ผอ.สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กฯ ย้ำผู้ปกครอง อย่าคลาดสายตา ดูแล เฝ้าระวัง เด็ก เยาวชน ใกล้ชิด หวั่นจมน้ำ-เล่นสงกรานต์อันตราย ฝากผู้จัดงานสงกรานต์ อย่าประมาทกิจกรรมเล่นน้ำต้องปลอดภัย พบข้อมูลช่วงปิดเทอม คาบเกี่ยวเทศกาลสงกรานต์ เด็กเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทุกประเภทสูงขึ้น ห่วง เมาขับ-กัญชาเสรี ปัจจัยเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนน
วันนี้ (13 เม.ย.66) รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผอ.สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยกับ The Active ว่า ปกติในช่วงปิดเทอม มีเด็กเสียชีวิตจากอุบัติเหตุสูงสุดอยู่แล้ว และหากลงรายละเอียดดูข้อมูลทั้ง 12 เดือน พบว่าในช่วงเดือนเมษายน เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี มีอัตราเสียชีวิตต่อแสนประชากรสูงสุด รองลงมา คือ เดือนมีนาคม, พฤษภาคม และตุลาคม ชัดเจนว่า ล้วนอยู่ในช่วงปิดเทอม นี่จึงถือเป็นช่วงอันตราย
ขณะเดียวกันพบว่า ช่วงที่อันตรายสูงสุดคือ ช่วง 7 วัน ที่คล่อมวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ ถือว่าเกิดอุบัติเหตุสูงสุดซ้ำ ๆ ทุกปี แม้ในช่วงโควิด สถิติจะลดลง เนื่องจากต้องหยุดอยู่บ้าน รักษาระยะห่าง ทำให้การจำกัดพื้นที่ไม่ให้เด็กออกจากบ้าน งดเทศกาล มีผลทำให้อุบัติเหตุลดลง
แต่สำหรับปีนี้เข้าสู่สถานการณ์ปกติ หลายพื้นที่ประกาศจัดงานสงกรานต์กันอย่างเต็มที่ จึงเป็นเรื่องที่พ่อแม่ ผู้ปกครองต้องเฝ้าระวังดูแลบุตรหลาน
“จากสถิติ เด็กต่ำกว่า 15 ปี จะเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ ปีละประมาณ 2,000-2,200 คนต่อปี เฉลี่ยวันละประมาณ 6-7 คน ช่วงสงกรานต์ 7 วันอันตราย ยอดจะขึ้นไปเป็น 2 เท่าตัว เสียชีวิตรวมราว ๆ 80-100 คน จากอุบัติเหตุทุกชนิดรวมกัน“
รศ.นพ. อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์
ผอ.สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ยังบอกด้วยว่า สาเหตุการตายของเด็ก และเยาวชน อันดับ 1 มาจากการจมน้ำ ยิ่งในช่วงอากาศร้อน ยิ่งทำให้เด็ก ๆ อยากเข้าใกล้น้ำมากขึ้น และในช่วงวันสงกรานต์ ก็ชวนกันไปเล่นน้ำ สาดน้ำกันในแหล่งน้ำ หรือไปนำน้ำจากแหล่งน้ำขึ้นมาเล่นสาดกัน สิ่งนี้คือสาเหตุที่ทำให้เด็กเข้าใกล้แหล่งน้ำ และหากไม่ระมัดระวัง ผู้ปกครองไม่จับตา ดูแลอย่างใกล้ชิด อาจเกิดเรื่องเศร้าขึ้นกับบุตรหลานก็ได้
รองลงมา คือ อุบัติเหตุจากการเดินทางบนท้องถนน หรือการเดินทางในหมู่บ้าน รวมไปถึงการเดินทางออกไปเล่นน้ำในช่วงสงกรานต์ โดยพบว่าเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี หรือแม้แต่ในกลุ่มอายุ 15-18 ปี เสียชีวิตจากการขับขี่ ซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์
สำหรับสาเหตุการเสียชีวิต อันดับ 3 มาจากการเล่นน้ำในพื้นที่จัดโซนนิ่งเล่นสงกรานต์ แม้เป็นเรื่องดี ทำให้ไม่ต้องตระเวนขับขี่รถเล่นสงกรานต์ แต่กลับพบเด็กเสียชีวิตจากการถูกไฟฟ้าดูด สะท้อนว่า ผู้จัดงานประมาท ไม่ดูแลเฝ้าระวังที่ดีพอ
นอกจากนั้นยังมีเรื่องปัจจัยจากความรุนแรงเกิดขึ้นในระหว่างการเล่นสงกรานต์ และการทะเลาะเบาะแว้ง ใช้ความรุนแรงเป็นเหตุให้เกิดการเสียชีวิต
“เมื่อดูการบาดเจ็บ ก็มาจากรูปแบบการเล่นสงกรานต์ค่อนข้างเยอะ เช่น การใช้วัสดุอุปกรณ์ผิดประเภท ที่ก่อให้เปิดความระคายเคือง หรือใช้อุปกรณ์เล่นน้ำแรงดันน้ำสูงทั้งหลาย และวัตถุอื่น ๆ ที่ไม่เหมาะสมกับการเล่นน้ำ เอามาผสมลงไป ก็ก่อให้เกิดการบาดเจ็บ และยังรวมไปถึงการใช้พุดอกไม้ไฟประทัด ประกอบการจัดงาน ซึ่งเป็นวัตถุระเบิดส่งผลต่อเด็ก ๆ ที่จะออกไปเล่นน้ำกัน”
รศ.นพ. อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์
แนะ ผู้ปกครอง ผู้จัดงานสงกรานต์ เฝ้าระวังความปลอดภัย ห่วงเด็กตายเพิ่มขึ้น
ผอ.สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว แนะนำผู้ปกครองและผู้จัดงานในพื้นที่โซนนิ่งต่าง ๆ แม้ว่าจะกำหนดพื้นที่เล่นน้ำไว้ชัดเจน แต่หากพื้นที่ที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำ ต้องจัดการเฝ้าดูแล มีป้ายเตือนพ่อแม่ ผู้ปกครอง เตือนเด็ก ๆ ให้รู้จุดเสี่ยง ที่สำคัญต้อง เตรียมพร้อมอุปกรณ์ช่วยชีวิต และหากจำเป็นต้องเดินทางทางน้ำ นั่งเรือ ลอยแพ ต้องมีอุปกรณ์ชูชีพ สำหรับป้องกันการจมน้ำ
ที่น่าห่วง คือ การอลุ่มอล่วยให้นั่งกระบะเล่นน้ำได้ แต่ความเป็นจริง คือส่วนกระบะไม่ได้ออกแบบมาสำหรับการโดยสาร เพราะฉะนั้นการขึ้นไปโดยสารกระบะ ก็กลายเป็นความเสี่ยงแล้ว และหากขับรถด้วยความเร็วสาดน้ำกัน อาจเกิดความผิดพลาด เกิดอุบัติเหตุได้
“อุบัติเหตุการเดินทาง มักมาจากสาเหตุ ของความเมา ดังนั้นด่านตรวจ ก็ควรเข้มงวดเรื่องนี้มากเป็นพิเศษ เพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยง หรือ แม้แต่กัญชาที่รัฐปล่อยให้เสรี ก็จะเป็นอีกเหตุผลของอุบัติเหตุได้เช่นกัน“
รศ.นพ. อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์
สำหรับพื้นที่โซนนิ่งจัดกิจกรรมสงกรานต์ อยากให้ตรวจอุปกรณ์การเล่นน้ำ ที่ต้องไม่ใส่สีผสม หรือการผสมแป้ง ที่อาจเป็นสารกัดกล่อนเป็นกรดด่างที่มีความรุนแรง ไปจนถึงสิ่งที่เป็นวัตถุระเบิด อย่างประทัด ดอกไม้ไฟ ไม่มีความจำเป็นต้องมาเล่น
ที่สำคัญ คือ การเดินสายไฟฟ้า การยิงโฟม การทำน้ำพ่นเพื่อความสวยงาม สิ่งนี้ต้องระวัง เพราะมีผู้ได้รับอันตรายจากไฟฟ้าดูดทุกปี จึงต้องมีระบบการตัดไฟอัตโนมัติ ไม่ให้เกิดการรั่วไหล
ขณะที่ปืนฉีดน้ำ ต้องเลือกใช้ตัวแรงดันต่ำ โดยให้สังเกตุว่า ถ้ามีแรงยิงพุ่งไกลเกิน 10 เมตร ถือว่าอันตรายแน่ เพราะหากนำมาฉีดน้ำในระยะใกล้ จะส่งผลอัตรายต่อลูกตา จึงต้องเลือกให้เหมาะสมเพื่อความปลอดภัย