ลุยเก็บฐานข้อมูลจัดทรัพยากรและอัตรากำลัง ให้มีสิทธิรักษาที่ถูกต้อง โฆษก สธ. แจงอัตราส่วนแพทย์ต่อประชากรไทยและต่างด้าวใน อ.แม่สอด จ.ตาก อยู่ที่ 1:1,927 ด้านผู้ตรวจฯ เตรียมจัดสรรและผลิตนักเรียนแพทย์ พยาบาลจากคนในพื้นที่ เพิ่มการศึกษาแพทย์ต่อยอดสาขาที่จำเป็น
วันนี้ (25 มีนาคม 2568) ตรีชฎา ศรีธาดา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการดูแลสุขภาพของประชากรพื้นที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ว่า จากการตรวจสอบข้อมูลกับ นพ.รเมศ ว่องวิไลรัตน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่สอด พบว่า
- มีประชากรไทยในอำเภอแม่สอด 117,254 คน
- ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 80,162 คน
- มีประชากรต่างด้าวประมาณ 204,676 คน
โดยมีแพทย์ทั้งหมด 167 คน แบ่งเป็น
- โรงพยาบาลแม่สอด 82 คน
- แพทย์เอกชนและคลินิก 85 คน
คิดเป็นอัตราส่วนแพทย์ต่อประชากรไทยและต่างด้าวที่ 1:1,927 ซึ่งในส่วนของคนไทยสิทธิ ท.99 และแรงงานต่างด้าวถูกกฎหมาย ปัจจุบันมีสิทธิเข้ารับการรักษาพยาบาลและเบิกชดเชยจากกองทุนที่รับผิดชอบได้ครบถ้วนแล้ว
ส่วนภาพรวมของจังหวัดตาก อัตราส่วนแพทย์ต่อประชากรไทย คือ 1:1,528 หากรวมประมาณการประชากรต่างด้าวด้วยจะเป็น 1:2,579 (ข้อมูลวันที่ 24 มีนาคม 2568) ขณะนี้กำลังเร่งรัดขึ้นทะเบียนประชากรต่างด้าวผ่านการเก็บอัตลักษณ์ยืนยันตัวบุคคลด้วยการสแกนม่านตาเพื่อให้เข้าสู่ระบบประกันสุขภาพและมีสิทธิการรักษาอย่างถูกต้อง


ด้าน นพ.สุภโชค เวชภัณฑ์เภสัช ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 2 กล่าวว่า ข้อมูลประชากรต่างด้าวที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนอาจมีจำนวนคลาดเคลื่อนได้เนื่องจากมีการเคลื่อนย้ายตลอด
กระทรวงสาธารณสุขจึงนำระบบขึ้นทะเบียนผ่านการเก็บอัตลักษณ์ยืนยันตัวบุคคลด้วยการสแกนม่านตา (TRCBAS) ซึ่งพัฒนาโดยสภากาชาดไทย ร่วมกับกรมควบคุมโรค ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ที่มีความแม่นยำสูง มาใช้เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลในการให้บริการได้ถูกคน ถูกต้อง และติดตามควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ เบื้องต้น มีการยืนยันตัวตนประชากรต่างด้าวในจังหวัดตากผ่านระบบ TRCBAS แล้ว 7,616 คน
ล่าสุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เสนอเรื่องการขึ้นทะเบียนผ่านระบบ TRCBAS เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว ซึ่งจะทำให้ผู้ที่ขึ้นทะเบียนในระบบเป็นบุคคลที่มีสิทธิเข้ารับการรักษาพยาบาลได้อย่างถูกต้อง
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขจะเร่งดำเนินการขึ้นทะเบียนเพื่อเป็นฐานข้อมูลในการจัดสรรทรัพยากรและวางแผนการดูแลด้านสาธารณสุขอย่างเหมาะสม อาทิ จัดสรรโควตานักศึกษาแพทย์ พยาบาล สำหรับคนในพื้นที่ รวมถึงการศึกษาแพทย์ต่อยอดสาขาอื่น ๆ ที่จำเป็นมารองรับต่อไป