ยื่นข้อเสนอ กทม. จัดสถานพยาบาลรองรับยุติการตั้งครรภ์ปลอดภัย

เครือข่ายสนับสนุนผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม ร่วมกับภาคีกว่า 70 องค์กร ยื่นหนังสือถึง กทม. ตั้งสถานพยาบาลรับการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย พร้อมทั้งชวน กทม.ทำงานแบบมีส่วนร่วม ชี้ แม้กฎหมายผ่าน แต่สถานบริการพยาบาลยังไม่พอ


29 ก.ย 2565  หลังกระทรวงสาธารณสุขประกาศ เรื่อง การตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือกในการยุติการตั้งครรภ์ ตามมาตรา 305 (5) แห่งประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2565 เมื่อวันที่ 26 ก.ย 2565 โดยกำหนดให้หญิงซึ่งมีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ ที่จะยุติการตั้งครรภ์ต้องได้รับการตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือกจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและผู้ประกอบวิชาชีพอื่นก่อน เพื่อให้การตัดสินใจอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่ครบถ้วน รอบด้าน โดยจะมีผลบังคับใช้นับจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาอีก 30 วัน ส่งผลให้  ผู้ให้บริการสุขภาพและสังคมกับผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม แม้ไทย มีความก้าวหน้าเรื่องกฎหมาย แต่ในทางปฏิบัติยังมีข้อจำกัดเรื่องจำนวนหน่วยบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย

เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม ร่วมกับภาคีกว่า 73 องค์กร ยื่นข้อเสนอ ถึง กทม. ขอให้นโยบายเรื่องการมีสถานพยาบาลบริการรับยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย เป็นนโยบายเพิ่มเติม ข้อ 216 ของ ชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมทั้ง สร้างการทำงานแบบมีส่วนร่วม โดยการเชิญภาคีที่ทำงานเกี่ยวข้องเข้าไปหารือร่วมกัน ว่าจะพัฒนาระบบบริการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย และรวมถึงมีบริการให้กับผู้หญิงซึ่งท้องไม่พ้อม แล้วท้องต่อ ในการที่จะให้การเกิดมีคุณภาพ ไม่ได้คิดเฉพาะเรื่องยุติการตั้งครรภ์เท่านั้น เราคิดถึงเรื่องท้องต่อด้วยเป็นงาน 2 ต่อที่จะทำร่วมกัน แนะ กทม.อย่าทำงานเพียงลำพัง ชวนให้คิดร่วมกับภาคี

รศ.กฤตยา อาชวนิจกุล ผู้ประสานงานเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม กล่าวว่า กทม. คือพื้นที่ ๆ มีประชาชนอาศัยอยู่จำนวนมาก และมีตัวเลขของประชาชนที่พุ่งสูงมากกว่าทุกพื้นที่ แต่ตรงกันข้ามไม่มีสถานพยาบาลบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย อย่างไรก็ตาม เชื่อ ว่า กทม.มีศักยภาพเพียงพอที่จะทำเรื่องนี้ได้

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เผยข้อมูล ณ เดือน ส.ค. 2565 ไทยมีสถานบริการที่ให้บริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย จำนวน 110 แห่ง ส่วนใหญ่ให้บริการในอายุครรภ์ต่ำกว่า 12 สัปดาห์ ขณะที่จำนวนผู้ต้องการยุติการตั้งครรภ์ จากข้อมูลสายด่วน 1663 ให้บริการปรึกษาปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อม พบว่า ช่วง 12 เดือน (ก.ย. 2564 – ส.ค. 2565) มีผู้โทรปรึกษาและต้องการยุติการตั้งครรภ์ถึง 30,766 คน ในจำนวนนี้มี 180 คน ที่แจ้งว่า ถูกปฏิเสธการยุติการตั้งครรภ์และไม่ส่งต่อไปยังหน่วยบริการอื่นที่มีความพร้อม ปัญหานี้เปิดช่องว่างให้ยาทำแท้งทางอินเทอร์เน็ต ทำให้ผู้หญิงที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์เสี่ยงได้รับยาปลอม หรือขนาดยาไม่ตรงกับอายุครรภ์ อาจตกเลือด ติดเชื้อในกระแสเลือด หรืออาจเสียชีวิต งานวันนี้ เป็นอีกก้าวสำคัญที่ผู้เกี่ยวข้องได้ร่วมกันขับเคลื่อนการทำงานสำหรับผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม ให้ได้รับสิทธิ บริการทางสุขภาพและสังคมที่ดีขึ้น

พรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ระบุว่า การเข้าถึงการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิด้านสุขภาพที่เกี่ยวกับอนามัยเจริญพันธุ์ซึ่งได้รับการรับรองในอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW)  และกติการะหว่างประเทศด้านสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICCPR) ที่ประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม โดยคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญประจำกติกา ICCPR เห็นว่า การขาดบริการฉุกเฉินด้านสูติกรรมหรือการปฏิเสธการทำแท้งมักนำไปสู่การเสียชีวิตและการเจ็บป่วยของผู้หญิงที่เป็นมารดา ซึ่งถือเป็นการละเมิดต่อสิทธิมนุษยชนในการมีชีวิตและสุขภาพอนามัยที่ดี

อย่างไรก็ดี จากรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนปี 2564 ของ กสม. พบว่าภายหลังจากที่กฎหมายบังคับใช้ ยังมีปัญหาในการให้บริการยุติการตั้งครรภ์หลายประการ เช่น ความล่าช้าในการส่งต่อผู้เข้ารับบริการยุติการตั้งครรภ์ โรงพยาบาลของรัฐจำนวนมากยังไม่พร้อมให้บริการยุติการตั้งครรภ์และไม่ส่งต่อ (Refer) ไปยังสถานบริการอื่นที่พร้อมให้บริการ ซึ่งอาจทำให้อายุครรภ์ของผู้หญิงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และประสบปัญหาการเบิกค่าใช้จ่ายจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นต้น

นอกจากนี้ ในรอบ 6 เดือนแรกของปี 2565 พบว่า ผู้หญิงส่วนใหญ่ยังไม่ทราบข้อมูลแหล่งบริการโรงพยาบาลที่ให้บริการยุติการตั้งครรภ์ ซึ่ง กสม. ได้มีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลให้เร่งรัดการออกกฎหมายลำดับรองเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวและเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจต่อประชาชนเกี่ยวกับกฎหมายและกลไกที่เกี่ยวข้อง 

ทั้งนี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) และ  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) รวมกับภาคีอีกกว่า 60 องคืกร ร่วมจัดกิจกรรมเสวนา พร้อมรณรงค์ภายใต้หัวข้อ ProVoice 9 : Abortion Rights, Health Rights, Human Rights and Democracy ต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 20 – 28 ก.ย. 2565 คาด จะนำข้อมูลและข้อเสนอแนะที่ได้รับฟังจากเวทีในวันนี้ไปประกอบการจัดทำรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนประจำปี 2565 ที่จะเสนอต่อคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา รวมทั้งนำไปสู่การจัดทำรายงานคู่ขนานการปฏิบัติตามอนุสัญญา CEDAW ของประเทศไทยต่อไป 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active