“8 ปี นานไป” ภาค ปชช. ไม่รอรัฐ ปักหมุด ยุติปัญหาเอดส์ ขจัดการเลือกปฏิบัติ

IHRI เผยช่วงวิกฤตโควิด-19 ผู้อยู่ร่วมกับ HIV เข้าไม่ถึงวัคซีน แนะรัฐปรับกลยุทธ์ ให้บริการสาธารณสุขตามกลุ่มประชากรเฉพาะ

เอดส์ ตีตรา

เนื่องใน “วันยุติการตีตราและเลือกปฏิบัติ” 1 มีนาคม 2565 สถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) จัดกิจกรรม “ปักหมุดหมายให้การตีตราและเลือกปฏิบัติจบลงที่รุ่นเรา” ผ่านการเสวนาจากตัวแทนภาคีองค์กรชุมชนที่ทำงานด้าน HIV อาทิ มูลนิธิเอ็มพลัส, สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย, ศูนย์สุขภาพแคร์แมท, แทนเจอรีนคลินิก และมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ แลกเปลี่ยนปัญหาในการทำงานด้านบริการสาธารณสุขของผู้ที่อยู่ร่วมกับ HIV และ กลุ่มเปราะบางในสังคม เพื่อนำไปสู่การยุติการเลือกปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม

พญ.นิตยา ภานุภาค พึ่งพาพงศ์ ผอ.บริหาร IHRI ระบุถึงสถานการณ์โควิด-19 ฉายให้เห็นความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพของไทย โดยในกลุ่มผู้อยู่ร่วมกับ HIV ในช่วงแรกของการรณรงค์ฉีดวัคซีน มีข้อมูลทางวิชาการชัดเจนว่าหากคนกลุ่มนี้ติดเชื้อ จะมีอาการรุนแรงมากกว่าคนทั่วไป ถึง 2 เท่า ซึ่งควรจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มในกลุ่มเปราะบาง หรือ 608 แต่เนื่องจากไม่มีใครกล้าที่จะพูดออกมาทั้งรัฐ หรือตัวผู้ป่วยเอง เนื่องจากกังวลว่าจะเป็นการตีตราผู้ป่วยและไม่เคยมีประสบการณ์เรื่องนี้ ซึ่งในความเป็นจริงหลายประเทศสามารถทำได้

ยุติการตีตราและเลือกปฏิบัติ
พญ.นิตยา ภานุภาค พึ่งพาพงศ์ ผอ.บริหารสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI)

เช่น การที่ผู้ให้บริการด้านวัคซีน และผู้อยู่ร่วมกับ HIV จะต้องแจ้งข้อมูลตามความเป็นจริง ซึ่งถือว่าเป็นจริยธรรมทางการแพทย์ แต่เมื่อไปถึงจุดฉีดวัคซีนไม่จำเป็นที่จะต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ซ้ำ เพราะถือว่าเข้าเกณฑ์ที่ต้องได้รับการฉีดวัคซีนอยู่แล้ว ซึ่งปัจจุบันยังพบบางจุดฉีดวัคซีนยังพบว่าศูนย์ฉีดวัคซีนบางแห่ง ยังบังคับให้ผู้อยู่ร่วมกับ HIV  ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ก่อน ซึ่งถือว่าเป็นการตีตรา และเลือกปฎิบัติอย่างชัดเจน

“สิ่งที่สำคัญคือเราไม่มีหน่วยงานกลาง ที่จะรวบรวมองค์ความรู้ใหม่ ๆ เหล่านี้ เพื่อถ่ายทอดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ของเรา ซึ่งเข้าใจได้ว่าหน่วยงานด้านสาธารณสุขอาจจะไม่มีเวลา ภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านประชาสังคม งานวิจัย อาจจะต้องลุกขึ้นมามีบทบาทหรือไม่ในอนาคต เพราะหลายครั้งสถานการณ์เปลี่ยนแต่เรายังรับมือด้วยรูปแบบเดิม ๆ ”

ยุติการตีตราและเลือกปฏิบัติ
กฤติมา สมิทธิ์พล หัวหน้าแทนเจอรีนคลินิก

กฤติมา สมิทธิ์พล หัวหน้าแทนเจอรีนคลินิก ศูนย์ให้บริการด้านสุขภาพแบบองค์รวมสำหรับคนข้ามเพศโดยเฉพาะ ซึ่งปัจจุบันไทยมีประชากรกลุ่มนี้อยู่มากกว่า 3 แสนคน กล่าวถึงปัญหาการถูกเลือกปฏิบัติในกลุ่มหญิงข้ามเพศในสถานบริการของรัฐ ระบุว่า ปัจจุบันกระทรวงสาธาณสุขยังกำหนดประเภทตามการการรักษาเอาไว้แค่ชายกับหญิง ส่งผลให้หญิงข้ามเพศเข้าไม่ถึงระบบให้บริการสุขภาพของรัฐ  ถูกปฏิเสธให้บริการจากเจ้าหน้าที่ ไม่มีป้ายบอกทางหรือประชาสัมพันธ์สำหรับแผนกให้บริการเฉพาะทาง เช่น ให้คำปรึกษาด้านการข้ามเพศ, รับฮอร์โมน, รักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธุ์ หรือ การรับยาต้าน HIV ทำให้ไม่ทราบว่าตนเองต้องเข้ารับบริการ ณ จุดใด หรือแม้แต่การให้บริการที่ไม่เป็นมิตรของเจ้าหน้าที่ เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขไม่มีนโยบายที่บังคับใช้กับหน่วยงานภายใต้สังกัด รับรู้ และปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน ส่งผลให้คนที่กำลังข้ามเพศโดยเฉพาะเยาวชน หันไปซื้อยามารับประทานเอง ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว เพราะบางชนิดต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

“ทุกวันนี้คนข้ามเพศในไทย ยังถือเป็นคนไร้สถานะในระบบของกระทรวงสาธารณสุข แค่การประชาสัมพันธ์ตามโรงพยาบาลยังไม่พูดถึงคนข้ามเพศเลย ไม่ต้องพูดถึงการให้บริการที่เป็นมิตร ที่ส่งผลต่อความสบายใจของคนที่อยากจะเริ่มต้นเทคฮอร์โมน แปลงเพศ ซึ่งความจริงมันไม่ใช่เรื่องความสวยความงาม แต่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่คนเลือกจะเป็นเพศตามที่ตนเองเป็น รัฐควรจะมองเห็นและมีนโยบายรองรับคนกลุ่มนี้ได้แล้ว”

เอดส์ เลือกปฏิบัติ
รัฐวิทย์ อภิพุทธิพันธ์ ผู้จัดการมูลนิธิเอ็มพลัส

ขณะที่ รัฐวิทย์ อภิพุทธิพันธ์ ผู้จัดการมูลนิธิเอ็มพลัส ที่ทำงานด้านป้องกัน HIV และ AIDS โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รวมถึงด้านสุขภาพทางเพศและสิทธิทางเพศในกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTIQN+) เล่าถึงการทำงานร่วมกับภาครัฐ พบว่า การกำหนดนโยบายของรัฐยังติดกรอบอยู่แค่ชายกับหญิง ส่งผลให้การออกกฎหมาย นโยบาย หรือสวัสดิการของกลุ่ม LGBTIQN+ ยังไม่ครอบคลุม รัฐควรที่จะทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านการป้องกัน HIV หรือ LGBTIQN+ ในการให้บริการต่างๆ ภายในหน่วยงานราชการเพื่อกำหนดเป็นนโยบายที่ครอบคลุมทุกกลุ่มประชากร ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการตรา และถูกเลือกปฏิบัติในสังคมได้จริง

“ในการทำงานร่วมกัน ภาครัฐเขาก็ตกใจว่าทำไมเรามีตัวเลขกลุ่มเสี่ยง HIV มากกว่า สะท้อนว่าบางอย่างเขาก็ต้องพึ่งเครือข่ายที่ทำงานด้านนี้เหมือนกัน จนที่สุดยาเพรพ (PrEP) ก็เลยเพิ่มเข้ามาในระบบของ สปสช. เราเชื่อว่าหากรัฐให้ความสำคัญ ก็จะมีสิ่งอื่นๆ ที่ตอบโจทย์ความหลากหลายเช่นกัน”

สำหรับการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์โรคเอดส์ ปี 2564 และปฏิญญาฉบับใหม่ เพื่อนำไปสู่การยุติปัญหาอย่างยั่งยืนภายในปี 2573 หรือภายในอีก 8 ปี ภาคีองค์กรชุมชมมองว่านานเกินไป เนื่องจากปัจจุบันไทยมีเทคโนโลยีในการลดจำนวน และป้องกัน ผู้ติดเชื้อ HIV มานานกว่า 10 ปีแล้ว สิ่งสำคัญคือหน่วยงานด้านสาธารณสุขต้องกล้าที่จะลุกขึ้นมาประชาสัมพันธ์ข้อมูลเหล่านี้ผ่านสื่อต่าง ๆ ทั้งการใช้ถุงยางอนามัย ยาต้านไวรัส PrEP กับ PEP และ U=U หรือ ตรวจไม่เจอเชื้อเอดส์ = ไม่แพร่เชื้อ รวมถึงการออกแบบให้บริการ และสวัสดิการต่าง ๆ ในการรักษาที่ครอบคลุม และเป็นมิตรต่อประชากรทุกกลุ่มในสังคม จึงได้ร่วมกับปักหมุดภายขับเคลื่อนงานด้าน HIV ในนามภาคประชาสังคม เพื่อสร้างสังคมในการลดการตีตราและเลือกปฏิบัติ พร้อมระบุ “ต้องให้จบที่รุ่นเรา”

Author

Alternative Text
AUTHOR

รุ่งโรจน์ สมบุญเก่า

หนุ่มหน้ามนต์คนบางเลน สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ชื่นชอบอนิเมะ ทั้งสัตว์บกสัตว์ทะเลล้วนเป็นเพื่อน