‘บอร์ดเหล้า’ เบรคขยายเวลาขาย สั่งศึกษาให้รอบคอบ

ชี้ยังขาดข้อมูลเชิงสถิติด้านผลกระทบทั้งมิติสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจ พร้อมให้ศึกษาความเป็นไปได้จัดตั้งกองทุนบำบัดรักษา ฟื้นฟู ผู้ติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่ากระทรวงสาธารณสุข

เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 67 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่ากระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ครั้งที่ 1/2567 ว่า ที่ประชุมร่วมกันพิจารณาเรื่องการขยายเวลาจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อสนับสนุนการกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ โดยได้นำข้อเสนอจากที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เมื่อวันที่ 15 ก.พ.ที่ผ่านมา มาประกอบการพิจารณา โดยเห็นว่า 

  1. ปัจจุบันมีกฎหมายที่กำหนดเกี่ยวกับเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สำหรับร้านอาหารทั่วไป ได้แก่ ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 253 และกฎกระทรวงที่ออกตามความในประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าว ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดเวลาห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2558 ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 และต้องคำนึงถึง พระราชบัญญัติสถานบริการ 2509 ซึ่งถ้าจะมีการเปลี่ยนแปลงเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต้องปรับแก้กฎหมายเหล่านี้และต้องคำนึงถึงเวลาเปิดปิด ตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการและการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว

  2. ในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ ยังไม่มีข้อมูลทางสถิติที่ชัดเจน สมควรศึกษาข้อมูลแล้วนำมาเปรียบเทียบกับข้อมูลของจังหวัดนำร่อง เพื่อนำมากำหนดเวลาที่จะขยาย เพื่อความละเอียดรอบคอบ 

ที่ประชุมได้มีมติให้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อไปทำการศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดกรอบระยะเวลาในการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารทั่วไปอย่างรอบคอบรอบด้าน ทั้งนี้ไม่ได้กำหนดกรอบระยะเวลาในการศึกษาข้อมูล 

“แต่เนื่องจากเป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจของสังคมก็จะเร่งรัดให้เร็วที่สุดโดยคำนึงถึงข้อมูลที่เพียงพอสำหรับประกอบการพิจารณา” 

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว

รมว.กระทรวงสาธารณสุข บอกด้วยว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบให้มีการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งกองทุนเพื่อการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสภาพผู้ติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วย

ย้ำขยายเวลาขายเหล้ามีแต่ความเสี่ยง

ด้าน นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์และสาธารณสุขในคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บอกว่า รัฐบาลไม่ควรสนับสนุนการขยายเวลาขายแอลกอฮอล์ให้กับร้านอาหารเพิ่มเติมอีก เพราะจะมีผลทำให้คนเสียชีวิตเพิ่มอีก 5-10 เท่า หรือประมาณ 500 – 1,000 คน ซึ่งในจำนวนนี้ไม่เพียงเฉพาะคนที่ดื่มเท่านั้น แต่อาจมีถึง 1 ใน 4 ที่เป็นชาวบ้านธรรมดา คนทำมาหากิน แม้กระทั่งตำรวจที่ปฏิบัติหน้า ต้องเสียชีวิตเพราะถูกคนเมาขับรถชน ยังไม่นับรวมที่พิการอีกจำนวนมาก

“รัฐบาลสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวได้โดยไม่ส่งเสริมการดื่มแอลกอฮอล์ เพราะการวิจัยต่างสอดคล้องกันว่าการดื่มแอลกอฮอล์แม้ไม่ถึงระดับมึนเมาแต่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น ทำลายทรัพยากรบุคคลที่ควรสร้างเศรษฐกิจให้ประเทศ เกิดการทะเลาะวิวาทเป็นคดีความเพิ่มขึ้น ความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้น และเกิดหนี้สินครัวเรือนมากขึ้น”

นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์
ชูวิทย์ จันทรส ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์

ชี้ยอดตาย ‘เมาแล้วขับ’ เพิ่มขึ้นในจังหวัดนำร่อง

ขณะที่ ชูวิทย์ จันทรส ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ มองว่า ท่าทีของกรรมการนโยบายฯ เป็นไปตามเจตนารมย์ของกฎหมายในการควบคุมเครื่งดื่มแอลกฮอล์ การดูแลสุขภาพของประชาชน ลดผลกระทบนักดื่มหน้าใหม่ แต่หลังจากนี้มติจะเป็นอย่างไรต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

ส่วนประเด็นที่เครือข่ายฯ เสนอมาตลอด คือ ให้รัฐบาลทบทวนเรื่องนี้ เพราะเห็นว่าความสูญเสียจากการเมาแล้วขับจะเป็นปัญหาตามมา ซึ่งตลอด 2 เดือนที่มีการเก็บข้อมูล เครือข่ายฯ ยืนยันตัวเลขพบสถิติคนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเมาแล้วขับเพิ่มขึ้น เฉลี่ยร้อยละ 30 ใน 4 จังหวัด นำร่อง ได้แก่ กรุงเทพฯ, ชลบุรี, ภูเก็ต และ เชียงใหม่ ส่วนเรื่องเศรษฐกิจ ยังคงต้องรออีก 3 เดือน ถึงจะสามารถประเมินได้ เครือข่ายฯ ยังคงยืนยันเสนอให้รัฐบาลต้องเตรียมมาตรการทางกฎหมายรองรับนโยบายนี้ และประเมินความสูญเสียกับตัวเลขทางเศรษฐกิจ แต่ทุกวันนี้ยังไม่มีการประเมินเรื่องดังกล่าว

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active