ศึกชิงมาตรฐานรพ.! ปลัดสธ.ยึด HS4 ตามกฎหมาย ขณะที่ รมช.หนุน HA 100%

ด้านผอ.สรพ.ชี้ระบบสมัครใจสร้าง “วัฒนธรรมคุณภาพ” ต่อยอดสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน พร้อมเปิดตัวแอปฯ “บอกคุณ…ภาพ” ให้ประชาชนมีส่วนร่วมพัฒนาระบบบริการ 

การประเมินคุณภาพโรงพยาบาลเป็นสิ่งที่บุคลากรทางการแพทย์ทุกระดับต้องร่วมมือช่วยกันทำ เพื่อการันตีว่าโรงพยาบาลมีคุณภาพ ความปลอดภัย ได้มาตราฐานที่จะรักษาผู้ป่วยโดยไม่เกิดความผิดพลาด หรือมีกระบวนการตรวจสอบป้องกัน ไม่ให้เกิดความผิดพลาดระหว่างทำการรักษาผู้ป่วย 

ขณะที่แวดวงสาธารณสุขเสียงแตกออกเป็น 2 ฝ่าย ทั้งฝ่ายที่เห็นความจำเป็นในการประเมินคุณภาพมาตรฐานโรงพยาบาล ขณะที่อีกฝ่ายมองว่าการเข้าร่วมการประเมินเป็นการสร้างภาระงานที่ไม่จำเป็น โดยเฉพาะการทำเอกสารต่าง ๆ 

เมื่อเร็ว ๆ นี้ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ในงานประชุมเชิงปฏิบัติการ HS4 เมื่อวันที่ 17 มี.ค. ที่ผ่านมาว่า เรื่องมาตรฐานโรงพยาบาลมีการพูดกันมาก มีมาตรฐานมากมาย จึงต้องมารวบรวมและทบทวนสิ่งที่กำหนดในกฎหมาย เพื่อให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดรับทราบและมีแนวทางเดียวกัน ว่า เรื่องมาตรฐานใครต้องกำหนดตามกฎหมาย 

โดยหากพิจารณาตามข้อกฎหมายแล้ว กฎหมายใหญ่ คือ พ.ร.บ.สถานบริการ ซึ่งมีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพดูแล มีมาตรฐานที่เรียกว่า HS4 (Health Standard Service Support System) มีทั้งหมด 9 ด้านให้ดำเนินการ ซึ่งครบถ้วน มีประเด็นความปลอดภัยในโรงพยาบาล

ขณะที่การประเมิน HA หรือ Hospital Accreditation ไม่ใช่การประเมินมาตรฐานโรงพยาบาลตามกฎหมาย เมื่อถามว่าหากมีมาตรฐานของ พ.ร.บ.สถานพยาบาลฯอยู่แล้ว ยังต้องประเมินของ HA อีกหรือไม่ ? นพ.โอภาส บอกว่า หลายครั้งมาตรฐานก็ขัดแย้งกันเอง ซึ่งตามกฎหมายต้องยึดการดำเนินงาน HS4 เป็นหลัก เพราะเป็นไปตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาลฯ

จังหวะเวลาไล่เลี่ยกันที่งานประชุมวิชาการ HA National Forum ครั้งที่ 25 เมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2568 ที่ผ่านมา เดชอิศม์ ขาวทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมาเป็นประธานเปิดการประชุม กล่าวว่าอยากให้ทุกโรงพยาบาลผ่านมาตรฐาน HA แต่วันนี้ยังให้อิสระอยู่ตามความสมัครใจ แต่ก็อยากให้เข้าระบบทั้ง 100% เพราะสุดท้ายพี่น้องประชาชนเกิดความมั่นใจยิ่งขึ้น ทั้งนี้ในงานมีการมอบประกาศนียบัตรรับรองคุณภาพให้แก่สถานพยาบาลจำนวน 446 แห่ง ไม่เฉพาะสังกัดของกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น

พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) เปิดเผยว่าในแต่ละปีมีโรงพยาบาลผ่านการรับรองคุณภาพเพิ่มขึ้น โดยการรับรองคุณภาพสถานพยาบาล เป็นกระบวนการที่โรงพยาบาลสมัครใจเข้าร่วม ไม่ได้เป็นข้อบังคับทางกฎหมาย แต่เป็นแนวทางที่ช่วยให้โรงพยาบาลพัฒนาคุณภาพการให้บริการและความปลอดภัยของผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง ระบบสมัครใจช่วยส่งเสริมให้เกิด “วัฒนธรรมคุณภาพ” (Quality Culture) มุ่งเน้นให้โรงพยาบาลปรับปรุงระบบงานจากแรงจูงใจภายใน มากกว่าการทำตามข้อกำหนดจากภายนอก

“ถ้าเราทำด้วยความตั้งใจ และทำให้คุณภาพกลายเป็นพฤติกรรมปกติของบุคลากรทางการแพทย์ สิ่งนี้จะกลายเป็นวัฒนธรรม และนำไปสู่ความยั่งยืนในที่สุด” พญ.ปิยวรรณ กล่าว

การสมัครใจเข้ารับการประเมิน HA ยังช่วยให้โรงพยาบาลพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เพียงแค่ผ่านการรับรองในช่วงเวลาหนึ่งแล้วหยุดพัฒนา โรงพยาบาลที่สมัครใจจะมีการปรับปรุงระบบงานอย่างสม่ำเสมอ และสามารถต่อยอดไปสู่การพัฒนาคุณภาพในระดับที่สูงขึ้นได้ สิ่งนี้ทำให้การรับรอง HA มีคุณค่าอย่างแท้จริง และไม่ใช่เพียงแค่กระบวนการตรวจสอบเอกสารหรือผ่านมาตรฐานเพียงเพื่อให้ได้รับการรับรอง

ขยายการรับรองไปยังสถานพยาบาลปฐมภูมิ

พญ. ปิยะวรรณ ระบุว่า ปัจจุบัน สรพ. ไม่ได้มุ่งเน้นเฉพาะโรงพยาบาลขนาดใหญ่ แต่ยังขยายการรับรองไปยังโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ซึ่งเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิที่สำคัญของระบบสาธารณสุข โดยปีนี้เป็นปีแรกที่มีการรับรองมาตรฐาน Primary Care Accreditation สำหรับ รพ.สต. โดยปัจจุบันมี 13 แห่ง ที่เข้าร่วมกระบวนการพัฒนา และมี 1 แห่ง ที่ผ่านการรับรองคุณภาพเรียบร้อยแล้ว

เราต้องการให้ รพ.สต. มีเครื่องมือในการวางระบบบริการที่ได้มาตรฐาน ซึ่งเป็นการสมัครใจ แต่เราพยายามทำให้เห็นว่ากระบวนการนี้เป็นประโยชน์และส่งผลต่อประชาชนโดยตรง เมื่อใดก็ตามที่คนทำงานรู้สึกว่าการรักษาคุณภาพและความปลอดภัยเป็นเรื่องที่ ‘ต้องทำ’ ไม่ใช่ ‘ถูกบังคับให้ทำ’ เมื่อนั้นเราจะสามารถสร้างวัฒนธรรมที่ยั่งยืนได้จริง

แนะ รพ.วางระบบป้องกันเหตุร้าย-ดูแลบุคลากรอย่างเป็นระบบ

The Active สัมภาษณ์ พญ.ปิยวรรณ เพิ่มเติมถึงกรณีที่ช่วงนี้เกิดเหตุการณ์เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลถูกทำร้ายบ่อยครั้ง อีกทั้งยังมีปัญหาภาระงานแพทย์ ปัญหาแพทย์ขาดแคลน จะส่งผลต่อคุณภาพของโรงพยาบาลหรือไม่ โดยบอกว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาลไม่เพียงส่งผลต่อความปลอดภัยของบุคลากรและผู้ป่วย แต่ยังสะท้อนถึงประสิทธิภาพของระบบการบริหารจัดการในโรงพยาบาลเอง

ล่าสุด สรพ. ได้ช่วยสนับสนุนโรงพยาบาลที่มีกรณีเป็นข่าวให้สามารถวางระบบป้องกันเหตุร้ายอย่างเป็นรูปธรรม โดยอ้างอิงหลักการของโรงพยาบาลที่ผ่านการรับรองคุณภาพ ซึ่งพบว่าแนวทางป้องกันสามารถแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่

  • การป้องกันด้วยสภาพแวดล้อม – การออกแบบโครงสร้างทางกายภาพของโรงพยาบาลให้ปลอดภัย
  • การป้องกันด้วยกระบวนการทำงาน – การพัฒนาทักษะบุคลากรเพื่อรับมือกับเหตุการณ์ต่าง ๆ
  • การจัดตั้งทีมเฉพาะทาง – ทีมผู้เชี่ยวชาญที่สามารถรับมือกับเหตุการณ์ฉุกเฉินโดยตรง

พญ.ปิยวรรณ เน้นว่าประเทศอื่น ๆ ใช้แนวทางตั้งทีมเฉพาะทางแทนการอบรมบุคลากรทั้งโรงพยาบาล เพราะการฝึกอบรมบุคลากรทุกคนให้พร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์เป็นไปได้ยาก โรงพยาบาลควรมีทีมที่ได้รับการฝึกฝนเฉพาะทาง เช่นเดียวกับทีม Rapid Response Team (RRT) ที่ใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินทางการแพทย์

นอกจากนี้ การดูแลบุคลากรถือเป็นอีกหนึ่งมาตรฐานสำคัญ โดยมี 3 องค์ประกอบหลัก ได้แก่

  • จำนวนบุคลากรที่เพียงพอและมีศักยภาพ
  • สภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัย – ครอบคลุมทั้งความปลอดภัยทางกายภาพและจิตใจ
  • สุขภาวะของบุคลากร – รวมถึงการจัดสรรเวลาทำงานและมาตรการสนับสนุนอื่น ๆ

อย่างไรก็ตาม ปัญหาบุคลากรไม่เพียงพอยังคงเป็นปมสำคัญ ซึ่งในการประเมินคุณภาพโรงพยาบาล สรพ. พบว่าหลายแห่งมีบุคลากรทำงานเกินมาตรฐานที่กำหนดไว้ พญ.ปิยวรรณ อธิบายว่า การบริหารจัดการคุณภาพ (Quality Management) ไม่ใช่เพียงแค่การเพิ่มบุคลากรหรือทรัพยากรเท่านั้น แต่ต้องเน้นการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพภายใต้ข้อจำกัดที่มี

“การบริหารจัดการคุณภาพคือการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งต้องอาศัยแนวคิด Creative Thinking และ Design Thinking เพื่อออกแบบระบบการทำงานที่เหมาะสม เช่น การนำเครื่องมือช่วยเหลือมาใช้ หรือการปรับกระบวนการทำงานให้สอดคล้องกับกำลังคนที่มีอยู่” พญ.ปิยวรรณ กล่าว

เปิดตัวแอปพลิเคชัน “บอกคุณ…ภาพ” ประชาชนมีส่วนร่วมพัฒนา รพ.

ทั้งนี้ สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) ยังได้เปิดตัวแอปพลิเคชัน “บอกคุณ…ภาพ” โดยมีเป้าหมายให้ผู้ป่วยมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพผ่านการสะท้อนประสบการณ์ รับฟังความคิดเห็น และรายงานอุบัติการณ์ในโรงพยาบาล 

แอปฯ นี้ไม่ใช่ช่องทางร้องเรียน แต่เป็นเครื่องมือเพื่อพัฒนาเชิงระบบ โดยข้อมูลที่ได้รับจะถูกวิเคราะห์และนำเสนอในรูปแบบ Dashboard เพื่อให้โรงพยาบาลนำไปปรับปรุงการให้บริการ

แอปฯ “บอกคุณ…ภาพ” สามารถเข้าใช้งานผ่านแอปฯ “ทางรัฐ” โดยมี 2 ฟังก์ชันหลัก คือ “สถานพยาบาลคุณภาพใกล้ฉัน” สำหรับค้นหาโรงพยาบาลที่ผ่านการรับรอง HA และ “บอกเล่าคุณภาพสถานพยาบาล” ที่เปิดให้ประชาชนรายงานประสบการณ์การรักษาและสภาพแวดล้อมของโรงพยาบาลใน 4 หัวข้อ ได้แก่ เรื่องอยากบอก เรื่องอยากเล่า เรื่องเฝ้าระวัง และเรื่องให้กำลังใจ ข้อมูลทั้งหมดจะถูกนำไปวิเคราะห์ในระดับระบบ เพื่อช่วยให้โรงพยาบาลสามารถพัฒนาแนวทางบริการที่ปลอดภัยและมีคุณภาพมากขึ้น

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active