ย้ำควันบุหรี่ทำเด็กป่วยหลอดลมอักเสบ หอบหืด ติดเชื้อทางเดินหายใจ ปอดบวม จนถึงเสียชีวิต WHO วิเคราะห์ คนไทยตายจากควันบุหรี่มือสอง เกือบหมื่นคนต่อปี วอนห่วงสุขภาพคนในครอบครัว เลิกสูบบุหรี่ในบ้าน
ผศ.ศรัณญา เบญจกุล คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยถึงกรณี ผศ.นพ.สุรัตน์ ตันประเวช คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุผ่านเฟซบุ๊กถึง กรณีผู้ป่วยหญิง อายุ 50 ปี เสียชีวิตด้วยมะเร็งปอด จากการได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้าน มาเป็นเวลานาน 20 ปี จากสามี และคนรอบข้างที่สูบบุหรี่ สิ่งนี้ สอดคล้องกับผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 พบว่า คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ไม่สูบบุหรี่ 3.43 ล้านคน ในจำนวนนี้ได้รับควันบุหรี่ในบ้านตัวเอง แบ่งเป็นเพศชาย 6 แสนกว่าคน เพศหญิง 2.82 ล้านคน
ขณะที่ครัวเรือนที่มีเด็กเล็ก อายุต่ำกว่า 5 ขวบ พบว่า ในทุก 10 ครัวเรือน จะมี 5 ครัวเรือนที่มีคนสูบบุหรี่ ในจำนวนนี้มี 3 ครัวเรือนมีการสูบในบ้าน รวมแล้วมีเด็กไม่ต่ำกว่า 5 ล้านคนเป็นอย่างน้อย ที่ได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้าน แม้ในภาพรวม แนวโน้มการได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้าน จะลดลงจาก 39.9% ในปี 2557 เหลือ 23.7% ในปี 2564
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลโดย Institute for Health Metrics and Evaluation และองค์การอนามัยโลกใช้อ้างอิง พบข้อมูลการเสียชีวิตจากควันบุหรี่มือสองของไทยเท่ากับ 9,433 คนต่อปี และทั่วโลกเสียชีวิตจากควันบุหรี่มือสอง 1.2 ล้านคนต่อปี ขณะที่สหรัฐอเมริกา มีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งปอด จากการได้รับควันบุหรี่มือสองปีละ 7,300 คน ทั้งนี้ ควันบุหรี่มือสอง ประกอบด้วยสารก่อมะเร็งและสารพิษอื่น ๆ เช่นเดียวกับในควันบุหรี่ที่ผู้สูบบุหรี่เองได้รับ
“แม้แนวโน้มการสูบบุหรี่ในบ้านของคนสูบบุหรี่ในไทยจะลดลง แต่ยังอยู่ในอัตราที่สูง ทำให้เกิดการเจ็บป่วยของคนในบ้าน โดยเฉพาะในเด็กเล็กจากหลอดลมอักเสบ การติดเชื้อทางเดินหายใจ ปอดบวมจนถึงเสียชีวิต เป็นหืด อาการหืดกำเริบ ขณะที่ผู้ใหญ่ที่ได้รับควันบุหรี่มือสองระยะยาว โรคที่พบคือมะเร็งปอด โรคเส้นเลือดหัวใจและสมองตีบ ทุกฝ่ายจึงต้องช่วยกันให้ความรู้ผู้สูบบุหรี่และคนใกล้ชิดคนสูบบุหรี่ ถึงพิษภัยของควันบุหรี่มือสอง”
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ
ศ.นพ.ประกิต ย้ำว่า หากคนสูบบุหรี่ ยังเลิกบุหรี่ไม่ได้ ก็ไม่ควรสูบบุหรี่ในบ้าน เพราะนอกจากทำให้คนในบ้านได้รับอันตรายจากควันบุหรี่มือสองแล้ว ยังเพิ่มความเสี่ยงทำให้ลูกหลานในบ้าน กลายเป็นคนสูบบุหรี่ในอนาคต ขณะที่การไม่สูบบุหรี่ในบ้าน จะทำให้ผู้สูบบุหรี่เลิกสูบได้ง่ายขึ้นด้วย