สธ. เดินหน้าบำบัดผู้ป่วยจิตเวช-ยาเสพติด ด้วยกลไก Patient Journey

ปลัด สธ. ฝาก สสจ.ทั่วประเทศ จับมือหน่วยงานในพื้นที่ วางระบบบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยา สร้างความปลอดภัยผู้ป่วยและชุมชน เผยกว่า 1 ใน 3 ผู้ป่วยยาเสพติด มีอาการทางจิตร่วมด้วย ผู้ป่วยจิตเวชกลุ่มเสี่ยงสูงก่อความรุนแรง เพิ่มขึ้นทุกปี 

วันนี้ (21 พ.ค. 67) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวระหว่างการประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนกลไกการดำเนินงานสุขภาพจิตและยาเสพติดเพื่อการบำบัดรักษาฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติด ระดับจังหวัด ว่า นายกรัฐมนตรี ได้กำหนดให้การแก้ปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ ที่ต้องเร่งดำเนินการให้เห็นเป็นรูปธรรมร่วมกับทุกภาคส่วน ภายใต้นโยบาย “ปลุกชุมชนให้เข้มแข็ง เปลี่ยนผู้เสพ เป็นผู้ป่วยฯ” 

จากข้อมูลของกรมสุขภาพจิต พบว่า สถานการณ์ปัญหาสุขภาพจิตและยาเสพติดมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยถึงปี 2566 มีผู้ป่วยยาเสพติด สะสม 969,901 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่มีอาการทางจิตร่วมด้วย 381,631 ราย (39.35%) ส่วนผู้ป่วยจิตเวชที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง (SMI-V) มีจำนวนผู้ที่คลุ้มคลั่งเพิ่มขึ้นทุกปี 

กระทรวงสาธารณสุขจึงกำหนดให้การแก้ไขปัญหาจิตเวชและยาเสพติดเป็นนโยบายเร่งด่วน และพัฒนาระบบบริการสุขภาพจิตและยาเสพติดให้มีคุณภาพและครอบคลุมสถานพยาบาลทุกระดับ ซึ่งปัจจุบัน เปิดให้บริการมินิธัญญารักษ์ครอบคลุมทั้ง 76 จังหวัด 146 โรงพยาบาล รวม 2,039 เตียง มีหอผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดครอบคลุม รพศ. รพท. รวม 127 แห่ง และมีกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติดในโรงพยาบาลชุมชน 754 แห่ง 

โดยมีการขับเคลื่อนระบบบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดตาม แนวทาง Patient Journey ติดตามกำกับผลการดำเนินงานผ่าน Dashboard ซึ่งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ในฐานะเลขานุการคณะอนุกรรมการสุขภาพจิตระดับจังหวัด จะเป็นกลไกสำคัญในการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ร่วมกันจัดระบบบริการสุขภาพจิตและยาเสพติด ให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการได้ทุกที่ทุกเวลา และติดตามดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต บอกว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ยังเป็นหน่วยงานสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพจิต การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ จึงมุ่งเน้นสร้างความเข้าใจนโยบายการป้องกันและควบคุมความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพจิตและยาเสพติด โดยมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระบบการดูแลผู้ป่วยจิตเวช SMI-V และระบบการบำบัดผู้ป่วยยาเสพติดโดยชุมชน (CBTx) ตลอดจนเสริมสร้างความร่วมมือและความเข้มแข็งในการขับเคลื่อนนโยบายด้านสุขภาพจิตและยาเสพติดร่วมกับคณะอนุกรรมการสุขภาพจิตระดับจังหวัดและกรุงเทพมหานคร

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active