หวังลูกหลาน สืบสานวัฒนธรรม ภูมิปัญญา ชู พิธี ‘แปงขวัญ บูชาครู’ ช่วยสร้างขวัญกำลังใจ ก้าวพ้นอุปสรรค หลังพี่น้องไทดำ บ้านทรัพย์ทวี ลุกขึ้นเรียกร้องสิทธิจากรัฐประกาศขับไล่ออกจากที่ดิน ทำกิน พร้อมเดินหน้าปกป้องบ้านเกิด ในฐานะผู้บุกเบิก ไม่ใช่ผู้บุกรุก หวังผลการแก้ไขปัญหาในชั้นอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินสาธารณะประโยชน์ฯ 23 เม.ย.นี้
วันนี้ (15 เม.ย. 68) ในงานประเพณีสงกรานต์ และสืบสานวัฒนธรรมไทดำ ณ ศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาไทดำวัดดอนมะลิ ต.ท่าข้าม อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี กิจกรรมดังกล่าวสะท้อนถึงอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ไทดำ โดยเฉพาะพิธีกรรมสำคัญ คือ “พิธีแปงขวัญ บูชาครู”
ภัสรา รู้พันธ์ ผู้ประสานงานกลุ่มเยาวชนสืบสานภูมิปัญญาไทยดำบ้านดอนมะลิ อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี บอกว่า งานประเพณีนี้จัดขึ้นต่อเนื่องมา 15 ปีแล้ว เพื่อเป็นส่งเสริมวิถีวัฒนธรรม ภูมิปัญญาชาวไทดำให้ลูกหลานสืบทอดรักษา ปีนี้มีความพิเศษเพราะเป็นการอาจาริยบูชาครูด้วย มีพิธีสำคัญคือ “พิธีแปงขวัญ บูชาครู” ซึ่งเป็นพิธีดั้งเดิม โดยการ “แปงขวัญ” ก็คือการ “เรียกขวัญ” ให้ขวัญที่ตกหล่นหายจากการเจอโรค เจอภัย เจอสิ่งไม่ดีที่ผ่านมาในชีวิตลูกหลาน ให้กลับมาอยู่ในเนื้อในตัว และได้ทำหน้าที่ในการดำเนินชีวิตให้เป็นปกติสุขต่อไป

รวมทั้งพี่น้องชาวไทดำ บ้านทรัพย์ทวี ที่เพิ่งได้ออกไปเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิ จากการถูกขับไล่โดยนายอำเภอบ้านนาเดิม ให้ออกจากที่ดินทำกินที่อยู่อาศัยที่ตั้งรกรากมาอย่างยาวนาน ภายหลังรัฐออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง หรือ น.ส.ล.ทับที่ชุมชนดั้งเดิม
“แม้ตอนนี้ได้มีการชะลอการไล่รื้อ แต่พี่น้องชาวไทดำก็ได้ไปเจอและเผชิญกับความทุกข์ยาก ดังนั้นพิธีนี้ จึงเพื่อเป็นการเรียกขวัญเสริมกำลังใจ ให้จิตวิญญานบรรพบุรุษได้ให้พลัง สร้างศรัทธาในการที่จะมีแรง มีกำลังใจในการต่อสู้ขับเคลื่อนเดินหน้าแก้ไขปัญหานี้ต่อไปด้วย”
ภัสรา รู้พันธ์
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง : อำเภอถอนแล้ว “ป้ายขับไล่ชุมชนไทดำ” อ.บ้านนาเดิม จ.สุราษฎร์ธานี

ทั้งนี้พิธีดังกล่าว ได้จัดปานเผือน หรือ พานสำรับเครื่องเซ่นไหว้ เพื่อส่งให้กับครูหมอ องค์หมอในนั้น โดยครั้งนี้เป็นพิธีใหญ่ จะใช้หัวหมู เครื่องเคียงหลากหลาย ทั้ง ขนม ผลไม้ที่เป็นมงคลอย่าง ข้าวต้มมัด เผือก อ้อย มัน กล้วย สับปะรด ส้มโอ เพื่อส่งมอบให้กับองค์หมอที่ทำพิธี หลังจากนั้นองค์หมอก็จะทำพิธี โดยการเรียกขวัญ ที่หลงตกหล่น 32 ขวัญ เพื่อให้กลับมาครบ 32 ขวัญของชีวิต
“โดยจะให้พร ต่อตัวแทนชาวไทยดำ ที่จะไปประชุมคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินสาธารณะประโยชน์ ที่ดินเอกชนปล่อยทิ้งร้าง และปัญหาที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทย ในวันที่ 23 เม.ย.ที่จะถึงนี้ด้วย เป็นการปลุกจิตวิญญานลูกหลานคนไทดำ ให้บรรพบุรุษคุ้มครองปกป้อง ให้ดำเนินการในสิ่งที่คิดหวังให้สมความปรารถนา เหมือนกับการรวมจิตรวมใจพี่น้อง ว่าเราจะเดินทางในไม่กี่วันข้างหน้าจะได้มีกำลังใจ เข้มแข็งในการที่จะอดทน ต่อสู้เพื่อกอบกู้แผ่นดินแม่ แผ่นดินเกิด แผ่นดินตายของพวกเรา”
ภัสรา รู้พันธ์
งานและพิธีกรรมต่าง ๆ ที่จัดขึ้นนี้ ยังเป็นสิ่ง ยืนยันว่า ชาวไทดำได้มีการตั้งถิ่นฐานมายาวนาน เป็นการแสดงออกในการรักษาอัตลักษณ์ รวมถึงระบบการศึกษารวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบมากที่สุดกลุ่มหนึ่งในประเทศไทย แสดงถึงความเชื่อ วิถี วัฒนธรรม ภูมิปัญญา การรักษาอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ไทดำให้คงไว้

“ไม่ใช่แค่ลูกหลานชาวไทดำมาเที่ยวงาน แต่เป็นชุมชนโดยรอบด้วย เป็นการส่งต่อองค์ความรู้ชาติพันธุ์ไทดำ พอมีการเผยแพร่สื่อสารออกไป ตัวอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ที่มีความเด่นชัดทำให้เห็นถึงความงดงาม ความร่วมไม้ร่วมมือ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การส่งมิตรไมตรีให้กับชุมชนใกล้เคียง ซึ่งเราทำตลอด ไม่ใช่แต่เฉพาะในชุมชนไทดำเท่านั้น มีกิจกรรม มีงานที่ไหน พี่น้องไทดำ ก็จะไปร่วมกิจกรรม เอาข้าวปลาอาหาร เอาปัจจัยไปร่วมไปช่วย เราไม่ได้แบ่งแยกว่าไทดำ หรือ ชุมชนอื่น ๆ เพราะเราถือว่าการมาอยู่ในผืนแผ่นดินด้วยกัน เราก็เป็นพี่น้องกัน เพียงแต่เรามีอัตลักษณ์ที่ชัดเจน”
ภัสรา รู้พันธ์
ตัวแทนชาวไทดำ ตำบลทรัพย์ทวี ยังยืนยันว่า มีการตั้งถิ่นฐาน เป็นชุมชนดั้งเดิมอยู่กันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ตั้งแต่ปี 2496 ปัจจุบันมี 135 ครอบครัว ยืนยันว่าไม่ใช่ผู้บุกรุก เพราะมีหลักฐานการมาอยู่อาศัยอย่างชัดเจน ทั้งการออกทะเบียนบ้าน, ภาษีบำรุงท้องที่ หรือ ภาษีดอกหญ้า (ภ.บ.ท.5) และบัตรประชาชน ยืนยันชาวบ้าน คือ ผู้บุกเบิก ไม่ใช่ผู้บุกรุก
ชาวไทดำมีระเบียบแบบแผนของการเป็นชุมชนที่มีส่วนร่วมหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการประกอบอาชีพ การรักษาวัฒนธรรม การพัฒนาเรื่องอาชีพ วิสาหกิจชุมชน รวมถึงเรื่องของการได้ไปสัมพันธ์พี่น้องชุมชนใกล้เคียง ก็จะเห็นว่าเราทำรอบด้าน การดูแลสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศครบทุกเรื่อง