คิกออฟ จ.ร้อยเอ็ด บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ 7 ม.ค.นี้

“หมอชลน่าน” เผยความพร้อม เชื่อมระบบสุขภาพ กับหน่วยบริการทุกสังกัดครบ 100% ขณะที่ บอร์ด สปสช. ทุ่ม 366 ล้านบาท หนุนขับเคลื่อนพื้นที่นำร่อง 4 จังหวัด

เมื่อวันที่ 3 ม.ค.67 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยความคืบหน้ากรณีนำร่อง “บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่”​ 4 จังหวัด ประกอบด้วย จ.ร้อยเอ็ด, แพร่, เพชรบุรี และ นราธิวาส โดยระบุว่า ในส่วน จ.เพชรบุรี ได้เชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพเป็นระบบเดียวกันแล้ว มีการยืนยันตัวตน Provider ID ของบุคลากรทางการแพทย์ 4 สาขาหลักที่ให้บริการ คือ แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร และเทคนิคการแพทย์ 85.45% 

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

โรงพยาบาลอัจฉริยะทุกแห่งผ่านเกณฑ์ความปลอดภัยทางไซเบอร์ ทุกโรงพยาบาลสามารถให้บริการประวัติสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์, นัดหมายออนไลน์, บริการการแพทย์และเภสัชกรรมทางไกล,ใบรับรองแพทย์ดิจิทัล, ใบสั่งยา/สั่งแล็บ, ส่งยาทางไปรษณีย์, จ่ายเงินออนไลน์ รวมทั้งสื่อสารกับประชาชนผ่าน Line OA, Application และ Call Center ซึ่งมั่นใจว่า ประชาชนจะเข้าถึงบริการได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ไร้รอยต่อ ลดเวลารอคอย และพร้อมที่จะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ พร้อมกับร้อยเอ็ด แพร่ และนราธิวาส ในวันที่ 7 มกราคม นี้ แน่นอน

ทั้งนี้ จ.เพชรบุรี มีหน่วยบริการเข้าร่วมโครงการสังกัดต่างๆ ดังนี้  

  • หน่วยบริการสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 120 แห่ง

  • อปท.(รพ.สต.) 5 แห่ง

  • ศูนย์บริการสาธารณสุขสังกัดเทศบาล 4 แห่ง

  • สถานีกาชาด 1 แห่ง

  • รพ.ค่ายรามราชนิเวศน์ สังกัดกระทรวงกลาโหม 1 แห่ง

  • รพ.เอกชน 2 แห่ง

  • ร้านยา/แล็บ 46 แห่ง

  • คลินิกเวชกรรม 38 แห่ง

  • คลินิกทันตกรรม 2 แห่ง 

มีประชาชนลงทะเบียนยืนยันตัวตน Health ID ผ่านแอปพลิเคชันหมอพร้อมแล้ว 218,444 คน หรือ 50.46% และยังเปิดให้ยืนยันตัวตนต่อเนื่องที่โรงพยาบาลรัฐทุกแห่ง โรงพยาบาลเอกชน ศูนย์บริการสาธารณสุขเทศบาล และ รพ.สต.ทุกแห่ง

ส่วนที่ จ.ร้อยเอ็ด ถือว่า มีความพร้อม 100% ในการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพในหน่วยบริการทุกระดับเป็นระบบเดียวทั้งจังหวัดเช่นกัน รวมถึงระบบ Provider ID ของบุคลาการทางการแพทย์ ให้สามารถออกประวัติสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ ออกใบรับรองแพทย์ดิจิทัล ใบสั่งยา/สั่งแล็บออนไลน์ ให้บริการการแพทย์ทางไกล เภสัชกรรมทางไกล นัดหมายออนไลน์ได้ 

หน่วยบริการในจังหวัดร้อยเอ็ดที่เข้าร่วมโครงการ ประกอบด้วย 

  • หน่วยบริการสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 20 แห่ง

  • อปท. (รพ.สต.) 229 แห่ง

  • ศูนย์บริการเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด 2 แห่ง

  • รพ.ค่ายสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สังกัดกระทรวงกลาโหม 1 แห่ง

  • รพ.เอกชน 1 แห่ง 

  • ร้านยา/LAB 187 แห่ง

  • คลินิกเวชกรรม 184 แห่ง

  • คลินิกทันตกรรม 54 แห่ง 

ส่วนประชาชนผู้รับบริการได้ลงทะเบียนยืนยันตัวตน Health ID ผ่านแอปพลิเคชันหมอพร้อมแล้ว 552,697 คน คิดเป็น 69.06% และยังเปิดยืนยันตัวตนได้ต่อเนื่องที่โรงพยาบาลรัฐทุกแห่ง โรงพยาบาลเอกชน ศูนย์บริการสาธารณสุขเทศบาล รพ.สต.ทุกแห่ง 

สปสช. ทุ่ม 366 ล้านบาท หนุน “บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่”

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า บอร์ด สปสช. เห็นชอบข้อเสนอการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล 30 บาทอัปเกรด บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ 4 จังหวัดนำร่อง รวมกรอบวงเงินดำเนินการทั้งหมด 366.57 ล้านบาทโดยพัฒนาระบบการบริหารการจ่าย การติดตามประเมินผลให้มีประสิทธิภาพ โดยมีรายละเอียด คือ 

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

1. คงรายการและรูปแบบการจ่ายแบบเดิม สำหรับรายการปฐมภูมิไปที่ไหนก็ได้ (OP anywhere) และหน่วยนวัตกรรม โดยมีการปรับระบบการเบิกจ่ายในพื้นที่นำร่อง 4 จังหวัด ใช้ระบบแสดงตนยืนยันสิทธิเมื่อสิ้นสุดการรับบริการเช่นเดียวกับสวัสดิการข้าราชการ เพื่อความมั่นใจการเข้ารับบริการของประชาชนและให้เบิกจ่ายรวดเร็ว 

2. เน้นการจัดระบบเพื่อควบคุมการบริหารการเบิกจ่ายให้มีประสิทธิภาพ ในหน่วยบริการและรายการบริการที่มีอยู่ เช่น คลินิกเอกชน, คลินิกการพยาบาลฯ, ค่าบริการไตวายเรื้องรัง, ค่าอุปกรณ์ (Instrument), ปฐมภูมิไปที่ไหนก็ได้, เจ็บป่วยฉุกเฉินข้ามจังหวัด (OPAE) โดยพิจารณาการออกแบบการจ่ายให้มีประสิทธิภาพ และเอื้อต่อการตรวจสอบ

3. เพิ่มการทำงานแบบมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน ทำงานร่วมสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) หน่วยบริการ และ สปสช.เขต โดยให้ สสจ. และ สสอ. มีบทบาทเป็นหน่วยกำกับดูแล เพื่อจัดกลไกการกำกับการเข้าถึงบริการ คุณภาพและมาตรฐานบริการ การประเมินผลและตรวจสอบการเบิกจ่ายค่าชดเชยบริการของหน่วยบริการในพื้นที่

พร้อมทั้งอนุมัติขยายประเภทบริการนวัตกรรมเป็น 8 ประเภท จากเดิมที่มี ร้านยาที่ให้บริการดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย, คลินิกการพยาบาลฯ ให้บริการทำแผล ตรวจรักษาโรคเบื้องต้น การพยาบาลพื้นฐานและการบริหารยาตามแผนการรักษาของหน่วยบริการประจำ การพยาบาลที่บ้าน, คลินิกเทคนิคการแพทย์ บริการเจาะเลือดที่บ้าน และคลินิกกายภาพบำบัด บริการฟื้นฟูผู้ป่วยระยะกลาง 4 กลุ่มโรค 

โดยจะเพิ่มเติมหน่วยบริการอีก 4 ประเภท คือ 1.คลินิกเวชกรรม ให้บริการตรวจรักษาโรคเฉียบพลัน (Acute) หรือโรคเรื้อรัง (Chronic) ใน 42 กลุ่มโรค 2. คลินิกทันตกรรม ให้บริการขูด อุด ถอน เคลือบหลุ่มร่องฟัน และเคลือบฟลูออไรด์ 3. รถทันตกรรมเคลื่อนที่ ให้บริการขูด อุด ถอน เคลือบหลุมร่องฟัน และเคลือบฟลูออไรด์ แก่กลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้ต้องขังและเด็กในสถานพินิจ และ 4. คลินิกแพทย์แผนไทย ให้บริการ นวด ประคบ อบสมุนไพร เพื่อการรักษา

นอกจากนี้เพื่อให้มีการกำกับติดตามประเมินผลในพื้นที่ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมใน 4 จังหวัดนำร่อง สปสช. จึงได้มีการจัดสรรงบประมาณสำหรับบริหารจัดการ ให้กับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) เพื่อกำกับติดตามการขับเคลื่อนนโยบายการใช้บัตรประชาชนใบเดียวไปได้ทุกที่อีก 3.65 ล้านบาท ซึ่งรวมอยู่ในกรอบงบประมาณจำนวนดังกล่าวนี้ด้วย

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active