เผยผลสำรวจ พบ เด็กประถมฯ เคยลองสูบ 43% ตกเป็นเหยื่อกลิ่นหอม รูปลักษณ์สวย อันตรายทั้งปอด หัวใจ หลอดเลือด สมอง เสี่ยงมะเร็ง ดักคอคนผลักดันถูกกฎหมาย มีแต่บริษัทบุหรี่ได้ประโยชน์ ส่วนคนไทยมีแต่สูญเสีย จำเป็นต้องเข้มห้ามขาย ห้ามนำเข้า
เมื่อวันที่ 27 ก.พ. 67 สถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ร่วมภาคีเครือข่าย จัดเสวนา บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย ‘ใครได้ใครเสีย เพื่อส่งเสียงถึงผู้กำหนดนโยบายให้คำนึงถึงข้อเท็จจริงรอบด้านในการพิจารณากฎหมายบุหรี่ไฟฟ้าของประเทศไทย
รศ.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์การระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กไทยเข้าขั้นวิกฤต เด็กเริ่มสูบบุหรี่ไฟฟ้าตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา
จากการสำรวจในโรงเรียนประถมศึกษาแห่งหนึ่งในภาคกลาง พบว่า เด็กประถมฯ ปลายเคยลองสูบบุหรี่ไฟฟ้าถึง 43% และที่น่าตกใจ คือ พบนักเรียนหญิงสูบมากกว่าชาย ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยพบมาก่อน ซึ่งการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าหนักขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เนื่องมาจากบริษัทบุหรี่ผลิตบุหรี่ไฟฟ้าหรือพอดแบบใช้แล้วทิ้ง และยังออกแบบให้ พกพาง่าย รูปร่างสวยงาม มีกลิ่นหอม ซ้ำยังมีการโฆษณาผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียเพื่อดึงดูดใจ ทำให้เด็กเข้าใจผิดว่าไม่อันตราย ทั้งที่มีงานวิจัยออกมาเปิดเผยอย่างชัดเจนว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายต่อสุขภาพ อันตรายต่อปอด หัวใจ หลอดเลือด สมอง และเสี่ยงต่อโรคมะเร็ง
“งานวิจัยล่าสุดปี 67 ที่เพิ่งตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ชั้นนำอย่าง The New England Journal of Medicine ปรากฏชัดเจนว่า กลุ่มที่ได้รับบุหรี่ไฟฟ้าเพื่อช่วยเลิกบุหรี่ จะติดทั้งบุหรี่ธรรมดาและบุหรี่ไฟฟ้าเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าถึง 6 เท่า ซึ่งการสูบบุหรี่ทั้งสองอย่างจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพมากกว่าการสูบอย่างใดอย่างหนึ่ง นอกจากนี้งานวิจัยยังระบุว่า กลุ่มที่ไม่ได้ใช้บุหรี่ไฟฟ้ามีแนวโน้มที่จะเลิกเสพติดนิโคตินได้มากกว่ากลุ่มที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าถึง 1.7 เท่า ทั้งนี้ บริษัทบุหรี่และเครือข่ายที่สนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้ามักอ้างว่า บุหรี่ไฟฟ้าจะช่วยให้คนสูบบุหรี่เลิกบุหรี่ได้ แต่ไม่เปิดเผยข้อเท็จจริงที่ว่า ผู้ที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อเลิกบุหรี่มักจะเสพติดทั้งบุหรี่ธรรมดาและบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งอันตรายสูงกว่าและเสี่ยงต่อการเสพติดนิโคตินระยะยาว”
รศ.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช
เชื่อปล่อยผีบุหรี่ไฟฟ้าได้ไม่คุ้มเสีย
รศ.สุชาดา ตั้งทางธรรม นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ กรรมการสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย บอกว่า บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าต้องห้ามในประเทศไทยเช่นเดียวกับอีก 30 กว่าประเทศทั่วโลก และมีประเทศต่าง ๆ ประกาศห้ามเพิ่มขึ้น แต่กลับมีคนกลุ่มหนึ่งที่พยายามผลักดันจะให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย ซึ่งหากบุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมายผู้ได้ประโยชน์ก็คือบริษัทบุหรี่ ขณะที่ผู้ได้รับผลกระทบ คือ คนกลุ่มใหญ่ที่กำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า ทั้งผู้ปกครอง ครู และเด็กที่อาจสูบมากขึ้น รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ที่พบปัญหาผู้ป่วยจากบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ประเทศชาติสูญเสียทรัพยากรที่มีค่าที่สุดคือเด็ก จึงน่าเป็นห่วงอย่างยิ่งหากปล่อยให้บุหรี่ไฟห้าถูกกฎหมาย
รศ.สุชาดา ยังระบุว่า ธนาคารโลกได้ศึกษา พบว่า บุหรี่ก่อผลได้ไม่คุ้มเสีย ดังนั้นรัฐบาลควรคำนึงถึงสุขภาพของประชาชนมากกว่าจะมุ่งหารายได้จากยาสูบ
เช่นเดียวกับ Amartya Sen นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ที่ระบุว่า มีนักวิชาการที่ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทบุหรี่ จึงชี้แนะว่า จำเป็นต้องตรวจสอบงานที่นำเสนออย่างเที่ยงตรง ดังนั้นหากกระทรวงการคลังคิดจะหารายได้จากภาษีบุหรี่ไฟฟ้า ก็ควรศึกษาและบอกให้สังคมรับรู้และตรวจสอบได้ว่าจะเกิดประโยชน์คุ้มค่า
“ประเด็นการเก็บภาษีจากบุหรี่ไฟฟ้า กระทรวงการคลังไม่ได้มีหน้าที่เพียงจัดหารายได้เท่านั้น ต้องคำนึงถึงรายจ่ายที่จะตามมาด้วย หากเปิดให้ถูกกฎหมายภาระรายจ่ายในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้าก็สูงขึ้น โดยมีการประมาณรายจ่ายแล้วว่าไม่คุ้มค่ากับภาษีที่จะเก็บได้ ซึ่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 มาตรา 6 ระบุว่า รัฐต้องดำเนินนโยบายการคลังอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใสและตรวจสอบได้ และมาตรา 7 ระบุว่าการตรากฎหมาย การออกกฎหรือการดำเนินการใด ๆ ที่มีผลผูกพันหรือก่อให้เกิดภาระทางการเงินการคลังต้องพิจารณาความคุ้มค่า ต้นทุนและผลประโยชน์ เสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนความยั่งยืนทางการคลังของรัฐด้วย”
รศ.สุชาดา ตั้งทางธรรม
รศ.สุชาดา ระบุอีกว่า ในกรณีนักวิชาการ และนักการเมืองที่สนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย อาจจำแนกได้ 2 กลุ่ม คือ
- ความเข้าใจหรือการรับรู้ที่จำกัดและไม่ศึกษาให้ดีพอ จึงไม่ทันเล่ห์เหลี่ยมบริษัทบุหรี่ การตัดสินใจที่อาจดูมีเหตุมีผลภายใต้การรับรู้ที่จำกัด (Bounded Rationality) แทนที่จะเกิดผลดีก็กลับเกิดผลเสียต่อสังคมได้
- มีศัพท์ที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า การแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจ (Rent Seeking) ที่หมายถึงการแสวงหาประโยชน์ของบุคคลหรือกลุ่มบุคคล เพื่อให้รัฐบาลดำเนินการในทางที่เอื้อประโยชน์ตนแต่ก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคม
“องค์การอนามัยโลก ประจักษ์ถึงเล่ห์เหลี่ยมของบริษัทบุหรี่ ในกฎหมายควบคุมยาสูบโลก (WHO FCTC) มาตรา 5.3 จึงกำหนดว่าการจัดทำและดำเนินนโยบายเพื่อควบคุมยาสูบ ให้ปกป้องนโยบายรัฐให้เป็นไปตามกฎหมายของประเทศโดยไม่ให้อุตสาหกรรมยาสูบแทรกแซง ซึ่งไทยได้ร่วมเป็นภาคีองค์การอนามัยโลก แต่ขณะนี้รัฐกลับปล่อยให้บริษัทบุหรี่แทรกแซงแก้ไขกฎหมายห้ามบุหรี่ไฟฟ้าของไทย”
รศ.สุชาดา ตั้งทางธรรม
ย้ำรัฐบาลปฏิบัติตามคำแนะนำ WHO บุหรี่ไฟฟ้าอันตราย!
ขณะที่ ไพศาล ลิ้มสถิตย์ กรรมการบริหารศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ย้ำว่า บุหรี่ไฟฟ้าควรเป็นสินค้าหรือของต้องห้ามนำเข้า ห้ามขายต่อไป และควรมีการเฝ้าระวัง ดำเนินคดีกับการโฆษณา ส่งเสริมการขายบุหรี่ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มงวด เนื่องจากบุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้สูบและผู้ที่ได้รับไอบุหรี่ไฟฟ้า รัฐบาลควรปฏิบัติตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกที่มีจุดยืนว่า ทั้งบุหรี่ไฟฟ้าที่มีนิโคติน และไม่มีนิโคติน เป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
“ไทยไม่ควรอนุญาตให้มีการขายบุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย เนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขาดศักยภาพในการป้องกัน จับกุมการลักลอบนำเข้า การขาย การโฆษณา การสื่อสารการตลาดบุหรี่ไฟฟ้าผ่านสื่อออนไลน์ พบปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย ปัญหาการตีความกฎหมายศุลกากรในประเด็นการครอบครองบุหรี่ไฟฟ้าของผู้ใช้งานที่ไม่สอดคล้องกับกฎหมายศุลกากรหลายประเทศ ซึ่งเน้นการดำเนินคดีกับผู้นำเข้า กลุ่มผู้ค้าเป็นหลัก รวมทั้งการตีความจำกัดอำนาจของเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 ทั้งนี้ บุหรี่ไฟฟ้ายังเกี่ยวพันกับการทุจริตและการละเลยการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐบางส่วน”
ไพศาล ลิ้มสถิตย์
‘ชัชชาติ’ ดึง สคบ. ร่วมแก้ปัญหาบุหรี่รอบรั้วโรงเรียน
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผย หลังประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 5/2567 ว่า จากการที่ได้หารือกับ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เร่งรัด และเอาจริงเอาจังเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า โดยในส่วนของ กทม. จะเน้นแก้ปัญหาบริเวณโดยรอบโรงเรียนในสังกัด กทม. ขณะที่ภายในรั้วโรงเรียนจะมีมาตรการต่าง ๆ อยู่แล้ว เช่น การตรวจค้น แต่นอกรั้วรัศมีโรงเรียนจะใช้กลไกของ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ในการดำเนินการ