ปมคลินิกไม่ออกใบส่งตัว ทำ ‘ผู้ป่วยจิตเวช’ คิดสั้น

ผู้ป่วยจิตเวช กทม. เดือดร้อนหนัก กว่า 2 เดือน สปสช. ยังแก้ปัญหา กรณีใบส่งตัวไม่จบ ขณะที่กลุ่มผู้ป่วยบัตรทอง เตรียมถก รองผู้ว่าฯ กทม. – สปสช. อีกรอบ 1 พ.ค.นี้ หวังได้ทางออก 

วันนี้ (27 เม.ย. 67) ธนเดช (สงวนนามสกุล) ผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง กทม. เปิดเผยกับ The Active ว่า ตนในฐานะของป่วยจิตเวชโรคซึมเศร้า ขอให้คลินิกส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาล แต่คลินิกไม่ส่งตัว พร้อมกับพูดจาไม่ดี กลับมาจึงกินยานอนหลับเกินขนาด จนถูกส่งตัวฉุกเฉิน ตอนนี้รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี 

“คืนนั้นผมดิ่ง และหมดหวังจะรักษา กินยานอนหลับไปร้อยกว่าเม็ด สุดท้ายไปนอนอยู่โรงพยาบาลครับ เพราะผู้จัดการคลินิกท่านหนึ่ง ตรงปากซอยอินทามระ 11 โทร.มาขู่ผม บอกว่ารอรับหมายศาลได้เลย และไม่ต้องมาขอใบส่งตัวอีก” 

ผู้ป่วยจิตเวชซึมเศร้า

ขณะที่ สรินยา วงศ์ถาวรมั่น ต้องพาแม่ซึ่งเป็นผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง กทม. ที่มีโรคร่วม 20 โรคไปพบแพทย์ แต่คลินิกออกใบส่งตัวไม่ครบ บอกว่าเมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้เดินทางไป สปสช. ศูนย์ราชการ ติดต่อแผนกประสานงานสิทธิ เพื่อมาแจ้งตามเรื่องคลินิกชุมชนอบอุ่น ไม่ออกใบส่งตัวให้ เพราะทางคลินิกทำเรื่องขอออกจากคลินิกคู่สัญญาบัตรทอง สปสช. แล้ว โดยตามระเบียบต้องปิดวันสิ้นปีงบประมาณ แต่คลินิกนี้ไม่รอแล้ว เพราะขาดทุน 

”เจ้าหน้าที่รับเรื่องอ่านประวัติการโทร. เข้ามา 1330 และตามเรื่องที่เกิดปัญหาทุกครั้ง ติดตามเรื่องตลอด แต่ทางคนประสานงานและ  สปสช. เขต 13  โยนกันไปมา บอกปัดความรับผิดชอบ“ 

สรินยา วงศ์ถาวรมั่น

สรินยา ระบุว่า แม่ของเธอชื่อ มยุรี วงศ์ถาวรมั่น อายุ 79 ปี มีโรคประจำตัวหลายโรค ประกอบด้วย  

  1. หัวใจล้มเหลวระยะสุดท้าย พร้อมจากไปตลอดเวลา รักษาที่ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และ รพ.เลิดสิน
  2. หัวใจโตมาก รักษาที่ รพ.จุฬาลงกรณ์
  3. ลิ้นหัวใจรั่วเยอะมาก รักษาที่ รพ.จุฬาลงกรณ์
  4. หัวใจเต้นผิดจังหวะ รักษาที่ รพ.จุฬาลงกรณ์
  5. วูบ หมดสติ เหนื่อย หอบ หัวใจเต้นเร็ว ความดันตกบางครั้งวัดค่าไม่ได้ เข้า-ออกฉุกเฉิน รักษาที่ รพ.จุฬาลงกรณ์
  6. ภาวะสมองเสื่อม รักษาที่ รพ.จุฬาลงกรณ์
  7. เส้นเลือดในสมองตีบ เนื้อสมองฝ่อ เส้นสมองตีบฉับพลัน 2 ครั้ง รักษาที่ รพ.จุฬาลงกรณ์ และ รพ.ศิริราช
  8. หลอดเลือดส่วนปลายอุดตัน รักษาที่ รพ.จุฬาลงกรณ์ และ รพ.เลิดสิน
  9. ไตระยะสามบี รักษาที่ รพ.จุฬาลงกรณ์
  10. เบาหวาน ไขมัน ความดัน รักษาที่ รพ.จุฬาลงกรณ์
  11. เท้าเบาหวาน รักษาที่ รพ.จุฬาลงกรณ์
  12. ศัลยกรรมทางเดินปัสสาวะ รักษาที่ รพ.จุฬาลงกรณ์
  13. ช่องท้อง รักษาที่ รพ.จุฬาลงกรณ์
  14. หูรูดรูทวารหลวม รักษาที่ รพ.จุฬาลงกรณ์
  15. คลินิกโลหิตวิทยา รักษาที่ รพ.จุฬาลงกรณ์
  16. อายุรกรรมประสาท รักษาที่ รพ.จุฬาลงกรณ์ และ รพ.ศิริราช
  17. ตับ รักษาที่ รพ.จุฬาลงกรณ์
  18. ไต รักษาที่ รพ.จุฬาลงกรณ์
  19. ตา รักษาที่ รพ.เลิดสิน
  20. หู รักษาที่ รพ.เลิดสิน
  21. ผิวหนัง รักษาที่ รพ.เลิดสิน
  22. ปริทันต์ รักษาที่ รพ.เลิดสิน
  23. กระดูกสันหลังเสื่อม รักษาที่ รพ.เลิดสิน
  24. มะเร็งกระเพาะอาหาร รักษาที่ รพ.เลิดสิน
  25. อายุรกรรมทั่วไป รักษาที่ รพ.เลิดสิน

ล่าสุดผู้ได้รับผลกระทบจากกรณีการส่งตัวบัตรทอง เตรียมรวมตัวยื่นหนังสือติดตามการแก้ปัญหาหลัง สปสช. เปลี่ยนโยบายใหม่ เมื่อวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งจนถึงตอนนี้ผ่านไปเกือบ 2 เดือน ยังมีประชาชน ผู้ป่วย ในเขตพื้นที่ กทม. ได้รับผลกระทบ และเดือดร้อน เป็นจำนวนมาก ต้องทนทุกข์กับความเจ็บป่วย ไม่ได้รับการรักษาอย่างที่เคยเป็นมา 

โดยวันที่ 1 พฤษภาคม 2567 จะไปยื่นหนังสือให้กับรองผู้ว่า ฯ กทม. เวลา 9.30 น. ที่ศาลาว่าการ กทม. เสาชิงช้า และยื่นหนังสือ ทวงถามความคืบหน้ากับทาง สปสช. เวลา 13.00 ที่ สปสช. ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ 

สปสช. เล็งยกเลิกสัญญา ‘คลินิก’ ไม่ออกใบส่งตัว 

การใช้สิทธิบัตรทองในพื้นที่ กทม. เป็นการเหมาจ่ายรายหัวซึ่งเป็นการจัดสรรงบประมาณล่วงหน้าให้คลินิกชุมชนอบอุ่น บริหารเอง จากเดิมที่เป็นรูปแบบจ่ายตามรายการบริการ (Fee Schedule) ซึ่งเป็นการจ่ายโดย สปสช. เป็นผู้จ่ายให้คลินิกตามผลงานการให้บริการ ทั้งหมดนี้เป็นไปตามข้อเสนอจากคลินิกชุมชนอบอุ่นที่ยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ สปสช. ให้แก้ไขปัญหาแนวทางการเบิกจ่าย 

แนวทางใหม่นี้ มีคลินิกชุมชนอบอุ่นเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิ และมีศูนย์บริการสาธารณสุขเป็นแม่ข่าย กรณีเจ็บป่วยให้เริ่มต้นรักษาที่หน่วยบริการปฐมภูมิก่อน หากเกินศักยภาพ คลินิกชุมชนอบอุ่นต้องส่งต่อโรงพยาบาล 

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช.​ บอกว่า ก่อนปรับเป็นแนวทางใหม่นี้ สปสช.ได้ซักซ้อม ชี้แจงกับคลินิก และโรงพยาบาลรับส่งต่อไปแล้วว่า ทำเหมือนเดิม หน่วยบริการที่รับผู้ป่วยไป ไม่จำเป็นต้องให้ผู้ป่วยกลับไปเอาใบส่งตัวจากคลินิก เพื่อยืนยันว่าคลินิกจะตามจ่าย สปสช. มีกลไกที่สามารถจ่ายได้อยู่แล้ว ส่วนกรณีที่มีใบส่งตัวเดิมก็ใช้เหมือนเดิม อันไหนออกไปแล้วให้ใช้อันนั้น ไม่ต้องเรียกกลับมา ไม่ต้องไปเปลี่ยนอีก

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช.

อย่างไรก็ตามเมื่อเริ่มดำเนินการ กลับพบปัญหาประชาชนจำนวนมากได้ร้องเรียนการเข้ารับบริการสาธารณสุขในพื้นที่ กทม. ผ่านสายด่วน สปสช. 1330 รวมถึงมีการยื่นหนังสือร้องเรียนถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยตรงเพื่อให้แก้ไข ปัญหาที่พบส่วนใหญ่ เช่น 

  • คลินิกปฏิเสธไม่ออกใบส่งตัวให้ทุกกรณี

  • คลินิกให้คนไข้ย้ายสิทธิไปคลินิกอื่น

  • คลินิกเรียกผู้ป่วยที่มีใบส่งตัวแล้วกลับมาตั้งต้นรับใบสั่งตัวใหม่

  • คลินิกออกใบส่งตัวครั้งต่อครั้งหรือเป็นรายโรค การกำหนดวันและเวลาในการออกใบส่งตัวเพื่อให้คนไข้ยุ่งยาก

  • ผู้ป่วยเกินศักยภาพแต่คลินิกไม่ส่งตัว

  • ไม่ส่งตัวผู้ป่วยไปโรงพยาบาลรับส่งต่อ แต่ส่งไปหน่วยบริการในเครือข่ายของตนแทน

  • ถูกคลินิกเรียกเก็บเงินหรือตั้งกล่องรับบริจาคโดยอ้างว่า สปสช. ไม่มีเงินจ่ายให้ 

นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า จากปัญหาดังกล่าวนี้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการให้ สปสช.ขอความร่วมมือจากคลินิกเพื่อให้ดำเนินการตามแนวทางที่กำหนดมาระยะหนึ่งแล้ว แต่พบว่าประชาชนยังได้รับความเดือดร้อน 

สปสช.จึงตั้งคณะกรรมการเพื่อสอบสวนหาข้อเท็จจริง และเมื่อได้ข้อมูลครบถ้วนและพบความผิด จะส่งต่อให้กับคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข หากพบว่าไม่ได้ให้ความสะดวกกับประชาชน อาจถูกยกเลิกการเป็นหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้

“สปสช.มีความจำเป็นต้องใช้มาตรการตามมาตรา 57 และ 59 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 โดยรวบรวมข้อมูลการไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานการให้บริการ ส่งให้คณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานฯ ในการตั้งกรรมการสอบสวน และหากเรื่องร้องเรียนไม่ลดลงก็จะดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายต่อไป”

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active