กทม. จับมือ “ร้านยาชุมชนอบอุ่น” ดูแลผู้ป่วยใกล้บ้าน-ลดแออัดโรงพยาบาล

ยกระดับร้านยาเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิ ให้คนกรุงเข้าถึงระบบบริการสาธารณสุขได้ง่ายขึ้น พร้อมเตรียมแนวทางรองรับผู้ได้รับผลกระทบ หลัง สปสช. ยกเลิกสัญญา 9 โรงพยาบาล สั่งสำนักอนามัย ดูแลกลุ่มเปราะบางที่ถูกน้ำท่วม ไม่ให้ขาดยา 

เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2565 ผศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า มีเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิที่เป็นร้านยาขาย ของ สปสช. จะมีสัญลักษณ์ “ร้านยาชุมชนอบอุ่น” หรือ “ร้านยาให้บริการดูแลอาการเจ็บป่วยเบื้องต้น” ติดอยู่หน้าร้าน ให้บริการที่มากกว่าร้านยาทั่วไป โดยมีทั้งการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค การให้คำปรึกษาด้านเภสัชกรรม บริการยาและเวชภัณฑ์ ติดตามดูแลอาการโรคเบื้องต้น (Common illness) ตลอดจนบริการด้านยาและเวชภัณฑ์สำหรับผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ซึ่งประชาชนทุกสิทธิสามารถเข้ามารับบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ผู้ใช้สิทธิบัตรทองยังรับบริการรักษาโรคเบื้องต้นและเวชภัณฑ์สำหรับผู้ป่วยโรคเรื้อรังฟรีอีกด้วย 

โดยผู้ป่วยจะได้รับยาตามแนวทางและมาตรฐานการให้บริการของสภาเภสัชกรรม โดยไม่ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปโรงพยาบาลและครอบคลุมถึงการแจกยาคุมกำเนิดและถุงยางอนามัย โดยในอนาคตจะมีการเชื่อมโยงบริการทางการแพทย์ของ กทม. เข้าด้วยกัน 

ร้านยาชุมชนอบอุ่น

ในส่วนของโรคเบื้องต้น (Common illness) ที่ผู้ใช้สิทธิบัตรทองจะได้รับยาตามแนวทางและมาตรฐานการให้บริการของสภาเภสัชกรรมโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายนั้นจะเป็นโรคพื้นฐานทั่วไป 13 กลุ่มโรค ซึ่งเป็นโรคที่คนคนไข้มักซื้อยาในร้านยาเป็นประจำ เช่น โรคหวัดทั้งแบบติดเชื้อและไม่ติดเชื้อ โรคท้องเสีย โรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ อาการผื่นผิวหนังต่าง ๆ เป็นต้น 

สำหรับขั้นตอนในการรับบริการนั้นแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะคือ 1. คนไข้ติดต่อผ่านไปที่ สปสช. เจ้าหน้าที่จะแนะนำให้ไปรับบริการที่ร้านยาคุณภาพในเครือข่าย ที่อยู่ใกล้บ้าน  2. กรณีวอล์กอินทางเภสัชกรจะทำการคัดกรองว่าเข้าเกณฑ์ที่จะได้รับบริการตามสิทธิบัตรทองหรือไม่ และดำเนินการต่อเป็นลำดับขั้นตอนไป

ร้านยาชุมชนอบอุ่น

“ลองนึกภาพว่า ถ้ามีร้านขายยาที่ได้มาตรฐาน แทรกตัวอยู่ในชุมชนหลัก 3-4 ร้อยแห่ง ที่สามารถทำหน้าที่แทนโรงพยาบาลในเบื้องต้นได้ การที่ประชาชนจะต้องไปถึงศูนย์บริการสาธารณสุขของกรุงเทพมหานคร หรือโรงพยาบาล ก็จะเบาบางลง และจะสามารถให้บริการคนไข้ที่มีอาการมากกว่านั้น มีความซับซ้อนมากกว่านั้นได้ ทุกคนก็จะเข้าถึงระบบได้รวดเร็วทั้งหมด” 

ผศ.ทวิดา กมลเวชช

รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวยังถึง กรณี สปสช. ยกเลิกสัญญาบริการสาธารณสุขในโรงพยาบาลเอกชนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จำนวน 9 แห่งในพื้นที่กรุงเทพฯ นั้น จะใช้ ศอฉ.กทม. ในการติดตามสถานการณ์ดังกล่าวเนื่องจากมีหน่วยงานทางการแพทย์อื่น ๆ ซึ่งเป็นคณะกรรมการรวมอยู่ด้วย โดยใช้องคาพยพนี้ในการดูแลช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างเดือน ต.ค. – ธ.ค. 2565 ซึ่งเป็น 3 เดือนที่ระบบของ กทม. จะมีระบบการให้บริการรองรับเพิ่มขึ้น และสามารถเชื่อมโยงรวมทั้งบริหารจัดการได้ต่อเนื่อง รวมถึงร้านขายยาชุมชนอบอุ่น ก็เป็นส่วนหนึ่งของการรองรับด้วย 

ทั้งนี้ ในที่ประชุมสำนักอนามัยและสำนักการแพทย์ ได้รายงานแนวทางการจัดการเครือข่ายบริการระดับปฐมภูมิ เพื่อเตรียมการรองรับผู้ได้รับผลกระทบกรณีการยกเลิกสัญญาหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 9 โรงพยาบาล ปัจจุบัน สปสช. มีหน่วยบริการที่ร่วมให้บริการคลินิกชุมชนอบอุ่น 3 แห่ง โดย สปสช. และสำนักอนามัยร่วมจัดทำบัญชีเครือข่ายหน่วยบริการให้ประชากรสิทธิว่างเลือกหน่วยบริการปฐมภูมิ ซึ่งประชาชนสามารถเริ่มลงทะเบียนเลือกหน่วยบริการตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป ผ่านช่องทาง ดังนี้ 1. เว็บไซต์ของ สปสช. โดยสามารถสแกน QR code เพื่อดูเครือข่ายหน่วยบริการที่อยู่ในพื้นที่ใกล้บ้าน 2. Call center 1330 และ 3. ลงทะเบียนเชิงรุกไปยังโรงพยาบาลและศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ พร้อมทั้งจัดเครือข่ายหน่วยบริการรับส่งต่อทดแทนให้กับหน่วยบริการปฐมภูมิและหน่วยบริการประจำ ทั้งนี้ สปสช. จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน 

รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ยังได้กำชับถึงสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพฯ กรณีกลุ่มเปราะบางที่พักอาศัยอยู่ในชุมชนที่มีน้ำท่วมขัง ขอให้ผู้อำนวยการเขตมีการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือน และให้คำแนะนำกลุ่มเปราะบางในการออกนอกพื้นที่หรือไปยังศูนย์พักพิง โดยประสานสำนักอนามัยจัดให้มีทีมเชิงรุกนำยาเบื้องต้นไปให้ รวมถึงการรับส่งไปยังศูนย์พักพิง และขอให้ติดตามสถานการณ์สถานการณ์น้ำในพื้นที่อย่างใกล้ชิด

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active