นักวิชาการ ยกกรณีนักฟุตบอลสโมสรดัง เมาขับชนคนตาย จี้ถึงเวลาปรับปรุงกฎหมาย เพิ่มโทษ เพิ่มความรับผิดชอบร่วมคดีเมาแล้วขับ
จากกรณีนักฟุตบอล สโมสรชลบุรีเอฟซี เมาแล้วขับ จนทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต ถูกแจ้งข้อกล่าวหาขับรถโดยประมาท ขับรถขณะเมาสุรา พร้อมตรวจพบว่า ร่างกายมีปริมาณแอลกอฮอล์เกินอยู่ที่ 184 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ซึ่งหลังเกิดเหตุผู้จัดการทีมประกาศลาออก และต้นสังกัดสั่งยกเลิกสัญญานักฟุตบอลคนดังกล่าว
นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ อาจารย์ประจำคณะพยาบาลศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มองว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาซ้ำซากของเมืองไทย หลายครอบครัวต้องตกเป็นเหยื่อคนเมาแล้วขับ ยิ่งเหตุการณ์นี้คนเมาแล้วขับเป็นนักฟุตบอลสโมสรชื่อดัง ซึ่งควรเป็นต้นแบบของการดูแลสุขภาพ และสร้างความปลอดภัยให้กับสังคม
“การตรวจพบแอลกอฮอล์เกินมาตรฐาน ที่ระดับ 100-199 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ถือว่าเป็นระดับแอลกอฮอล์ในเลือดที่สูงมาก เมื่อมาขับรถจึงอันตรายหนักมาก เพราะฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ทำให้ร่างกายตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมช้าลง ระบบกล้ามเนื้อทำงานไม่สัมพันธ์กับอารมณ์ จึงไม่ควรขับรถเด็ดขาด”
ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี ยังเสนอให้นำเหตุการณ์นี้ รวมถึงผลกระทบทางสังคมอีกมากมายจากกรณีเมาแล้วขับที่ปรากฎเป็นข่าวรายวัน มาเป็นส่วนหนึ่งเพื่อทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเมาแล้วขับ และแม้จะมองว่ากรณีที่เกิดขึ้น ไม่เกี่ยวข้องกันโดยตรงกับ ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า แต่ในฐานะที่ทำงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับสุรา อยากชวนมองให้ลึกไปถึงการผลิต และจำหน่าย เพราะท้ายที่สุดแล้วหากกฎหมายเอื้อให้เกิดผู้ผลิต ผู้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นในตลาด ย่อมทำให้การขาย การดื่ม เพิ่มขึ้นจากเดิม ที่สำคัญการเปิดให้ผลิตเพื่อดื่มเองได้ทั่วไปจุดนี้ยิ่งอันตราย
ดังนั้นเห็นว่า สิ่งที่ฝ่ายการเมืองควรขบคิดกันอย่างจริงจัง และควรทำมากกว่าในเวลานี้ คือการผลักดันให้มีกฎหมายการรับผิดชอบร่วมกันระหว่างผู้กระทำผิดและผู้ขาย (Dram shop liability) เหมือนในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น หากมีคดีดื่มแล้วขับ ทุกคนที่อยู่ในรถต้องได้รับโทษเหมือนกันทั้งหมด รวมถึงการควบคุมจุดจำหน่าย การทำให้ผู้ขายต้องผ่านการฝึกอบรม พร้อมเสนอให้พิจารณาเรื่องการเอาผิดทุกคนที่เกี่ยวข้องในคดีดื่มแล้วขับ ตั้งแต่ คนขาย คนดื่ม และคนที่นั่งรถ แต่ยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะการเอาผิด “ผู้ผลิต” ให้มารับผิดชอบความสูญเสีย แต่ถ้ากฎหมายสามารถทำได้ เชื่อว่าจะเป็นกติกาใหม่ที่เปลี่ยนแปลงสังคมไปในทิศทางที่ดีขึ้น
ขณะที่ เจษฎา แย้มสบาย ประธานเหยื่อเมาแล้วขับกรุงเทพฯ ในฐานะของเหยื่อจนต้องพิการนั่งวิลแชร์ ซึ่งปัจจุบันทำหน้าที่ผู้ฝึกสอนฟุตซอลให้กับเยาวชน มองว่า เรื่องกีฬากับอบายมุข รวมถึงสิ่งที่มาทำลายสุขภาพ และทำลายคุณภาพชีวิตของนักกีฬา ต้องแยกให้ขาด ไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวอย่างเด็ดขาด ดังนั้นวินัยของนักกีฬา ในประเด็นนี้จึงสำคัญมาก สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับนักฟุตบอลสโมสรดัง ส่วนตัวมองว่า การออกมารับผิด และร่วมรับผิดชอบของทางสโมสรเป็นเรื่องที่ต้องทำ ในแง่ของกฎหมายก็ต้องดำเนินการให้เด็ดขาด จึงควรถือโอกาสนี้ปรับปรุงกฎ กติกากันครั้งใหญ่ เพื่อหาระบบที่ดีขึ้น และไม่ให้เกิดปัญหาแบบนี้ขึ้นอีก