ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข พร้อมเป็นคนกลางเชื่อม กทม. – กระทรวงสาธารณสุข ตั้งเป้าเพิ่มหน่วยบริการปฐมภูมิ 530-800 หน่วย ดึงคลินิกสหวิชาชีพเข้าระบบกองทุนสุขภาพ 3 กองทุน ชี้ ฝั่งธนฯ เหมาะทำแซนด์บ็อกซ์
เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2565 ที่ โรงแรมบัดดี้ โอเรียนทอล ริเวอร์ไซด์ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี มีการประชุมรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อการปฏิรูประบบบริการปฐมภูมิในกรุงเทพมหานคร เพื่อรองรับสถานการณ์การระบาดของโรคระดับชาติและโรคอุบัติใหม่ (Big Rock 1) ภายใต้โปรแกรมยุติโรคระบาดด้วยนวัตกรรม
ศ.นพ.อุดม คชินทร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข กล่าวว่า มาเป็นตัวกลางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานคร กับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้เกิดระบบสุขภาพปฐมภูมิ โดยจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้เห็นจุดอ่อนของหน่วยบริการปฐมภูมิที่ไม่เพียงพอต่อจำนวนประชากร นอกจากนี้ยังพบว่ากรุงเทพมหานครมีช่องว่างระบบการส่งต่อจากหน่วยบริการปฐมภูมิ ไปสู่ทุติยภูมิ เพราะโรงพยาบาลส่วนใหญ่ในกรุงเทพฯ มีแต่เป็นหน่วยบริการตติยภูมิ ทำให้ประชาชนไปรวมกันอยู่ที่โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลจุฬาฯ เป็นต้น
“ที่สุดแล้วอาจมีข้อสรุปในเบื้องต้นว่าควรยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุข ทั้ง 77 แห่ง ขึ้นเป็นหน่วยบริการทุติยภูมิ มากกว่าการสร้างโรงพยาบาลใหม่ โดยทำให้ศูนย์สาธารณสุข มีสถานะเทียบเท่ากับโรงพยาบาลชุมชนหรือโรงพยาบาลประจำอำเภอในต่างจังหวัด”
ศ.นพ.อุดม กล่าวอีกว่า ในส่วนของหน่วยบริการปฐมภูมิ จะต้องดึงสหวิชาชีพ เข้ามาเข้าสู่ระบบ ทั้งร้านขายยา และคลินิกชุมชนอบอุ่น หรือมีหน่วยบริการเพิ่ม จะทำให้เพิ่มปริมาณหน่วยบริการปฐมภูมิมากขึ้น และศูนย์บริการสาธารณสุขก็ขยับขึ้นไปเป็นหน่วยบริการทุติยภูมิ มีเตียงรับผู้ป่วยในอย่างน้อย 60 เตียง โดยโมเดลทั้งหมดอาจเริ่มต้นทำเป็นแซนด์บ็อกซ์ (Sandbox) ในโซนเมืองที่มีความพร้อมมากที่สุดคือ โซนฝั่งธนบุรี เพราะมีความหนาแน่นไม่มากเท่าฝั่งพระนคร
ด้าน วันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เป็นความท้าทายของข้าราชการกรุงเทพมหานคร ทั้งสำนักการแพทย์และสำนักอนามัย หลังจากที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่ ตั้งเป้าเห็นการขับเคลื่อนระบบสาธารณสุขปฐมภูมิเป็นรูปธรรมภายใน 100 วัน โดยเฉพาะการทำพื้นที่แซนด์บ็อกซ์
เบื้องต้นประเมินว่ากรุงเทพฯ ฝั่งธนบุรีมีความหนาแน่นน้อย มีความพร้อมที่จะทำแซนด์บ็อกซ์ ระบบสาธารณสุขปฐมภูมิ และระบบการส่งต่อ ส่วนเขตพระนครมีความหนาแน่นมาก ก็มีความท้าทายอีกรูปแบบหนึ่ง ทั้งยังมีโซนรอบนอกที่ยังมีการทำเกษตรกรรม ลักษณะพื้นที่ที่แตกต่างกันทำให้ต้องศึกษาการจัดการที่ต่างกันด้วย
ข้อเสนอ 5 เด็นปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิ กทม.
สำหรับการประชุมดังกล่าว ตัวแทนสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ที่ได้ทำงานระดมความคิดเห็นการปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิ จากหลายภาคส่วนในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ได้นำเสนอข้อเสนอทั้งหมด 5 ด้านดังนี้
1. การเข้าถึงบริการปฐมภูมิ
- ปัจจุบันมีหน่วยบริการปฐมภูมิ เช่น คลินิกอบอุ่น 248 แห่ง แต่ควรมีหน่วยบริการปฐมภูมิลักษณะนี้ 580 แห่ง แต่ถ้ารวมประชากรแฝง ควรมี 800 แห่ง จึงจะเพียงพอ
- จะทำอย่างไรจึงจะเพิ่มหน่วยบริการปฐมภูมิ ภายใต้ระบบประกันสังคม เนื่องจากในกรุงเทพฯ มีผู้ใช้สิทธิประกันสังคม 3.6 ล้านคน สิทธิข้าราชการ 6 แสนคน
- เพิ่มเครือข่าย คลนิกสหวิชาชีพ เช่น ร้านขายยา ศูนย์กายภาพ แพทย์แผนไทย คลินิก ฯลฯ ครอบคลุมงานเยี่ยมบ้าน และการควบคุมโรค
2. การพัฒนาระบบการเงิน สุขภาพ
- การเพิ่มแหล่งทรัพยากร เช่น เก็บภาษียาสูบบำรุงท้องถิ่น
- การขึ้นทะเบียนประชากรแฝง ทั้งไทยและแรงงานข้ามชาติ ซึ่งคากว่ามีจำนวน 1 ล้านคน
- กระจายทรัพยากรจากโรงพยาบาลทุติยภูมิ สู่ ปฐมภูมิ ให้ทั้ง 3 กองทุนสุขภาพ ต้องลงไปที่หน่วยบริการปฐมภูมิ
- แหล่งงบฯ ปฐมภูมิ อาจมาจากโครงการของกองทุนสุขภาพ กทม. ค่าบริการผู้ป่วยนอก การบริจาค สนับสนุนภาคเอกชน
3. เพิ่มการเข้าถึง รพ.ทุติยภูมิ
- ประชาชนเข้าถึง Intermediate Care/ Longterm Care ในสถานพยาบาลใกล้บ้าน
- มีระบบส่งระหว่างหน่วยบริการปฐมภูมิ และโรงพยาบาลทุติยภูมิแบบไร้รอยต่อ
- หน่วยบริการสุขภาพ กทม. เชื่อมโยงกับ กระทรวงสาธารณสุข และโรงเรียนแพทย์
- เพิ่มโรงพยาบาลขนาดทุติยภูม ขนาด 60 เตียงในพื้นที่ขาดแคลน
4. การสนับสนุนภาคประชาชนในการจัดการสุขภาพ
- อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) มีทั้งแค่หนึ่งหมื่นกว่าคน แต่ควรมีแสนคน และพัฒนาอสส. รูปแบบใหม่ ทำงานเชื่อมโยงกับหน่วยบริการปฐมภูมิ
- สร้างเครือข่ายการทำงาน ร่วมกับห้องพยาบาลสถานประกอบการ
- ให้เครือข่ายภาคประชาชนจัดทำโครงการส่งเสริมสุขภาพ ขอเงินสนับสนุนจากกองทุนหลักประกันสุขภาพ กทม.
5. การอภิบาลระบบสุขภาพในกรุงเทพมหานคร
- กทม. เป็นเจ้าภาพ ปฐมภูมิ เป็นหลัก โดยมีผู้ว่าเป็นประธาน (supreme coordinating body ที่ เชื่อมโยง ประสาน หน่วยบริการรัฐ เอกชน กองทุนสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข และภาคประชาชน)
- ให้ศูนย์บริการสาธารณสุขเป็นผู้จัดการพื้นที่สุขภาพในระดับเขต
- ให้โรงพยาบาลเป็นผู้จัดการพื้นที่มากกว่าหนึ่งเขต
- มีหน่วยงานภายนอก ให้ข้อเสนอแนะ