2. โรงพยาบาลพระมงคลเทพมุนี สด จนฺทสโร (กรุงธนใต้) เปิดให้บริการผู้ป่วยนอกและอุบัติเหตุฉุกเฉินแล้วตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2567 ส่วนอาคารผู้ป่วยในคาดว่าจะเปิดในปี 2570
3. โรงพยาบาลทุ่งครุ (กรุงธนใต้) ขนาด 60 เตียง (อยู่ระหว่างการออกแบบ)
4. โรงพยาบาลสายไหม หรือ โรงพยาบาลบุษราคัมจิตการุณย์ (กรุงเทพเหนือ) ขนาด 120 เตียง (อยู่ระหว่างการก่อสร้าง)
5. โรงพยาบาลดอนเมือง (กรุงเทพเหนือ) ขนาด 120 เตียง (อยู่ระหว่างการออกแบบ)
แผนพัฒนาโรงพยาบาลใหม่ทั้ง 5 แห่ง มุ่งเน้นการเสริมความพร้อมของระบบสาธารณสุขในระดับทุติยภูมิ เพื่อดูแลผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและต้องการการส่งต่อจากศูนย์บริการสาธารณสุข โดยแบ่งการพัฒนาออกเป็น 2 กลุ่มหลัก
เสริมศักยภาพโรงพยาบาลเดิม
กทม. ยังมีมาตรการขยายเตียงและพัฒนาคุณภาพบริการในโรงพยาบาลเดิม เพื่อรองรับปริมาณผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น โดยมีมาตรการสำคัญดังนี้
1. ขยายเตียงในโรงพยาบาลปัจจุบันของ กทม. ให้สามารถรองรับผู้ป่วยได้มากโดยมีตัวอย่างที่สำคัญ ๆ ดังนี้
2. เพิ่มการรับยาจากร้านยาใกล้บ้าน อำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วยเรื้อรังรับยาต่อเนื่องจากร้านยาในเครือข่ายกว่า 90 แห่ง เพื่อลดภาระในการเดินทางไปโรงพยาบาล
3. เพิ่มศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูและการดูแลประคับประคอง สำหรับผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่ต้องการฟื้นฟู หรือการดูแลในระยะสุดท้าย ปัจจุบันมีศูนย์ให้บริการ 6 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลราชพิพัฒน์, โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์, โรงพยาบาลกลาง, โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน, โรงพยาบาลสิรินธร และโรงพยาบาลตากสิน