หลังพบ ประชาชนเสพกัญชา เสียชีวิตแล้ว 1 คน จ่อ ปักป้ายหน้าโรงเรียน ด้าน “อนุทิน” ขออย่าโยงการเมือง ขณะที่ “เครือข่ายนักวิชาการและภาคประชาชนต้านภัยยาเสพติด” เสนอ 4 ข้อคุมกัญชาในภาวะสุญญากาศทางกฎหมาย
วันนี้ (14 มิ.ย. 2565) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หารือถึงแนวทางเพื่อป้องกันผลกระทบจากกฎหมายกัญชาเสรี และการเฝ้าระวังปัญหาที่เกิดจากการใช้กัญชาในนักเรียน โรงเรียนสังกัด กทม.โดยระบุว่าเป็นห่วงในกลุ่มเด็กนักเรียน เพราะการรับรู้และการตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องข้อมูลกัญชาอาจยังมีไม่มากพอ ขณะที่เด็ก ๆ ก็มีอยู่ในวัยอยากลองอยากรู้
ขณะที่รายงานของสำนักการแพทย์ กทม. ล่าสุดเช้าวันนี้ พบผู้เสพกัญชา จำนวน 4 คน หลังวันที่ 9 มิ.ย. 2565 ถูกส่งเข้าโรงพยาบาล ในจำนวนนี้มี 1 คนเสียชีวิต เป็นชายอายุ 51 ปี มีอาการแน่นหน้าอกหลังเสพกัญชา และ อีก 1คนอยู่ในห้อง ICU เป็นชาย อายุ 16 ปี 6 เดือน เสพกัญชาเกินขนาด
ส่วนอีก 2 คน เป็นเพศชายอายุ 17 ปี และ 25 ปี ซึ่งจะเห็นว่า กลุ่มที่มีอาการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล หรือ เสียชีวิต เป็นเยาวชน หรือ มีอายุไม่มากนัก ดังนั้น สิ่งที่ กทม.ทำได้ คือ เฝ้าระวังและป้องกันในกลุ่มเด็กนักเรียนให้มากที่สุด
ชัชชาติ บอกว่า มีความเป็นไปได้ ที่กทม. จะเพิ่มเติมมากตรการป้องกันกัญชาในกลุ่มสถานศึกษา ซึ่งอาจออกประกาศ หรือ ปักป้ายหน้าโรงเรียน ในสังกัด กทม. ทั้ง 436 แห่งให้เป็นพื้นที่ปลอดกัญชา รวมถึง ร้านอาหารหน้าโรงเรียนด้วย ซึ่งต้องไปดูหลังจากนี้เร่งด่วนว่า จะใช้รูปแบบใด ปักป้ายหน้าโรงเรียน หรือ ออกประกาศ กทม. หรือ ข้อกฎหมายที่ให้สามารถดำเนินการได้
“แม้ขณะนี้ มีกฎหมายกัญชาเสรีแล้วก็จริง ไม่เป็นไร ในกลุ่มผู้ใหญ่เราคงไม่ได้จะไปทำอะไร แต่บางกลุ่มที่เป็นวัยเปราะบาง โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียนที่ยังตัดสินใจเรื่องกัญชาเองไม่ได้ กทม. ก็ต้องการดูแลปกป้องเด็ก ๆ กลุ่มนี้ไว้ก่อน รวมถึงร้านขายอาหารหน้าโรงเรียนด้วยเช่นกัน ก็คงจะมีมาตรการอย่างใดอย่างหนึ่งออกมาในเร็ว ๆ นี้”
“อนุทิน” ยันดันกัญชาเฉพาะที่เป็นประโยชน์
อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ระบุถึงข้อกังวลการใช้กัญชาและกรณีที่มีผู้เสียชีวิตว่า ต้องไปดูด้วยว่าเป็นการเสียชีวิตจากสาเหตุใด และมีลักษณะการใช้เกินขนาด หรือ Overdose หรือไม่ รวมไปถึงพฤติกรรมการใช้กัญชาก่อนเสียชีวิต พร้อมตั้งคำถามถึงการนำเรื่องนี้ออกมาเปิดเผยว่ามีเจตนาอื่นหรือไม่
ทั้งนี้มองว่าสิ่งใดที่เป็นประโยชน์กับประชาชนก็ควรจะช่วยกันและแข่งกันทำความดี เพื่อประโยชน์กับประชาชน และนโยบายการใช้กัญชาของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อการแพทย์และสุขภาพเท่านั้น ซึ่งการเสพไม่ใช่เพื่อสุขภาพ และกระทรวงสาธารณสุขมีการแจ้งเตือนประชาชนโดยตลอดโดยเฉพาะเยาวชน แม้จะไม่มีนโยบายกัญชาเสรีก็มีการเตือนตลอดว่าการเสพกัญชาเป็นสิ่งที่ไม่ดี
“ขออย่านำไปเป็นประเด็นทางการเมือง เพราะกฎหมายได้ผ่านขั้นตอนการพิจารณามาแล้ว และคงไม่ต้องไปดูว่าใครเป็นผู้ปล่อยข่าวนี้ออกมาเพราะรู้ๆกันอยู่ ส่วนนายกรัฐมนตรีไม่ได้พูดหรือกำชับเรื่องนี้พิเศษแต่อย่างใดเพราะถือว่าพรรคภูมิใจไทยเป็นผู้ผลักดันเรื่องนี้ และในฐานะหัวหน้าพรรคก็อยู่ในความรับผิดชอบโดยตรง”
4 ข้อเสนอควบคุมกัญชา ช่วงสุญญากาศทางกฎหมาย
วันเดียวกัน ด้านเครือข่ายนักวิชาการและภาคประชาชนต้านภัยยาเสพติด ประกอบด้วย นพ.ชาตรี บานชื่น, ดร.วิโรจน์ สุ่มใหญ่, นางทิชา ณ นคร ,รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี เป็นต้น ออกแถลงการณ์ระบุว่า
ขณะนี้แม้มีการรับหลักการของ ร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ. … เสนอโดยพรรคภูมิใจไทย และร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากกัญชากัญชง พ.ศ…. เสนอโดยพรรคพลังประชารัฐแล้วในสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งจะมีการพิจารณาในรายละเอียดในชั้นกรรมาธิการแล้วนำเข้าสู่การพิจารณาในวาระ 2 และ 3 ในสภาผู้แทนราษฎร และจะต้องเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภาต่อไปนั้น
เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว เครือข่ายนักวิชาการและภาคประชาชนต้านภัยยาเสพติด มีข้อเสนอแนะ ดังนี้ จากประสบการณ์ทั่วโลกของการควบคุมสารเสพติดที่ถูกกฎหมายคือบุหรี่และสุรา องค์การอนามัยโลกและองค์การสหประชาชาติแนะนำ ให้รัฐต้องมีมาตรการ “ควบคุมอุปทาน (supply control)” ที่มีประสิทธิผลที่เพียงพอ ไม่ใช่เพียงแต่ทำด้านการแนะนำผู้ใช้ให้เสพอย่างปลอดภัย ที่เรียกว่า “ควบคุมอุปสงค์ (demand control)” สำหรับประสบการณ์กรณีกัญชา ทั้งประเทศอุรกวัย ประเทศแคนาดา และหลายรัฐในประเทศอเมริกาล้วนมีการกำหนดมาตรการควบคุมอุปทานที่เข้มข้นทั้งสิ้น
ส่วนมาตรการที่สามารถดำเนินการได้เพื่อให้เกิดการควบคุมการใช้กัญชาในทางที่ผิดที่เพียงพอ ได้แก่
- ควบคุมการบริโภคกัญชา เช่น ห้ามการบริโภคกัญชาโดยบุคคลอายุต่ำกว่ายี่สิบปีโดยเด็ดขาด ห้ามการโภคกัญชาโดยยกเว้นให้บริโภคได้ในกรณีใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ที่มีแพทย์เป็นผู้สั่งจ่าย หรือกรณีที่ปลูกและใช้กัญชาในครัวเรือน ในส่วนของกัญชาที่ไม่ใช่ช่อดอก เพื่อให้เป็นระบบที่สนับสนุน“กัญชาทางการแพทย์” อย่างแท้จริง “ไม่ใช่” การสนับสนุน “กัญชาเสรี”
- สนับสนุนเศรษฐกิจครัวเรือนจาก “กัญชง” เนื่องจากมีสารเมา THC ต่ำ จะเกิดการใช้ในทางที่ผิดได้ยาก หากสนับสนุนเศรษฐกิจครัวเรือนจากกัญชา จะเกิดการใช้กัญชาในทางที่ผิดได้มาก เช่น นำช่อดอกไปสูบหรือไปจำหน่ายทั้งที่เปิดเผยและไม่เปิดเผย หรือนำช่อดอกไปใส่อาหารและเครื่องดื่มจำหน่าย ทั้งโดยเปิดเผยและไม่เปิดเผย เป็นต้น
- ควบคุมการใช้กัญชาในเชิงพานิชย์ทุกระดับ ทั้งระดับครัวเรือน ธุรกิจขนาดย่อม และธุรกิจขนาดใหญ่ เนื่องจากการทำธุรกิจจะมีธรรมชาติของการสร้างกำไรสูงสุด จะมีการใช้เครื่องมือ “การโฆษณาและการตลาด (advertising and marketing)” มาใช้ จะทำให้เกิดสภาวะ “อุปสงค์ที่มากเกินจริง อันเกิดจากการกระตุ้นโดยอุปทาน (supply-induced demand)”
- ควบคุมกิจกรรมการตลาดต่าง ๆ ได้แก่ ควบคุมสถานที่จำหน่าย ทั้งที่ให้ซื้อและบริโภคในร้าน หรือที่ซื้อกลับไปบริโภคภายนอก จะต้องมีใบอนุญาต สถานที่นั้นจะต้องมีการบ่งชี้ชัดเจนว่ามีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ผสมกัญชา และจะต้องเป็นสถานที่ที่ไม่อนุญาตให้เยาวชนเข้าไป หากร้านค้าใดต้องการจะขายผลิตภัณฑ์ผสมกัญชา ก็ต้องแลกกับการปฏิบัติเหล่านี้ ห้ามการจำหน่าย เมล็ดพันธุ์กัญชา ต้นกัญชา และผลิตภัณฑ์กัญชาทางออนไลน์
นอกจากนี้ยัง เสนอควบคุมบรรจุภัณฑ์ เช่น ต้องบรรจุผลิตภัณฑ์กัญชาในบรรจุภัณฑ์แบบเรียบ(plain packaging) มีการระบุระดับ THC และ CBD ของผลิตภัณฑ์ มีการติดฉลากคำเตือน ห้ามโฆษณาโดยสิ้นเชิงเพื่อปกป้องเด็กและเยาวชน เช่นเดียวกับกรณีบุหรี่ในประเทศไทย ซึ่งได้ผลในการเปลี่ยนแปลงค่านิยมการสูบบุหรี่ในประเทศไทยมาแล้ว
ควบคุมการครอบครองในที่สาธารณะ เช่น ประเทศแคนาดากำหนดให้ ห้ามครอบครองกัญชาเทียบเท่ากัญชาแห้งจำนวน 30 กรัม ห้ามครอบครองต้นกัญชาเกินสี่ต้น และห้ามครอบครองต้นกัญชาที่มีดอกกัญชาเกินหนึ่งต้นในที่สาธารณะ เป็นการป้องกันการซื้อขายที่ไม่ถูกกฎหมายได้ดี
ห้ามสูบกัญชาในที่สาธารณะโดยสิ้นเชิง ไม่ใช่เพียงเฉพาะห้ามการสูบที่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนรำคาญ เหมือนกรณีบุหรี่ในประเทศไทยที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว ห้ามขับขี่ยานพาหนะหรือใช้เครื่องจักรภายใต้อิทธิพลของกัญชา
มีมาตรการภาษีกัญชา ซึ่งเป็นมาตรการที่สำคัญมาก เพราะก่อให้เกิดรายได้เข้ารัฐ และควบคุมการบริโภคได้ดี และควรกำหนดให้นำส่วนหนึ่งของภาษีกัญชามาใช้ในการบำบัดรักษาผู้เสพติดกัญชา การดำเนินกิจกรรมการให้ความรู้และการป้องกันเยาวชนใช้กัญชา ตลอดจนใช้เพื่อการวิจัยและการติดตามประเมินผลกระทบทางลบจากการใช้กัญชา
ที่สำคัญ คือ ยังต้องกำหนดให้กัญชาเป็นยาเสพติดอยู่ต่อไป บนหลักการที่ว่า “คุมส่วนใหญ่ ปล่อยส่วนน้อย” แทนที่จะเป็น “คุมส่วนน้อย ปล่อยส่วนใหญ่” เพื่อให้ประเทศไทยยังสามารถออกแบบควบคุมการใช้กัญชาในทางที่ผิดได้และจะทำให้พ่อแม่และระบบการศึกษายังสามารถที่จะสอนเด็กและเยาวชนได้ว่าควรปฏิบัติต่อกัญชาอย่างไร
ขณะนี้ยังไม่มีประเทศใดในโลกที่กำหนดให้กัญชา (cannabis) ไม่เป็นยาเสพติดแม้แต่ประเทศที่อนุญาตให้สูบกัญชาเพื่อความบันเทิงแล้วก็ตาม
หนุนร่าง พ.ร.บ.กัญชา พรรคพลังประชารัฐ
เครือข่ายนักวิชาการและภาคประชาชนต้านภัยยาเสพติด ยังมีข้อเสนอต่อ ร่างพ.ร.บ.ฉบับพรรคภูมิใจไทย ซึ่งเป็นฉบับ “นโยบายกัญชาเสรี โดยมีนโยบายควบคุมการใช้กัญชาในทางที่ผิดน้อยมาก” เนื่องจากไม่มีมาตราใดกำหนดการควบคุมการบริโภคกัญชาเลย คือ ประชาชนและเด็กและเยาวชน ทุกอายุ ทุกเพศจะสามารถเสพหรือสูบกัญชาได้อย่างเสรี อีกทั้งยังกำหนดอนุญาตให้ปลูกกัญชาโดยไม่จำกัดจำนวนและนำช่อดอกมาสูบได้ในครัวเรือน และมีมาตรการควบคุมการปลูกและใช้กัญชาในทางที่ผิดที่น้อยมาก เพราะมีเพียงการกำหนดมาตรการ “ห้ามจำหน่ายกัญชา” แก่เยาวชนอายุต่ำกว่ายี่สิบปี และสตรีมีครรภ์หรือให้นมบุตรเท่านั้น (ไม่ใช่การห้ามเสพกัญชา เพียงห้ามจำหน่าย)
จึงไม่สามารถกล่าวได้ว่าเป็นฉบับส่งเสริมกัญชาทางการแพทย์ เพราะการอนุญาตให้เสพหรือสูบกัญชาได้อย่างเสรี เป็นนโยบายที่เลยกัญชาทางการแพทย์ไปแล้ว เพียงแต่ใช้คำว่ากัญชาทางการแพทย์เป็นข้ออ้างเท่านั้น
ส่วน ร่าง พ.ร.บ.ฉบับพรรคพลังประชารัฐ เป็นฉบับ “นโยบายกัญชาทางเสรีทางการแพทย์ บวกกัญชาเพื่อเศรษฐกิจ และมีมาตรการควบคุมการใช้ในทางที่ผิดในระดับหนึ่ง” เนื่องจากเน้นการใช้กัญชาเพื่อวัตถุประสงค์ในทางการแพทย์เปิดโอกาสให้ประชาชนใช้กัญชาได้ในส่วนที่ไม่ใช่ช่อดอก และสนับสนุนการสร้างเศรษฐกิจจากกัญชง ซึ่งมีสารเมา THC ต่ำ
สภาผู้แทนราษฎรควรยึดเนื้อหาใน พ.ร.บ.ฯ ฉบับพรรคพลังประชารัฐเป็นหลัก และแก้ไขให้เหมาะสมยิ่งขึ้นตามข้อแนะนำข้างต้น โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1.ไม่ควรใช้มาตรา 3 ของร่าง พ.ร.บ.ฯ ฉบับพรรคภูมิใจไทย ที่ระบุว่า “ให้กัญชากัญชง ที่ดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้แล้ว ไม่ถือเป็นยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ หรือประมวลกฎหมายยาเสพติด” เนื่องจากจะทำให้เกิดการปลดกัญชาจากการเป็นยาเสพติดโดยถาวรตลอดไป
ร่าง พ.ร.บ.ฯ ฉบับพรรคพลังประชารัฐ ไม่ได้กำหนดให้ปลดกัญชาจากการเป็นยาเสพติดแบบถาวร แต่เสนอการควบคุมที่สมเหตุสมผล ดังมาตรา 3 ที่กำหนดว่า การใช้กัญชาและกัญชงเป็นวัตถุดิบหรือส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์สมุนไพรตามกฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์สมุนไพร ยาตามกฎหมายว่าด้วยยา อาหารตามกฎหมายว่าด้วยอาหาร เครื่องสำอางตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องสำอาง หรือผลิตภัณฑ์อื่นใดตามที่มีกฎหมายเฉพาะบัญญัติไว้ รวมถึงการนำเข้า การส่งออกการจำหน่าย และ การโฆษณา ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น เว้นแต่กรณีที่บัญญัติไว้ในหมวด 3 การป้องกันการใช้ในทางที่ผิด(ซึ่งกำหนดห้ามการบริโภค ยกเว้นเพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์) (หมายเหตุ: ประเทศแคนาดาก็ไม่ได้ปลดกัญชาจากการเป็นยาเสพติด แม้จะให้สูบกัญชาเพื่อความบันเทิงได้อย่างถูกกฎหมายก็ตาม)
2.ควรใช้ร่าง พ.ร.บ.ฯ ฉบับพรรคพลังประชารัฐ (แต่ปรับปรุงให้ดีขึ้นได้) ในมาตรา 22 กำหนดห้ามผู้ใดบริโภคกัญชา กัญชง เว้นแต่เป็นการบริโภคเพื่อรักษาโรคตามคำสั่งแพทย์แผนปัจจุบัน/แผนไทย/หมอพื้นบ้าน หรือ เพื่อการศึกษาวิจัย หรือ เป็นการใช้ประโยชน์ในครัวเรือนตามที่ได้จดแจ้งไว้ในมาตรา15
มาตรา 15 กำหนดไว้ว่า ผู้ใดประสงค์จะปลูกกัญชา กัญชง เพื่อใช้ประโญชน์ในครัวเรือน โดยให้ยกเว้น ดอก ช่อดอก หรือเมล็ด ให้ปลูกได้ไม่เกินจำนวนที่กำหนดในกฎกระทรวง ให้ยื่นขอจดแจ้งต่อผู้รับจดแจ้ง และเมื่อผู้รับจดแจ้งออกใบรับจดแจ้งให้แล้ว จึงจะดำเนินการนั้นได้ แทนการใช้มาตรา 18 ของฉบับพรรคภูมิใจไทย ซึ่งกำหนดอนุญาตให้ปลูกกัญชาโดยไม่จำกัดจำนวนและนำช่อดอกมาสูบได้ในครัวเรือน ซึ่งข้อเท็จจริงคือยังไม่มีประเทศใดในโลก ที่กำหนดให้ปลูกต้นกัญชาได้โดยไม่มีมาตรการควบคุมที่เหมาะสม แม้แต่ประเทศที่อนุญาตให้สูบกัญชาเพื่อความบันเทิงแล้วก็ตาม
นอกจากนี้ ไม่ควรมีการกำหนดให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้ยกเว้นการควบคุมการจำหน่ายและการโฆษณาของส่วนของกัญชา กัญชง สารสกัด หรือกากจากสารสกัด ได้ในภายหลัง (มาตรา 16 และ 30 ของร่าง พ.ร.บ.ฯฉบับพรรคภูมิใจไทย) เนื่องจากจะทำให้มาตรการควบคุมการใช้ในทางที่ผิดอ่อนลงไปอีกในอนาคต
ด้าน ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด ประเภทที่ 5 ทำให้กระแสเรื่องกัญชาเป็นที่สนใจ กพย. ร่วมกับ สสส. สร้างความเข้มแข็งกลไกเฝ้าระวังระบบยา สร้างและจัดการความรู้ระบบยาเพื่อการเฝ้าระวังเตือนภัยสังคม รวมทั้งพัฒนางานวิชาการเพื่อสนับสนุนนโยบายและดำเนินการตามนโยบายที่เกี่ยวข้องกับระบบยามาอย่างต่อเนื่อง “กัญชา” ถือเป็นสมุนไพรมีประโยชน์ทางการแพทย์ แต่หากใช้ไม่ถูกต้อง ใช้เกินความจำเป็น หรือมีสาร THC เกิน 0.2% อาจทำให้เกิดอาการวิกฤตที่ส่งผลต่อระบบสาธารณสุข และเศรษฐกิจของประเทศได้
ผศ.ภญ.นิยดา กล่าวต่อว่า กัญชา มีสาระสำคัญหลากหลายชนิด เช่น แคนนาบินอยด์ นำมาใช้ในการรักษาหรือบรรเทาอาการปวดของโรค คำแนะนำในการใช้กัญชามาใช้ในทางการแพทย์ ปี 2564 โดยกรมการแพทย์ ระบุว่า กัญชารักษา 6 โรค/ภาวะ 1.ภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด 2.โรคลมชักที่รักษายาก 3.ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง 4.ภาวะปวดประสาท 5.ภาวะเบื่ออาหารในผู้ป่วย AIDS ที่มีน้ำหนักตัวน้อย 6.เพิ่มคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยระยะสุดท้าย และพบหลักฐานเชิงประจักษ์ในการช่วยควบคุมอาการ แต่ไม่ได้รักษาให้โรคหายขาดอีก 4 โรค 1.โรคพาร์กินสัน 2.โรคอัลไซเมอร์ 3.โรควิตกกังวลทั่วไป 4.โรคปลอกประสาทอักเสบ ซึ่งควรใช้ตามแพทย์สั่ง ประกอบกับแจ้งยาที่ใช้ส่วนตัว พร้อมศึกษาค้นหาข้อมูลของผลิตภัณฑ์เพื่อการใช้ที่ถูกต้อง และเฝ้าระวังอาการอย่างใกล้ชิด
“กัญชา มีทั้งประโยชน์และโทษ ข้อมูลที่จำเป็นในการกำกับดูแลกัญชา-กัญชง โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พบผลข้างเคียงของกัญชา เช่น ง่วงนอน เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ตับอักเสบ ผิวผดผื่น อุจจาระร่วง อ่อนเพลีย หงุดหงิดง่าย ซึมเศร้า ก้าวร้าว ขณะนี้ กพย. ร่วมกับ สสส. เร่งการศึกษาเรื่องของกัญชาในระยะยาวในมิติด้านประโยชน์ทางการแพทย์ มิติทางสังคมวัฒนธรรมและวิถีชีวิต และมิติด้านความมั่นคงทางยาและสุขภาพ ให้มีข้อมูลความรู้ให้ประชาชนได้มากขึ้น เพื่อนำไปสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายในการที่จะนำพืชกัญชามาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัยต่อไป”